จ้างคนด้วย Culture Add เทรนด์ใหม่ที่จะมาแทนที่ Culture Fit

มีข้อถกเถียงกันมากมายถึงข้อจำกัดของการจ้างคนโดยเลือกจาก Culture Fit ทั้งข้อจำกัดในด้านของการจำกัดความหลากหลายของคนในองค์กร และยับยั้งการพัฒนาผ่านความแตกต่าง เพราะหลายๆ ทักษะ หลายๆ ความสามารถนั้นอาศัยประสบการณ์ที่มักจะไม่ได้มีอยู่ในองค์กรเราในปัจจุบัน และคนที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เขาก็เติบโตได้ดีมาจากองค์กรที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันองค์กรที่ให้ความสำคัญ และทุ่มเทมาก ๆ ไปกับการพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงขึ้นมาก็คงไม่อยากเสี่ยงที่จะรับคนเข้ามาโดยไม่ได้พิจารณาถึงความเข้ากันของวัฒนธรรมองค์กร เพราะความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรโดยรวมก็อาจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นกัน


แต่ทั้งนี้ด้วยทั้งข้อดี และข้อเสียของมันแล้ว แม้แต่ทีมงาน A Cup of Culture เองก็ยังคงศึกษาถึงสมดุลตรงนี้อยู่ ว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถช่วยให้องค์กรสามารถรับคนเข้ามาโดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อวัฒนธรรมองค์กร และยังเอื้อให้เกิดความหลากหลายในทักษะ และประสบการณ์อีกด้วย จนเมื่อเร็ว ๆ นี้เราได้รู้จักกับคำว่า “Culture Add” ที่เราอยากจะแชร์กับทุกท่านในวันนี้


ก่อนที่จะพูดถึงคำว่า Culture Add เราก็ต้องเริ่มจากคำที่หลายท่านคุ้นกันดีอยู่แล้วก็คือ Culture Fit ซึ่งคือการที่เราใช้วัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวตั้งในการคัดคนเข้าทำงาน ประกอบกับปัจจัยด้านความสามารถ เช่นบางที่อาจจะ 50:50 หรือ 70:30 ก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละที่


แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ หลาย ๆ องค์กรที่ทดลองการรับคนด้วย Culture Fit เริ่มกลับลำ ด้วยปัญหาในลักษณะเดียวกันคือ ด้วยความที่ Culture Fit เป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้หากไม่ได้รับการอบรมอย่างดี Hiring Manager มักจะใช้มันเป็นคำอธิบายอคติที่มีต่อความแตกต่างบางอย่างในใจไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยคำที่ว่า “คิดว่าคนนี้ Culture ไม่ Fit” ทำให้ผลสุดท้ายแล้วคือองค์กรจะกลายเป็น Cult หรือลัทธิบางอย่างในที่สุด คือมีแต่คนที่คิดเหมือนกันไปเสียทุกอย่าง


แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือมันไม่ได้แปลว่าการคัดคนด้วยวัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นเรื่องไม่ดี แต่ปัญหาจริง ๆ คือคำว่า Culture Fit นั้นมักถูกตีความกันอย่างกว้างเกินไป และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนอคติบางอย่างไปโดยไม่ได้ตั้งใจ


และนี่คือที่มาของคำว่า Culture Add ที่จะเป็นตัวแบ่งระหว่างองค์กรที่มีวัฒนธรรมแข็งแรง กับองค์กรที่กลายเป็นลัทธิไปแล้ว เพราะในหลาย ๆ ครั้งเราอาจจะไม่ได้ต้องการคนที่คิดแบบเดียวกัน ชอบแบบเดียวกันมาอยู่ร่วมกันในทั้งองค์กรจริง ๆ แต่การเป็น Culture Add คือการเป็นองค์กรที่เอื้อให้คนที่มีเป้าหมายเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน และให้คุณค่ากับสิ่งเดียวกันมาทำงานร่วมกันโดยให้พื้นที่กับเขาในการคิดในรูปแบบของคนเอง และ Contribute มันให้กับองค์กร

