“การฟังอย่างเข้าใจ” Underrated Skill ที่คนส่วนใหญ่มองข้าม

การฟัง ถือเป็นหนึ่งในทักษะที่ถูกมองข้าม (underrated) มากที่สุดทักษะหนึ่ง ด้วยอาจถูกมองว่าการฟังต้องมีทักษะด้วยหรือ? แค่จับใจความ ถามมาตอบไปได้ก็เท่านั้นเอง แต่หากรู้หรือไม่ว่าทักษะการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ หรือ active listening skill คือตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งชี้ว่าคุณเป็นหรือจะเป็นผู้นำที่ดีได้หรือไม่ เหนือความรู้ความสามารถ หรือบุคลิกภาพซะอีก⁣⁣

⁣⁣
ข้อเท็จจริงนี้ถูกยืนยันให้ชัดแจ้งยิ่งขึ้น เมื่องานวิจัยประจำปีด้าน Organizational Psychology and Organizational Behavior ของ Hebrew University of Jerusalem ได้ตีพิมพ์ออกมา โดยตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่อง The Power of Listening at Work ใจความว่า ผู้ฟังที่ดีมักจะมีประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาวะกายใจสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป และโดยธรรมชาติจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คนเหล่านี้มักได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจสูง ทั้งยังถูกมองจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างในเชิงบวกอีกด้วย⁣⁣
⁣⁣
ด้วยข้อดีต่าง ๆ มากมาย กระนั้น เราก็อาจยังรู้สึกว่าการจะพบผู้ฟังที่ดีนั้นเป็นเรื่องยาก หากลองมองไปรอบตัวในออฟฟิศของเรา เราอาจพบว่ามีคนเหล่านี้อยู่เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น อันที่จริง กระทั่งตัวเราเองก็อาจไม่ใช่ผู้ฟังที่ดีด้วยซ้ำ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่สูงลิ่ว แข่งขันกันก้าวหน้า และเพื่อจะเป็นผู้ชนะในสนามแข่งขันนี้ เราจึงตัดสินใจละเลยทักษะสำคัญอย่างการฟังโดยไม่รู้ตัว และทำในสิ่งตรงกันข้ามคือพูดมาก ๆ เพื่อให้ตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจให้ได้มากที่สุด ⁣⁣
⁣⁣
อย่างไรก็ตาม หากลองสังเกต ทักษะการฟังอย่างตั้งใจจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหากคู่สนทนาหรือประเด็นที่กำลังพูดคุยนั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเรา แต่เราเลือกที่จะฟังอย่างตั้งใจก็ต่อเมื่อประโยชน์ตกอยู่แก่เราเท่านั้นจริง ๆ หรือ? หรือแท้จริงเราควรฟูมฟักทักษะนี้ให้เป็นนิสัยติดตัวในฐานะมนุษย์ที่ดีคนหนึ่งที่เคารพและให้เกียรติผู้อื่นอยู่เสมอ?⁣⁣
⁣⁣
มาถึงตรงนี้ หากสิ่งที่กล่าวมาเปรียบเสมือน wake up call ให้กับคุณได้อยากริเริ่มพัฒนาทักษะการฟังของตนเองให้ดียิ่งขึ้นเพื่อก้าวสู่การเป็นที่รักและเคารพของคนรอบข้างอย่างแท้จริง ผมขอแนะนำให้คุณเริ่มพัฒนาทักษะ 4 ด้านต่อไปนี้ไปพร้อม ๆ กันครับ⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
➜ 1. ฝึกเพ่งสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า⁣⁣
⁣⁣
สาเหตุโดยทั่วไปที่ทำให้เราฟังหูซ้ายทะลุหูขวาอยู่บ่อยครั้งก็มาจากสิ่งรบเร้าต่าง ๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และการกำลังทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างหลังที่พบได้บ่อยสุด ๆ เพราะคำว่า multitasking ได้กลายมาเป็น buzz word หรือคำพูดติดปากของคนทำงานในปัจจุบันไปแล้วในฐานะเครื่องพิสูจน์ความเก่ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะใช่จริงหรือไม่⁣⁣
⁣⁣
คือการมีความสามารถที่จะทำหลาย ๆ อย่างไปพร้อมกันนั้นก็ไม่ผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรนำมารวมอยู่ด้วยก็คือการนัดพูดคุยต่าง ๆ ลองจินตนาการดูว่าหากคุณกำลังนำเสนอแผนงานในที่ประจำ โดยที่บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นมัวแต่จดจ่ออยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ มันคงเป็นความรู้สึกเฟลไม่น้อย⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
➜ 2. ฝึก empathy⁣⁣
⁣⁣
