Marvel Studio กับวัฒนธรรมองค์กรที่ให้กำเนิด The Avengers

ตั้งแต่ความสำเร็จของภาพยนต์เรื่อง The Avengers หลาย ๆ ค่ายก็มีความพยายามในการสร้างจักรวาลภาพยนต์ของตัวเอง ดังเช่นล่าสุดที่กำลังเข้าโรงคือ Godzilla VS Kong ก็เป็นหนัง ’รวมพล’ ระหว่าง Godzilla และ King Kong ที่ทั้งคู่ก็ได้มีหนังเดี่ยวของตัวเองกันไปก่อนหน้านี้แล้ว หรือในสายของซุปเปอร์ฮีโร่ส์เองก็มี Batman V Superman และ Justice League แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ณ จนปัจจุบันยังไม่มีค่ายไหนที่ประสบความสำเร็จได้ในระดับเดียวกับที่ Marvel ทำไว้ได้เลย


ด้วยความที่หนึ่งในสิ่งสำคัญของการสร้างภาพยนต์ที่มีจุดเชื่อมโยงถึงกัน ความสอดคล้อง และความต่อเนื่องของเนื้อหาแม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อหนังสไตล์นี้สุด ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความแตกต่าง และความหลากหลายมากพอให้ไม่เกิดสูตรสำเร็จที่จำเจจนทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องไหน ๆ ก็เหมือนกัน เช่น คนที่ดู Black Panther ต้องไม่รู้สึกเหมือนกำลังดู Iron Man อยู่


Kevin Feige ประธานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Marvel เล่าว่า “เราเชื่อในการขยายขอบเขตของหนังมาร์เวลขึ้นไปเรื่อย ๆ เราพยายามให้ผู้ชมกลับมาดูหนังของเรามากขึ้นโดยการทำอะไรที่พวกเขาจะไม่คาดคิด ไม่ใช่เพียงแค่การทำตามแบบแผนเดิม ๆ” และเหมือนคีย์หลักของความสำเร็จนี้มาจากการหาจุดสมดุลย์ระหว่างการสร้างภาพยนต์ที่มีความ Innovative แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสอดคล้องและความต่อเนื่องไว้ให้รู้สึกว่ายังเป็นหนังตระกูลเดียวกันอยู่ และนั่นก็ทำให้ Marvel ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่ยังไม่มีค่ายไหนทำได้แม้ในช่วงตลอดสิบปีที่ผ่านมีหลาย ๆ สตูดิโอพยายามจะลอกเลียนแบบสูตรความสำเร็จนี้


เพื่อที่จะตอบคำถามว่ามาร์เวลทำได้ยังไง Harvard Business Review ได้รวบรวมข้อมูลจากภาพยนต์ทั้ง 20 เรื่องที่ออกมาจึงถึงสิ้นปี 2018 พร้อมกับสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ถอดเทปสัมภาษณ์เก่า ๆ รวมถึงสำรวจและวิเคราะห์นักแสดง และทีมงานกองถ่าย จนพบกับ 2 ปัจจัยหลักที่ภาพยนต์ Marvel ทุกเรื่องมีร่วมกัน ดังนี้
.
.

 1. ท้าทายสูตรสำเร็จ


ผู้กำกับมาร์เวลทุกคนพูดได้เต็มปากถึงความเต็มใจในการทิ้งไอเดียเก่า ๆ ได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งสูตรสำเร็จที่เคยใช้มาแล้วเวิร์คแค่ไหนก็ตาม หากดูจากหลักฐานในด้านของตัวหนังเองเราจะพบว่าในเบื้องต้นแล้วหนัง Marvel ทุกเรื่องเป็นหนัง Superheroes มีตัวร้ายที่มีพลังพิเศษ และตอนท้ายมักจะจบด้วยกันต่อสู้ที่มี Visual Effect ที่ตระการตา แต่นั่นเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะเมื่อมองให้ลึกมากขึ้นจะพบกับความแตกต่างที่ทำให้หนัง Marvel แต่ละเรื่องมีความเฉพาะตัวพอให้คนดูไม่รู้สึกว่ากำลังดูหนังเรื่องเดิม ๆ ซ้ำไป ซ้ำมา