มันช่วยกลบข้อจำกัดของคำว่า Culture Fit ที่มีพื้นฐานจากงานวิจัยที่ค่อนข้างล้าสมัย คือตั้งแต่ช่วงปี 1970 ที่บอกว่าคนจะมีความสุขกว่า และสบายใจกว่าที่จะทำงานกับกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กันและเป็นคนแบบเดียวกัน จนมีนักเขียนบางท่านก็ได้เอาไปเชื่อมโยงเองต่อเอาเอง แล้วพูดต่อว่า “มันทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น” ซึ่งในยุคปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรก็พบแล้วว่ามันไม่จริง เพราะสิ่งที่เอื้อให้ทีมมีไอเดียที่หลุดกรอบ และพบวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่คนคนเดียวไม่สามารถทำได้คือการที่สมาชิกแต่ละคนมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน และแบ่งปันวิธีคิดเหล่านั้นระหว่างกันและกัน ซึ่งจะนำมาซึ่งความไม่สะดวกใจ หรือความ Discomfort แต่นี่เป็นเรื่องดี เพราะหากทีมมีความ Discomfort พ่วงไปกับความรู้สึกปลอดภัยว่าความเห็นที่แตกต่างของพวกเขานั้นมีคุณค่าหรือ Psychological Safety มันจะนำมาซึ่งการเติบโตของทั้งพนักงาน และองค์กรอย่างก้าวกระโดด


และสุดท้ายนี้ถ้าจะถามว่าในการทำการคัดคนด้วย Culture Add นั้นจะเริ่มอย่างไร เรามีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้ 3 อย่างเพื่อเป็นแนวทางในการปรับใช้ และต่อยอด โดยเริ่มจาก

  1. ระบุ Core Value ให้ชัด แน่นอนว่าสำคัญ เพราะองค์กรต้องมีความชัดเจนในตรงนี้เพื่อให้ทั้งองค์กรสามารถเข้าใจมันตรงกันจนสามารถสื่อสารกับคนภายนอก โดยเฉพาะสำหรับ Hiring Manager ที่จะสื่อสารกับ Candidate
  2. ส่งเสริมระบบ Employee referrals  เพราะถ้าวัฒนธรรมองค์กรเราชัดพนักงานปัจจุบันจะรู้ดีอยู่แล้วว่าคนแบบไหนเหมาะที่จะเข้ามาแล้วมีคุณค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมองค์กรในปัจจุบัน และเน้นย้ำความสำคัญของการมี Culture Add กับพนักงานว่าเรามองหาคนที่สามารถที่จะเติบโตได้ในวัฒนธรรมองค์กรปัจจุบัน และช่วยให้มันพัฒนาได้ไกลยิ่งขึ้น
  3. สัมภาษณ์โดยให้ Culture เป็นตัวช่วย เช่น
    1. ให้เล่าถึงความผิดพลาดใหญ่ ๆ ที่เคยทำ แล้วแก้มันอย่างไร
    2. เพื่อนร่วมงานคุณได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานกับคุณบ้าง
    3. คุณชอบใช้วิธีไหนในการทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงาน
    4. เคยใช้วิธีการแบบไหนบ้างในการ Motivate คนให้ทำงานออกมา


สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการเลือกใช้คำในการเรียกระบบนี้ เพราะด้วยข้อเสียของความกว้าง และกำกวมของคำว่า Culture Fit เราจึงแนะนำให้เปลี่ยนมันเป็นคำว่า Culture Add เพื่อให้ทุกคนในกระบวนการรับคนเข้าทำงานใช้มันได้อย่างตรงจุดมากขึ้น และสามารถจะใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของการมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงได้

A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture

.
.
>>>>

References:

https://www.forbes.com/sites/shanesnow/2020/06/30/culture-add-the-antidote-to-culture-fit/?sh=5478d3091a79

https://www.shanesnow.com/teamwork/cognitive-diversity

https://www.wepow.com/en/blog/what-cultural-add-really-means-in-the-world-of-recruiting-why-its-so-important/

.
.
>>>

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search