Netflix องค์กรที่มีแต่คนเก่งขั้นเทพ ตอนที่ 1

เรื่องราววันนี้อยากเริ่มต้นที่ผลสำรวจจาก “Global Digital 2019” ที่ได้สำรวจสถานการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลก มีสถิติหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจพบว่าปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว ๆ 4,388 ล้านคน เป็นการเชื่อมต่อผ่าน “โทรศัพท์มือถือ” จำนวน 3,986 ล้านคนและพบว่าในการเชื่อมต่อผ่านมือถือนั้น 92% ของผู้ใช้งานรับชม Video Streaming โดยส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 คือ “Netflix” (ซึ่งมากกว่า YouTube กว่าเท่าตัว) และปัจจุบันฐานสมาชิกทั่วโลกของ Netflix เพิ่มขึ้นมากกว่า 160 ล้านบัญชีแล้ว
.
ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจให้เช่า “DVD” ผ่านระบบออนไลน์ และจัดส่งทางไปรษณีย์ ที่เริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะมาเป็นธุรกิจ “Video Streaming” อันดับต้น ๆ ของโลก แถม Netflix ยังได้ทำการปฏิวัติธุรกิจ ‘Disruption’ ในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสื่อความบันเทิงรูปแบบแผ่น DVD ร้านขายหรือเช่า DVD หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก ที่ปัจจุบันนี้ Netflix ก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตเนื้อหา (contents) ด้วยตนเอง

.
.
…..
หนังสือ Powerful: Building a Culture of Freedom and Responsibility ชื่อภาษาไทย “ทำไม Netflix ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง” ซึ่งผู้เขียน Patty McCord เคยเป็นอดีต Chief Talent Officer ในทีมผู้บริหารระดับสูงของ Netflix หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงแนวปฏิบัติสำคัญของ “วัฒนธรรมการทำงานแบบ Netflix” ที่อาจเรียกได้ว่า “สุดโต่ง” และ “ฉีกกฎ”
.
และหนังสือ Extreme Teams: Why Pixar, Netflix, AirBnB, and Other Cutting-Edge Companies Succeed Where Most Fail ผู้เขียน Robert Bruce Shaw หนังสือเล่มนี้พูดถึงบริษัทเจ๋ง ๆ ว่าเขาสร้างทีม สร้างวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ซึ่งส่วนหนึ่งได้พูดถึง Netflix .ซึ่งวันนี้ A Cup of Culture จะนำเรื่องราวจากหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ มากะเทาะเปลือก Netflix เพื่อค้นหาว่าเขาใช้อะไรขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร

.
.
…..
จากการอ่านหนังสือทั้ง 2 เล่ม สิ่งหนึ่งที่พบคือ Netflix ให้ความสำคัญกับการเลือกคนเข้าองค์กรเป็นอย่างมาก และเขามีวิธีคิดอย่างหนึ่งว่า พนักงานทุกคนใน Netflix จะต้องเป็นคนระดับท็อปเท่านั้น Netflix เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “Talent density” และความเชื่อเรื่องนี้มาจากตัว CEO ของ Netflix
.
ย้อนไปเมื่อครั้งที่รีด แฮสติงส์ (Reed Hastings) เริ่มทำงานใหม่ๆ รีดค่อนข้างเป็นคนทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นอย่างมาก และเขาก็เป็น Talent คนสำคัญคนหนึ่งขององค์กร เรียกได้ว่าในช่วงเวลานั้นเขาดำเนินชีวิตในรูปแบบ กิน-ทำงาน-กิน และแทบจะไม่ลุกจากโต๊ะทำงานของเขาเลย ซึ่งบางครั้งเขาก็วางจานชามต่าง ๆ ที่ใช้แล้วไว้รอบบริเวณนั้น ทำแบบนั้นเป็นปีๆ
.
จนกระทั่งวันหนึ่งเขามาทำงานเช้ากว่าปกติ ภาพที่เขาเห็นคือ CEO ของบริษัทที่กำลังล้างจานชามต่าง ๆ ที่วางทิ้งไว้อยู่โดยที่เขาเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่าแม่บ้านเป็นคนจัดการ ภาพเหตุการณ์นั้นทำให้เขาตกใจและรู้สึกผิดมาก แต่คำพูดที่เขาได้รับจาก CEO คือ ความเต็มใจที่อยากจะตอบแทนผลของการทำงานหนักของเขา จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รีดรู้สึกชื่นชมในตัว CEO ของเขาเป็นอย่างมาก และก่อตัวเป็นความเชื่อว่า ผู้นำต้องพร้อมที่จะสนับสนุนให้คนที่เป็น Talent ได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่

