Hybrid Workplace คืออะไรกันแน่ : ชวนรู้จัก Hybrid Workplace ทั้ง 5 แบบ

หลาย ๆ องค์กรเริ่มเรียกตัวเองได้ว่าเป็น Hybrid Workplace ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง และเราเคยพูดถึงกันมาบ้างแล้ว แต่พอพูดว่า Hybrid อย่างเดียวแล้วแต่ละที่ก็มีนิยามไม่เคยเหมือนกันเลย ซึ่งการอธิบายก็เป็นเรื่องยาก วันนี้เราจะมาดูกันว่าถ้าเราจะแบ่งประเภทความ Hybrid ออกจากกัน เราจะแบ่งได้อย่างไรบ้าง?⁣⁣
⁣⁣
ความท้าทายของการระบุว่าตัวเองเป็น Hybrid Workplace ที่เป็นการทำงานแบบกึ่ง ๆ ออนไลน์ กึ่ง ๆ ออนไลน์ คือการที่การเป็นกึ่ง ๆ มันแปลว่าอยู่ระหว่างทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละแห่งก็จะเข้าใกล้ขั้วใดขั้วหนึ่งมากกว่ากัน เช่น องค์กร A ให้ทุกคนทำงานที่บ้านเป็นหลัก แต่นัดประชุมสำคัญ ๆ ที่ออฟฟิศ หรือองค์กร B ที่ทุกคนเข้าออฟฟิศเป็นหลัก แต่อนุญาตให้ทำงานที่บ้านได้ กรณีแบบนี้ทั้งองค์กร A และ B ต่างก็เป็น Hybrid ทั้งคู่ แต่ A อาจจะค่อนไปทางออนไลน์ และ B ค่อนไปทางออฟไลน์ และแน่นอนว่าเรามีองค์กรแบบ C D E F G ที่นโยบายแตกต่างกันไปกว่านี้อีก ⁣⁣
⁣⁣
ดังนั้น การพูดว่าองค์กรทำงานแบบ Hybrid อย่างเดียวนั้นอาจจะไม่เพียงพอให้คนทั่วไปเข้าใจถึงรูปแบบการทำงานอีกต่อไป วันนี้เราเลยจะมาดูกันว่าถ้าเราจะลองจัดความยุ่งเหยิงนี้ออกเป็นหมวด ๆ จะออกมาได้อย่างไรบ้าง พร้อมมาระบุกันถึงข้อ-ดีข้อเสียของแต่ละแบบ⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
🔰 รูปแบบที่ 1: Remote-Friendly หรือ Office First⁣⁣
⁣⁣
เป็นรูปแบบการทำงานที่อยู่ในขั้วของออฟไลน์ และยืดหยุ่นน้อยที่สุด คือการที่องค์กรคาดหวังให้พนักงานเข้าออฟฟิศกันเป็นส่วนใหญ่ในเวลางาน หรือมีข้อกำหนดไว้ถึงเงื่อนไขที่พนักงานจะสามารถทำงานข้างนอกได้ เช่น ต้องอายุงาน 1 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถทำงานข้างนอกได้สัปดาห์ละ 1 ครั้งโดยต้องขออนุญาตหัวหน้างานก่อน ซึ่งมักจะเป็นรูปแบบที่มีโครงสร้างชัดเจนในลักษณะของกฏระเบียบที่ปรับใช้กับพนักงานที่คน โดยตัวอย่างองค์กรที่ทำแบบนี้คือ Apple ที่ให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ และที่บ้าน 2 วันต่อสัปดาห์⁣⁣
⁣⁣
โดยรูปแบบที่เราเรียกว่า Remote-friendly นี้เรียกได้ว่าเป็นขั้นต่ำที่สุดที่จะสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น Hybrid ได้ หรือมักจะเกิดจากการต้องยอมประณีประนอมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยที่หลัก ๆ ยังต้องการการทำงานในรูปแบบเดิมอยู่ โดยมีข้อดีคืออาศัยการปรับตัวน้อยที่สุดจากการทำงานรูปแบบเดิม ๆ แต่ข้อเสียคือมักจะเป็นรูปแบบที่อาจจะทำให้พนักงานไม่พอใจมากกว่าเดิม เพราะความไม่ได้ตอบโจทย์จริง ๆ ของยุคที่พนักงานต้องการความยืดหยุ่น และคล่องตัว รวมถึงยังสื่อถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่ผู้นำองค์กรต้องการกับสิ่งที่พนักงานคาดหวังอีกด้วย⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 รูปแบบที่ 2: Hybrid แบบเฉพาะกลุ่ม หรือ Fixed Hybrid⁣⁣
⁣⁣