เริ่มจากการวิเคราะห์สคริปต์จะพบว่าแต่ละเรื่องจะให้อารมณ์ความรู้สึกในหนังแตกต่างกัน เช่น Iron Man จะเน้นอารมณ์ขันมาก ๆ ในขณะที่ Black Panther จะมีโทนที่ Dark กว่าและดราม่ากว่า นอกจากนั้นในด้านภาพแสดงสีเสียงแต่ละเรื่องจะมี Setting ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาที่ทุกคนคุ้นเคย ประเทศสมมติในแอฟริกา หรืออวกาศที่เต็มไปด้วยเอเลี่ยนแปลก ๆ  และองค์ประกอบที่ทำให้หนัง Marvel ได้รับเสียงตอบรับดีจากนักวิจารณ์คือการแหกกฏของความเป็นหนัง Superheroes เดิม ๆ ตั้งแต่ Iron Man ที่ตัวละครที่ลึก และมีความเป็นคน Guardian of the Galaxy ที่มีเพลงเป็นเอกลักษณ์ หรือ Black Panther ที่มีความเสียดสีสังคม และการเมือง


และผลลัพท์ของมันคือไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชมจะรับได้กับการลองผิดลองถูกของ Marvel แต่มันยังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของภาพยนต์ของค่ายนี้ ที่ทำให้แฟน ๆ เข้าไปมองหาบางอย่างที่ต่างออกไป และในทางตรงกันข้ามนี่เป็นจุดที่ทำให้แฟรนไชส์หนังหลายเรื่องที่พยายามยึดติดกับสูตรสำเร็จนั้นมักจะติดกับดักตัวเองเมื่อพวกเขาพยายามจะกลับลำแล้วทดลองอะไรใหม่ ๆ การลองผิดลองถูกแบบนี้นอกจาก Marvel แล้วองค์กรอย่างเช่น Zara ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะ Zara ก็มีการออกเสื้อผ้าตามเทรนด์เป็นช่วงสั้น ๆ นั่นทำให้ขณะที่ลูกค้าจะเข้าแบรนด์อื่นเฉลี่ย 2 – 3 ครั้งต่อปี การลองผิดลองถูกนี้ทำให้ Zara มีลูกค้าเข้าโดยเฉลี่ยถึง 10 ครั้งต่อปี ด้วยความคาดหวังต่อสิ่งใหม่ ๆ
.
.

2. ให้เกียรติแฟน ๆ อย่างจริงจัง


Marvel มีกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า และดึงพวกเขามามีส่วนร่วมได้ในระดับสูงสุดคือมีฐานะเป็น Co-Producer ได้เลยผ่านการใช้ Social Media ในการสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอและ และยังให้ผู้กำกับ รวมถึงนักแสดงให้ Social Media ของตัวเองเป็นอีกช่องทางในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า และ แฟน ๆ กันอย่างเต็มที่


อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ Marvel ที่ผู้ชมจะคุ้นเคยกันดีคือการมีสิ่งที่เรียกว่า Easter Egg ซ่อนอยู่ในหนังทุก ๆ เรื่อง รวมถึงการมี Post-credit Scene อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แฟน ๆ ได้มีส่วนร่วมในการมองหา และพูดคุยถึงสิ่งที่พบเจอในหนัง นึกถึงเวลาที่เราไปดูหนังกับคนอื่นแล้วเขามีคำถามที่เราสามารถตอบได้ การมี Easter Egg ที่ซ่อนอยู่ การมีการเชื่อมโยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้คนที่สังเกตเห็นมันรู้สึกอยากเล่า อยากตอบ อยากบอกต่อคนอื่น ๆ นั่นคือวิธีการ Empower ลูกค้าของ Marvel ที่สำคัญมาก ๆ


อุตสาหกรรมอื่นก็ใช้ประโยชน์จากเทคนิคนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Google ที่มีเกมส์ไดโนเสาวิ่งซ่อนอยู่เมื่อ Chrome เจอกับ error หรือหน้าตาค้นหาของ Google ที่เปลี่ยนไปตามเทศกาล นั่นเป็น 2 หลักการที่แกะออกมาจากหนัง Marvel ถึงองค์ประกอบที่ทำให้ ณ ปัจจุบัน เป็นองค์กรเดียวที่ประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวาลภาพยนต์ และอาจเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่ประสบความสำเร็จที่สุดเลยก็ว่าได้ด้วยจนถึงปี 2021 นี้ Marvel Studio มีภาพยนต์ออกมาแล้ว 23 เรื่องที่ร้อยเรียงกันอย่างลงตัว โดยปัจจุบันรายได้รวมจากการขายตั๋วอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และโดยที่หนัง 1 เรื่องจะทำรายได้โดยเฉลี่ยคือ 1 พันล้านดอลลาร์ โดยไม่มีเรื่องไหนเลยที่ขาดทุน