เมื่อพูดถึงคำว่า empathy หรือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนี้ หลาย ๆ ท่านคงจะให้นิยามที่ไม่ต่างไปจากกัน คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือภาษาอังกฤษ put yourself into someone else’s shoes แต่ทราบหรือไม่ว่ามีคนทำได้จริงเพียงหยิบมือเท่านั้น เหตุเพราะคนส่วนมากคิดถึงเรื่องนี้เพียงระดับที่ว่า ถ้าเราเป็นเขา เราจะทำอย่างไร ซึ่งการคิดแบบนี้ แท้จริงแล้วก็คือการเอาความคิดและทัศนคติของตนเองไปครอบทับความคิดของผู้อื่นอีกที เธอทำแบบนั้นสิ เธอทำแบบนี้สิ⁣⁣
⁣⁣
ดังนั้นเพื่ออธิบายนิยามของคำว่า empathy ให้สมบูรณ์ ผมขอหยิบยกคำพูดของคุณ อนุพงษ์ อัศวโภคิณ แม่ทัพใหญ่แห่ง AP Thailand ผู้เข้าใจความหมายของคำ ๆ นี้อย่างลึกซึ้ง ในตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ท่านกล่าวว่า “เวลาเราไม่ชอบใครสักคนหนึ่ง เราว่าเขาทำไม่ถูก ทำไมเขาทำแบบนี้ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ ถามตัวเองว่าถ้าเราเป็นเขา อยู่ในเงื่อนไขเดียวกับเขา ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน เราอาจตัดสินใจแบบเดียวกับเขารึเปล่า? หากเราเข้าใจตรงนี้ คือ master ความ empathy มาได้ถึงระดับนี้ ความโกรธ ความเกลียดเราอาจจะหายไปเลย”⁣⁣
⁣⁣
แม้ประโยคที่หยิบยกมาจะกล่าวถึงความโกรธ ความไม่พึงพอใจ แต่ก็อธิบาย concept ของ empathy ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากคุณลองนำไปปรับใช้ในขณะที่ฟังผู้อื่น คุณอาจยกระดับทักษะการฟังของคุณขึ้นไปอีกระดับเลยก็เป็นได้⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
➜ 3. ฝึกอดทนอดกลั้นให้ได้อีกสักสองสามวินาที⁣⁣
⁣⁣
เหตุการณ์ที่ผมจะหยิบยกต่อไปนี้ เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ทั้งจากการถูกกระทำก็ดี หรือเป็นผู้กระทำก็ดี นั่นคือการตัดบทพูดของคู่สนทนา ในกรณีที่เราเป็นผู้พูด เคยหรือไม่ ที่ยังไม่ทันจะพูดจนจบ อีกฝ่ายก็พูดโพล่งขึ้นมา ซึ่งสร้างความหงุดหงิดให้เราไม่มากก็น้อย และในอีกกรณี ก็เป็นเราเองที่อดใจไม่ไหวที่อยากจะขัดขึ้นมา ด้วยความคิดที่แว่บเข้า ณ ขณะที่ฟังอยู่ก็ดี หรือเบื่อที่จะฟังอย่างยืดเยื้อก็ดี ⁣⁣
⁣⁣
เมื่อพูดถึงการฟังที่ดี สิ่งพื้นฐานขั้นสุดคือการรอให้อีกฝ่ายพูดประเด็นของตนเองให้จบก่อน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ก็ตาม โปรดอดทนให้ได้ทีละสองสามวินาที⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
➜ 4. ฝึกจับใจความ⁣⁣
⁣⁣
เมื่อคุณทำได้ครบทั้งสามข้อข้างต้น สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าคุณตั้งใจฟังอย่างแท้จริง คือการทำให้ผู้พูดเห็นว่าคุณจับใจความของสิ่งที่รับฟังมาได้ ดังนั้นเมื่อถึงตาคุณต้องพูดบ้าง ก็ให้สรุปสิ่งที่ผู้พูดกล่าวมาก่อนอย่างสั้น ๆ แล้วจึงค่อยเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นที่คุณต้องการหยิบยกขึ้นมา⁣⁣
⁣⁣
สิ่งที่หลาย ๆ คนมักตกม้าตาย คือ ฝึกหัดทักษะการฟังมาเป็นอย่างดี และก็เป็นผู้ฟังที่ดีได้จริง ๆ แล้วด้วย เพียงแต่ว่ามาพลาดเอาตอนสุดท้าย คือ ที่ทำมาทั้งหมดก็เพียงเพื่อให้ตนเองได้พูดในสิ่งที่เตรียมมาซะที หากแต่ทักษะการฟังที่ดีจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถตอบโต้โดยทำให้คู่สนทนาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของเราด้วยนั่นเอง⁣⁣
⁣⁣
::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
และทั้งหมดนี้ก็คือ 4 เคล็ดลับที่อาจช่วยยกระดับทักษะการฟังของคุณขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญ และหากได้ลองนำไปใช้จริงแล้ว ก็อย่าลืมสังเกตดูว่าคุณได้กลายเป็นคน ๆ นั้นที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาพูดคุยปรึกษาด้วยหรือไม่⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture⁣⁣
⁣⁣.
.

Resources:⁣⁣
https://www.fastcompany.com/90749446/how-to-become-a-better-listener-according-to-science
https://www.annualreviews.org/doi/abs/10.1146/annurev-orgpsych-012420-091013
https://www.youtube.com/watch?v=fK5XTn0kEvE


⁣⁣

Share to
Related Posts:
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search