ถ้าพูดถึง Ritual อาจจะยังฟังดูไม่คุ้นเคยนัก ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ลองนึกถึง ประเพณีต่าง ๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ การลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาในวันลอยกระทง พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนในแต่ละท้องถิ่น พิธีไหว้ครูก่อนการชกมวย พิธีทำบุญขึ้นบ้นใหม่ หรือพิธีไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น พอนึกถึงตัวอย่างแบบนี้แล้วจะบอกว่าคนไทยเราเติบโตมากับ Ritual เลยก็ว่าได้ คำว่า “Ritual” จะเรียกเป็นภาษาไทยก็คือ “ประเพณี” นั่นเอง


Kursat Ozenc, Ph.D. และ Margaret Hagan, Ph.D. ได้อธิบายถึงความหมาย แนวคิด และวิธีการของ Ritual Design ผ่านหนังสือ Rituals for Work ไว้เป็นอย่างดี สรุปความหมายโดยคร่าวได้ว่า Ritual Design คือการออกแบบประเพณีหรือวิถีปฏิบัติในแบบของเราเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานมากกว่าการกำหนดนโยบายจากผู้บริหาร (Bottom up) วิถีนี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในการคิดประเพณี วิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกับค่านิยมองค์กรอย่างสร้างสรรค์ สิ่งที่ทำให้ประเพณีแตกต่างจากกฎระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติทั่วไปก็คือ การมีศรัทธา ความเชื่อ การให้ความหมายร่วมกันของพนักงาน และถูกนำมาใช้ซ้ำ ๆ อย่างตั้งใจ นำไปสู่พลังที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก และสามารถแสดงถึงความเป็นตัวตนที่แตกต่างจากองค์กรอื่น


ทำไมต้องมีประเพณีในองค์กร?


จากที่กล่าวมาข้างต้น ประเพณี มาจากความศรัทธา และการให้ความหมายร่วมกัน แน่นอนว่าสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจย่อมได้รับการยอมรับ ความร่วมมือร่วมใจ และช่วยให้พนักงานเชื่อมต่อถึงกันได้มากขึ้น การออกแบบประเพณีจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ทรงพลังในการสร้างชีวิตการทำงานที่ดีกว่าภายใต้ค่านิยมขององค์กร ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กร Kursat Ozenc, Ph.D. และ Margaret Hagan, Ph.D. ได้แบ่งการออกแบบประเพณีเป็น 5 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรดังนี้


1. Creative and Innovation


สำหรับองค์กรที่ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อการแข่งขัน พนักงานในองค์กรควรได้รับการส่งเสริมในด้านความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานข้ามสายงาน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ การออกแบบประเพณี จึงต้องคำนึงถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากความกังวลที่จะต้อง “ถูกเสมอ” เป็นสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้คิดบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ และแสดงความเห็นได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งส่งเสริมให้พนักงานผลัดเปลี่ยนกันบอกเล่าเรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในที่ประชุมประจำสัปดาห์ โดยไม่มีการกล่าวโทษกันและขอบคุณในความผิดพลาดนั้น เพื่อให้พนักงานมองความผิดพลาดเป็นการเรียนรู้และโอกาสในการพัฒนา


2. Performance and Flow


สำหรับองค์กรที่เน้นผลงาน เพื่อความสามารถในการแข่งขันในตลาด  พนักงานในองค์กรควรได้รับการส่งเสริมในด้านการสร้างความมั่นใจ กล้าเสี่ยง และเปิดรับต่อความท้าทาย การออกแบบประเพณี อาจทำได้โดยการเน้นย้ำถึงคุณค่าและความเชื่อที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างพลังให้สามารถสร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การใช้วิธีการแสดงออกเพื่อการเพิ่มพลังเช่น ทีมรักบี้ All Black ที่จะเต้น Haka เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจก่อนการแข่งขันทุกครั้ง


3. Conflict and Resilience


สำหรับองค์กรที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางความคิด ผลงานที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือแม้แต่ปัญหาการเมืองในองค์กร พนักงานในองค์กรควรได้รับการส่งเสริมด้านทัศนคติเชิงบวก การออกแบบประเพณี อาจต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับความคิดเห็นจากต่างมุมมอง และสามารถร่วมกันจัดการกับปัญหาอย่าง win win ยกตัวอย่างเช่น การระบุถึงเป้าหมายร่วมก่อนเริ่มโครงการ และใช้สัญลักษณ์โดยการการตั้งธง เพื่อให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเป้าหมายร่วมกันเป็นหลัก


4. Community and Team Building Ritual


สำหรับองค์กรที่มีลักษณะการทำงานเป็นทีม พนักงานในองค์กรควรได้รับการส่งเสริมในด้านการทำงานร่วมกัน การออกแบบประเพณี อาจทำได้โดยการเน้นกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ อาจเริ่มจากรู้จักกันในเรื่องส่วนตัวมากขึ้นจนไปถึงการหาความหมายร่วมกันในทีม ตัวอย่างเช่น Trip Report ที่ Google ให้พนักงานเล่าเรื่องวันหยุดก่อนการประชุมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์จากการบอกเล่าเรื่องราวในครอบครัวของคนในทีม


5. Org Change and Transition Rituals


สำหรับองค์กรที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เช่นการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร  โครงการใหม่ ไปจนถึงการรับพนักงานใหม่ พนักงานควรได้รับการส่งเสริมทางด้านมุมมอง แนวคิด ที่เปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลง การออกแบบประเพณีสามารถทำได้โดยการเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงเข้ากับเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น การจัด Temporary Team เพื่อให้มีการเรียนรู้ในสายงานที่แปลกใหม่อยู่เสมอ


และนี่คือ Ritual Design หรือการออกแบบประเพณีในองค์กร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถประยุกต์ใช้ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างตั้งใจได้ แล้วคุณล่ะคิดว่าประเพณีแบบไหนที่เหมาะสมกับองค์กรของคุณมากที่สุด ติดตามวิธีการออกแบบประเพณีในองค์กร ด้วยวิธีการที่หลากหลายในบทความต่อ ๆ ไปได้ที่
.
>
A Cup of Culture
.

แหล่งที่มาของบทความ
หนังสือ Rituals For Work, 50 Ways to Create Engagement, Shared Purpose, and a Culture that Can Adapt to Change โดย Kursat Ozenc, Ph.D. และ Margaret Hagan, Ph.D.

Share to
Related Posts:
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search