คือการ Hybrid แบบแบ่งกลุ่มพนักงานตามแต่ละบทบาทหน้าที่ โดยมักจะเป็นการแบ่งโดยหัวหน้างานที่ทีมงานไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จะออกมาในลักษณะของการที่มีบางทีมที่ทำงานแบบเข้าออฟฟิศเป็นปกติ และบางทีมทำงานนอกสถานที่ เช่น ทีม HR ประจำอยู่ออฟฟิศ ทีม Sales ทำงานออนไลน์ โดยองค์กรที่เป็น Hybrid ในรูปแบบนี้ตัวอย่างเช่น Citigroup ที่แบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ resident remote และ hybrid⁣⁣
⁣⁣
ข้อเสียขอโมเดลนี้คือความไม่เท่าเทียมที่เห็นได้ชัดในที่ทำงาน เพราะแม้องค์กรจะขึ้นชื่อว่าตัวเองเป็น Hybrid แต่สำหรับพนักงานที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นหลักคำว่า Hybrid นี้ไม่มีจริง และทำให้อิสระ และความยืดหยุ่นของพนักงานระหว่างกลุ่มแตกต่างกันมาก กลุ่มนึงอาจจะมีได้เต็มที่ ในขณะที่อีกกลุ่มเรียกได้ว่าไม่มีเลย และนอกเหนือปัจจัยนี้แล้วการแบ่งในลักษณะนี้มักจะมาจากการกำหนดของผู้นำ และหัวหน้างานซึ่งใช้หลักการคิดโดยอิงจากวิถีการทำงานในอดีต และปิดโอกาสในการสำรวจวิถีการทำงานใหม่ ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า Hybrid แบบนี้จะไม่เวิร์คกับพนักงานเสมอไป เพราะที่ HubSpot ก็ปิดข้อเสียนี้ด้วยการที่แม้เขาจะแบ่งพนักงานออกเป็น 3 กลุ่มในลักษณะเดียวกับ Citigroup แต่ที่ HubSpot เขาให้พนักงานแต่ละคนเลือกได้ด้วยตัวเองว่ารูปแบบไหนเหมาะกับตัวเองมากที่สุด⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 รูปแบบที่ 3: Collaboration Days⁣⁣
⁣⁣
คล้ายกับรูปแบบ Remote-Friendly รูปแบบนี้จะเน้นให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ แต่ให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานในการเลือกที่จะทำงานข้างนอกได้ แต่จะแตกต่างจาก Remote-Friendly ตรงที่ปล่อยให้ทีมได้มีอิสระที่จะกำหนดวันได้ด้วยตัวเองว่าอยากจะ Remote เมื่อไหร่บ้าง⁣⁣
⁣⁣
อย่างเช่นที่ Google ได้ระบุว่าอยากให้พนักงานใช้เวลา 3 วันที่ออฟฟิศ โดยเรียกวันเหล่านี้ว่า collaboration days หรือวันที่อยากให้เกิดการทำงานร่วมกัน และ 2 วันทำงานที่บ้าน โดยปัญหาของโมเดลนี้คือการที่มันยังค่อนข้างเน้นการทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก แม้จะมีการให้ความยืดหยุ่นกับทีมมากขึ้น และยังคงเป็นนโยบายที่มีพื้นฐานจากความคิดที่ว่าคนเราต้องอยู่ร่วมกันเท่านั้นถึงจะทำงานได้ดี และข้อเสียสำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกันในรูปแบบนี้ถูกกำหนดโดยตารางเวลา มากกว่าความจำเป็นจริง ๆ ของโปรเจค หรือลักษณะงานในแต่ละช่วง⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 รูปแบบที่ 4: Flexible Hybrid หรือ Flexible Schedule⁣⁣
⁣⁣
ในโมเดลนี้พนักงานสามารถเลือกได้ตั้งแต่เวลาทำงาน จนไปถึงสถานที่ทำงาน และให้อิสระกับทีมในการกำหนดรูปแบบงานให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องทำในขณะนั้น ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของโมเดลนี้คือการที่มันเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก เช่น ผู้นำอาจจะต้องปวดหัวกับการประมาณงบประมาณด้านพื้นที่ใช้สอย และ การเตรียม facility ต่าง ๆ และข้อเสียอื่น ๆ อาจได้แก่รูปแบบนี้ทำให้เกิด proximity bias คือพนักงานที่บ้านใกล้กันมักจะทำงานด้วยกันบ่อยกว่า มากกว่าอิงจากความจำเป็นในการทำงาน ตัวอย่างขององค์กรที่ทำงานในรูปแบบนี้คือ Twitter ที่ให้พนักงานเลือกได้ตามสบายว่าจะเข้าออฟฟิศ หรือทำที่ไหนก็ได้ตามความจำเป็น⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 รูปแบบที่ 5: Remote-First ออนไลน์ไว้ก่อน⁣⁣