แต่ทั้ง 2 หลักการนั้นก็อิงจากสินค้าเป็นหลัก และในอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่คนเขียนบท ผู้กำกับ นักแสดง และทีมงานทุกคนมีอิทธิพลต่อผลลัพท์ Marvel Studio ก็มีหลักการที่ไม่เหมือนใครในการทำให้ทีมงานทุก ๆ คนเข้าใจตรงกัน ด้วยอีก 2 หลักการบริหารคนในแบบของ Marvel Studio ดังนี้


1) เลือกคนที่ขาดประสบการณ์ในหนัง Superheroes แต่มีประสบการณ์ในสไตล์ตัวเอง


ในวงการภาพยนต์ตัวตนของผู้กำกับมักเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำงาน แต่ในขณะที่หลาย ๆ สตูดิโอมองว่า ผลงานในอดีตจะเป็นตัวทำนายผลงานในอนาคตที่ดี มาร์เวลกลับทำตรงกันข้ามโดยแทนที่จะมองหาประสบการณ์ที่ตรงกับที่มาร์เวลเคยมี แต่เป็นมองหาคนที่มีประสบการณ์แบบที่มาร์เวลยังขาด จากผู้กำกับทั้ง 15 คนของมาร์เวล 14 คนไม่เคยมีประสบการณ์กำกับหนังซุปเปอร์ฮีโร่ส์มาก่อน และส่วนใหญ่มาจากการกำกับหนังอินดี้ในสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ Kevin Feige และ Marvel ก็เลือกคนเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้กำกับด้วยการมองเห็น Potential ในการดึงสไตล์ที่แตกต่างกันเข้ามาผสมผสานเข้ากับความเป็น Marvel จนกลายเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีสไตล์เป็นของตัวเองในแบบที่ผู้กำกับคนนั้นถนัด แต่คนดูยังคงสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นหนัง Marvel


ด้วยการที่ Marvel จะให้อิสระกับผู้กำกับในการกำหนดทิศทางของหนังได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับอิสระในการทดลองอะไรใหม่ ๆ ตาม Core Value หนึ่งของ Marvel ที่กล่าวไปข้างต้น และในขณะเดียวกัน Marvel Studio จะทำการบริหารในส่วนของ Visual Effect และ Logistic เป็นหลัก โดยที่มาของหลักการนี้มาจาก Kevin Feige ที่มองว่าการที่เขาเลือกผู้กำกับเข้ามาคือเลือกมาเพื่อช่วยให้สตูดิโอหาวิธีการทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว แต่นั่นก็ต้องหมายถึงว่าผู้กำกับทุกคนที่เข้ามาทำงานกับ Marvel ต้องมีความพร้อมที่จะลองอะไรใหม่ ๆ เช่นกัน นั่นหมายถึงการที่ทุกคนที่เข้ามาที่ Marvel นั้นคือ Value-added ให้กับองค์กรอย่างแท้จริง


