เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าค่านิยมที่ถูกสื่อสารในทุก ๆ วัน พนักงาน ผู้บริหาร หัวหน้าทีม หรือทุก ๆ คนในองค์กร เข้าใจความหมาย ตีความได้ถูกต้อง พร้อมทั้งนำไปปรับใช้กับทีม กับเพื่อนร่วมงาน และส่งมอบให้ลูกค้า ไปในทิศทางเดียวกัน??
========
ค่านิยมหนึ่งตัว อาจตีความได้ต่างกัน การสื่อสารแค่ชื่อ หรือแค่คำอธิบาย อาจไม่เพียงพอต่อความเข้าใจของพนักงาน และไม่เกิดเป็นวิถีปฏิบัติที่ตรงกัน จากการตีความกันไปคนละทาง หรือความคลุมเครือว่าค่านิยมนี้แปลว่าทำอะไรกันแน่ การทำให้ค่านิยมองค์กรแต่ละตัว ออกมาชีวิตโลดแล่นในองค์กร ในแบบที่เป็นเป็นวิถีปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันในทุกระดับ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่นำไปสู่การมีวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ขององค์กรได้เป็นอย่างดี ว่าคนในองค์กรทำงานร่วมกันอย่างไร ส่งมอบและสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าแบบไหน ที่มั่นใจได้ว่าไม่ว่าจะเจอพนักงานคนไหน ฝ่ายไหน ก็ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการกำหนด ‘ชุดพฤติกรรม’ ให้กับค่านิยมแต่ละตัวจะเป็นหัวใจหลักในการนำทาง การปฏิบัติตัวของพนักงานให้เกิดขึ้นด้วยความเข้าที่ตรงกัน ที่มากกว่าความหมายเชิงนิยาม แต่รวมไปถึงความคาดหวังในเชิงพฤติกรรมว่าทำอะไรบ้างที่เป็นการสะท้อนค่านิยมในแบบที่สามารถปฏิบัติได้ทั่วทั้งองค์กร เป็นวิถีปฏิบัติเดียวกัน จนเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง และส่งมอบไปถึงลูกค้าได้อย่างชัดเจน
ลักษณะของพฤติกรรมที่พนักงานสามารถนำไปปรับใช้กับบทบาทของตัวเองได้เป็นอย่างดี และทุกคนในองค์กรสามารถรับรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่กำลังเกิด มี 3 ลักษณะสำคัญดังนี้
Observable สังเกตเห็นได้:
เมื่อมีคนในองค์กรแสดงพฤติกรรมดังกล่าว เราสามารถรับรู้ หรือ สังเกตได้ จากการ ‘มองเห็น’ หรือ ‘ได้ยิน’ พฤติกรรมดังกล่าวจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พฤติกรรมต้องไม่ใช่สิ่งที่เป็นมุมมองความคิด ทัศนคติ mindset ที่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่
Measurable วัดประเมินผลได้:
พฤติกรรมต้องสามารถ วัดประเมินได้ และ ‘ผลการประเมินมีความน่าเชื่อถือ’ คือผลคะแนนนั้นน่าเชื่อถือ นั่นหมายถึง แม้มีผู้ประเมินหลายคน ก็สามารถให้คะแนนได้ตรงกัน จากพฤติกรรมที่เห็นได้ชัดเจนเป็นเชิงประจักษ์ ไม่ต้องอาศัยการตีความจากผู้ประเมิน ปราศจากความคิดเห็น หรือความคลุมเครือ ผู้ประเมินทุกคนสามารถให้คะแนนได้อย่างตรงไปตรงตามตามที่สังเกตเห็นจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในการทำงานว่าผู้ถูกประเมินมีพฤติกรรมอยู่ในระดับใดทั้งด้านคุณภาพ และความสม่ำเสมอ
Universal ปรับใช้ได้กับทุกบทบาทสถานการณ์:
พฤติกรรมที่สะท้อนค่านิยมขององค์กร ควรที่จะสามารถปรับใช้ได้กับทุกบทบาทในองค์กร ไม่เฉพาะเจาะจงไปกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่ง แต่ควรที่จะเกี่ยวข้องกับพนักงานทุกคนในองค์กร ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ หรือบทบาทใด
ทุกพฤติกรรมควรมีครบทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนค่านิยมให้เกิดเป็นวัฒธรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ค่านิยมแต่ละตัวควรมีพฤติกรรมที่แยกกันชัดเจน ไม่ปะปน หรือซ้อนทับกัน แต่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน และที่สำคัญ ค่านิยมแต่ละตัว ควรมี 3 – 5 พฤติกรรม หรือ ไม่ควรเกิน 5 พฤติกรรม เนื่องจาก อย่าลืมว่านี่เป็นเรื่องของการสร้างและเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของมนุษย์ มันแน่นอนว่า การสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ส่งเสริม และพัฒนา สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นสิบ ๆ ตัวแน่นอน
และอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากพนักงานเป็นอย่างดี ในการให้ความร่วมมือ คือการให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชุดพฤติกรรม สร้างความเป็นเจ้าของในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรไปด้วยกัน
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
.
.
>>>>>
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
.
.
>>>>