⁣⁣
ในรูปแบบนี้คือพนักงานทุกคนเข้าใจตรงกันว่าพวกเขาถูกคาดหวังให้ทำงานทางไกลเป็นหลัก โดยที่องค์กรอาจจะยังมีออฟฟิศไว้เพื่อตามวาระโอกาสพิเศษ ๆ เช่น townhall หรือ Sprint แต่นอกจากนั้นพนักงานรวมถึงผู้นำองค์กรควรจะทำงานจากที่อื่นเป็นหลัก⁣⁣
⁣⁣
แม้รูปแบบนี้จะค่อนข้างยืดหยุ่น แต่ก็ยังยืดหยุ่นไม่เท่ากับแบบ Flexible Hybrid เพราะการทำงานที่ออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ตัวเลือกทำให้อาจจะไม่เข้ากับพนักงานที่ต้องการจะเข้าออฟฟิศบ่อย ๆ และจริง ๆ แล้วเป็นข้อเสียที่ค่อนข้างหนักสำหรับหลาย ๆ องค์กรโดยเฉพาะที่ไม่ใช่ tech companies เมื่อไม่ใช่พนักงานที่คนที่จะมีพื้นที่ในบ้านพร้อมจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ องค์กรที่ใช้วิธีแบบนี้คือ Dropbox คือให้ทำงานที่บ้านเป็นหลัก และมีพื้นที่ที่พวกเขาเรียกมันว่า Studio ไว้เป็น team-building ให้พนักงานเข้ามาใช้สอยได้⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
และถ้าทั้งหมดนี้คือทั้ง 5 รูปแบบใหญ่ ๆ ของทำงานแบบ Hybrid ออกมาเป็นประเภท ๆ แล้วแบบไหนดีที่สุด ? คำตอบคือมันขึ้นอยู่กับองค์กรของเรา เพราะเราจะสังเกตได้ว่าทั้ง 5 รูปแบบต่างมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน และข้อเสียของบางรูปแบบอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ได้สำหรับองค์กรเรา และข้อเสียของอีกรูปแบบอาจจะไม่เสียหายเลย ซึ่งสุดท้ายแล้วแต่ละองค์กรก็จะสามารถที่จะพิจารณาข้อดี – ข้อเสียของแต่ละรูปแบบ และออกแบบของตัวเองที่ตอบโจทย์ที่สุดขึ้นมาได้⁣⁣
⁣⁣
ตัวอย่างเช่น รูปแบบ Flexible-Hybrid อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีถ้าองค์กรต้องการที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังของพนักงานที่อยากจะออกแบบชีวิตการทำงานให้ลงตัวกับชีวิตส่วนตัวได้ด้วยตัวเอง หรือแบบ Remote-First ที่อาจจะเหมาะกับองค์กรที่ต้องการความ Lean หรือองค์กรที่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเนื่องด้วยเหตุผลเช่น ความปลอดภัย หรือเครื่องมือ เครื่องจักรอาจจะเหมาะกับรูปแบบที่ 1 และ 2 แต่ก็ต้องหาทางให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานด้วยวิธีอื่นเป็นต้น⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture⁣
.
.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.hubspot.com/careers-blog/future-of-work-hybrid
https://www.washingtonpost.com/technology/2020/10/01/twitter-work-from-home/
https://mitsloan.mit.edu/ideas-made-to-matter/dropbox-ceo-3-insights-leading-a-virtual-first-workforce
https://www.fearlessculture.design/blog-posts/which-hybrid-work-model-is-best-for-your-organization

.
.

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search