2. มีแกนหลักที่เสถียร


อุตสาหกรรมหนังส่วนใหญ่จะมีการปรับเปลี่ยนทีมงานไปมา และน้อยนักที่จะพบทีมงานเดียวกันทำงานด้วยกันในโปรเจคเดิม แต่เพื่อการรักษาความสอดคล้องของเรื่องราวที่ร้อยเรียงกัน Marvel Studio จะพยายามดึงคนบางส่วนจากโปรเจคหนึ่งไปทำงานในโปรเจคถัดไปให้ได้เพื่อสร้างความเถียรภาพไปพร้อม ๆ กับดึง Talent ใหม่ ๆ เข้ามา นั่นช่วยสร้างสิ่งที่เฉพาะตัวของการทำงานใน Marvel ว่าเหมือนมีแรงดึงดูด เพราะ Talent ที่เข้ามาใหม่จะมีพื้นที่ให้ได้ทดลองไอเดียของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่นในอดีตนักแสดงหนังรางวัลส่วนใหญ่มักเลี่ยงหนัง Superheroes แต่ Marvel กลับประสบความสำเร็จในการดึงนักแสดงรางวัลออสการ์หลายคนเข้ามาทำงานด้วย โดยพวกเขาเหล่านั้นเล่าว่าสิ่งที่ดึงดูดพวกเขาเข้ามาคืออิสระในการได้ลองอะไรใหม่ ๆ ที่ภาพยนต์ส่วนใหญ๋ไม่ได้ให้โอกาสพวกเขาได้ทำอะไรขนาดนี้ เพราะจะยึดกับไอเดียของผู้กำกับ และทีม Creative เป็นหลัก แต่ไม่ใช่ที่ Marvel


อิสระในการออกไอเดียด้านความคิดสร้างสรรค์ใน Marvel มีสูงถึงระดับที่นักแสดงหลายคนมีส่วนร่วมในการเขียนบท และผู้กำกับบางรายก็เคยรื้อบทมาแล้ว ฟังอย่างนี้อาจจะน่าคิดว่าทีม Creative เขาทนได้อย่างไรกับการถูกรุกล้ำขนาดนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะทีม Creative ของ Marvel แทนที่จะเลิกทำงานด้วย กลับแฮปปี้กับการมีส่วนร่วมของผู้กำกับ และนักแสดงนี้ ปรากฏการณ์นี้ในมุมของวัฒนธรรมองค์กรคือตัวอย่างที่ดีของการมี Core Value ที่ชัดเจนถึงการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ว่าทำไมทีม Creative ถึงได้เปิดรับสิ่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาเห็นความสำคัญของมัน และเชื่อในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ อย่างแท้จริง ทำให้การแก้บท หรือแม้แต่การรื้อจึงเป็นสิ่งที่พวกเขานอกจากจะเปิดรับแล้ว ยังแสวงหาด้วยซ้ำ


ทั้งหมดนี้คือ 4 หลักการของวัฒนธรรมองค์กรในแบบของ Marvel ที่ทาง Havard Business Review ได้พยายามดึงออกมาคือในการผลิต 1. จะต้องมีการท้าทายสูตรสำเร็จ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา และ 2. ให้เกียรติแฟน ๆ ผ่านการให้ easter egg และช่องทางการให้ความเห็น และในขณะเดียวกันมีการบริหารคนโดยการ 1. เลือกคนที่ไม่ต้องเคยทำหนัง Superheroes แต่มีสไตล์เป็นของตัวเองเพื่อเติมสิ่งใหม่ ๆ ให้กับสตูดิโอ และ 2. คือมีทีมงานแกนกลางที่ไม่เปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะทีมงาน Creative ที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้กำกับและนักแสดงได้ออกไอเดียกันได้อย่างเต็มที่


น่าเสียดายที่ทาง Marvel Studio ไม่ได้เปิดเผย Core Values ของตัวเองอย่างเป็นทางการว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่จากภายนอกเราสามารถสังเกตุได้อย่างชัดเจนถึงการทดลองสิ่งใหม่ ๆ และการรักษาเอกลักษณ์ ความต่อเนื่องในแบบของ Marvel ให้ยังคงอยู่ได้ อีกเรื่องน่ารู้ของ Marvel Studio คือ แม้จะถูก Disney ซื้อไปเป็นส่วนหนึ่งหลังจาก Iron Man เช่นเดียวกันกับ Pixar แต่ก็เช่นเดียวกันกับ Pixar Disney นั้นก็ให้อิสระในการบริหาร Marvel ในทุก ๆ ด้านรวมถึงวัฒนธรรมการทำงานกับ Kevin Feige เช่นเดิม


A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture

References:

https://hbr.org/2019/07/marvels-blockbuster-machine

https://medium.com/@huy_work/what-any-brand-can-learn-from-marvel-studios-15b40c39d324

https://www.the-numbers.com/movies/franchise/Marvel-Cinematic-Universe#tab=summary

.
.
>>>>

ณัฐวุฒิ หาญสุวัฒน์ (ท็อป)
Nattawut Hansuwat (Top)
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search