.
.
…..
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยตอกย้ำความเชื่อนี้คือ ในช่วงต้นปี 2000 ที่รีดได้ออกมาทำธุรกิจให้เช่า DVD เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โลกเกิดวิกฤต หุ้นเทคโนโลยี หรือ วิกฤต “Dot-Com” ขึ้น ซึ่ง Netflix ก็ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นด้วยถึงขั้นต้องมีการปลดพนักงานออก เพื่อที่จะประคองธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอด
.
ด้วยความโชคดีในความโชคร้าย ในปีเดียวกันนั้นเองก็ปรากฏว่าสินค้าไอทีต่าง ๆ มีราคาลดต่ำลงมาก ส่งผลให้เครื่องเล่น DVD มีราคาถูกลงไปด้วย ทำให้ผู้คนแห่ไปซื้อเครื่องเล่น DVD เพื่อมอบเป็นของขวัญวันคริสมาสต์กันอย่างมากมาย และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจเช่า DVD ของเขาพลิกกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง แต่เรื่องมันก็ไม่ง่ายอย่างนั้น จากผลที่เขาได้ปลดพนักงานออกไปมากถึงหนึ่งในสาม ทำให้เขาไม่มีพนักงานเพียงพอในการทำงานที่เข้ามาอย่างมากมาย ทำให้เขาต้องรีดศักยภาพของพนักงานทั้งหมดที่เหลืออยู่ออกมาให้มากที่สุด ซึ่งทำให้เขาได้แนวคิดสำคัญว่า “แท้จริงคนเรามีศักยภาพมากมายอยู่ในตัวเอง แทนที่เราจะเอาใครก็ได้มาทำงาน ทำไมเราไม่คัดเฉพาะคนที่เป็น Talent เขามาทำงานล่ะ”

.
.
…..
สิ่งที่ Netflix ทำในการคัดเลือก Talent คือ เขาสื่อสารอย่างชัดเจนเลยว่า วัฒนธรรมองค์กรของเขาเป็นอย่างไร และเขาคาดหวังอะไรตั้งแต่วินาทีที่เข้าทำการสัมภาษณ์งานเลย และเมื่อพบคนที่ต้องการ เขาจะเสนอเงินเดือนที่สูงที่สุดในตลาดเวลานั้น

.
“จ่ายแพงที่สุด เพื่อคนที่ดีที่สุดเท่านั้น”
.

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกันแล้วพบว่าคนนั้นไม่ใช่สำหรับองค์กร เขาก็พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ออกและเหลือไว้เฉพาะคนที่ใช่ Netflix มีระบบประเมินคนที่เข้มข้นมากชื่อว่า “Keeper test” ซึ่งเป็นแบบวัดให้ผู้จัดการลงไปทำกับลูกน้องของตนเองอยู่เป็นระยะ ๆ โดยผู้จัดการต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วยว่า หากลูกน้องที่มีอยู่มาขอลาออกมีคนไหนบ้างที่คุณคิดว่าจะไม่รั้งเขาเลย
.
เรื่องราวยังไม่จบ ครั้งหน้าเราจะมาหาคำตอบกันว่า อะไรที่ทำให้ Netflix ดึงดูดคนให้อยากมาร่วมงานด้วย “ท้ายสุดนี้… “ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขึ้นอยู่ดี ทำไมเราไม่มาสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่เราอย่างเห็นกันละ”
.
…..
A Cup of Culture

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search