ว่าด้วยมนุษย์เงินเดือน 2020
ก่อนออกไปทำงานวันนี้…
สเปรย์แอลกอฮอล์ เอาใส่กระเป๋าไว้หรือยัง?
หน้ากากอนามัยหาซื้อไม่ได้ หน้ากากผ้าจะกันเชื้อโรคได้ไหมนะ?
คัดจมูกสุดพลัง ถ้าจามตอนนี้ มหาชนจะไล่เราลงจากรถไฟฟ้าไหมนะ?
ตึกข้าง ๆ มีคนติดเชื้อ COVID-19 แล้ว จะมีเชื้อหลงมาตึกเราบ้างไหมนะ?
เค้าจะปิดเมืองกันหรือยัง ถ้าซื้อของตุนตอนนี้จะยังทันไหมนะ?
เริ่มเจ็บคอ ตายล่ะ เราติดเชื้อหรือยัง?
.
.
.

ช่วงนี้ ในแต่ละวันก็จะมีคำถามประมาณนี้วนเวียนอยู่ในหัว จนเกิดแฮชแทคยอดฮิต #COVID-19หรือจะสู้Panic2020 หรือ #โอกาสติดไวรัส 1% โอกาสประสาทกิน 100% แฮชแทคตลกร้าย ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเรื่องจริงที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพจิตของผู้คนไม่น้อยเลยทีเดียว COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างต่อเนื่องและยังไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ไปอีกถึงเมื่อไร แต่ถ้าปล่อยให้ตัวเองวนเวียนอยู่ในความเครียด กังวล จิตตกต่อไปเรื่อย ๆ อีกไม่นานอาจจะพาลป่วยไปจริง ๆ แบบไม่ต้องโดนเชื้อ COVID-19 แน่ ๆ การเรียนรู้ที่จะรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงเท่า ๆ กับการรักษาสุขภาพกายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
.
A Cup of Culture รวบรวม 7 วิธีการรับมือกับความวิตกกังวลจาก COVID-19 ดังนี้

1. รู้เท่าทันตนเอง ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
.
อย่างที่กล่าวว่าอารมณ์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกายเสมอ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เมื่อเราต้องนำเสนองานต่อหน้าคณะกรรมการจอมโหด แล้วมีความกังวลผสมตื่นเต้นจนเกิดอาการเหงื่อซึม ตัวสั่น มือสั่น เช่นเดียวกันกับการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความกังวลในช่วง COVID-19 ความวิตกกังวลนี้อาจทำให้เรารู้สึกไม่สบาย หมั่นตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอทั้งสุขภาพจิตใจ และสุขภาพกาย และอาการเจ็บป่วยที่เรารู้สึกว่าเป็นอาการที่เข้าข่าย หรือเป็นเพราะว่าเรากังวลมากเกินไป
.
.
.

2. เสพข่าวอย่างมีสติ
.
ทุกวันนี้มีแต่เรื่อง COVID-19 เต็มหน้า Feed ไปหมด ไหนจะข่าวซุบซิบจากที่ทำงาน เพื่อนพ้อง ญาติมิตรอีก อย่าลืมว่า Social Media เป็นช่องทางของผู้คนมากมาย ที่รวมทั้งข้อเท็จจริง และการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่หลากหลาย และแตกต่าง ซึ่งมักเป็นเหตุให้ผู้อ่านเกิดความเครียดและกังวลเพิ่มขึ้นไปอีกโดยไม่จำเป็น แต่จะปล่อยผ่านไม่รู้ไม่เห็นเลยก็คงจะไม่ได้ วิธีที่อาจทำได้คือ เลือกช่องทางที่น่าเชื่อถือ และระยะเวลาในการรับข่าวสารในแต่ละวัน เช่น เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการรายงานสรุปสถานการณ์ในแต่ละวัน รวมถึงคำแนะนำสำหรับประชาชน หรือช่องทางที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ เพื่อรับข่าวสารแต่พอดี เพื่อการเฝ้าระวังและเตรียมรับมืออย่างเหมาะสม
.
.
.

3. วางแผนไว้ก่อน
.
ความวิตกกังวลมักมาจากความกลัว ความไม่รู้ ความไม่แน่นอน หรือรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ เพราะในช่วงเวลาแห่งความกังวลนั้นสมองของเราได้ทำงานโดยอัตโนมัติและโดยปกติจะตั้งสมมติฐานในเชิงลบที่สุดไว้ก่อนเสมอ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น ลองใช้เวลาในการหาข้อมูล และวางแผนเผื่อไว้ก่อนเพื่อลด “ความไม่แน่นอน”  ตั้งแต่วิธีการป้องกันภายในบ้าน การป้องกันระหว่างเดินทาง การเตรียมของใช้ที่จำเป็นหรืออาหารสำหรับ 2-3 สัปดาห์เผื่อกรณีฉุกเฉิน แม้กระทั่งการวางแผนในกรณีที่เราหรือคนในครอบครัวเกิดอาการป่วย เช่น ระดับใดจึงต้องไปพบแพทย์ ที่ไหน พร้อมทั้งเตรียมข้อมูลส่วนตัวให้พร้อมเช่น ระยะเวลา ลักษณะอาการ และสถานที่ที่เราไปในช่วง 14 วันที่ผ่านมา การเตรียมการเมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวต้องเข้ารับการรักษา และสื่อสารกับคนในครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจในการเตรียมการ และสร้างความมั่นใจร่วมกัน การวางแผนเท่าที่จะทำได้จะช่วยลดความกังวล และลดความเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้น
.
.
.

4. ดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น
.
ความกังวลและความเครียดทำให้ภูมิต้านทานลดลง ดังนั้นช่วงนี้จึงควรให้ความสำคัญกับการใส่ใจในการดูและรักษาสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกายง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น โยคะ แพลงก์ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยในเรื่องสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อป้องกันไวรัสร้ายได้เป็นอย่างดี
.
.
.

5. เชื่อมต่อกับผู้คนอย่างพอดี
.
ใช้เวลากับครอบครัว หรือผู้คนรอบตัว พูดคุยถึงความกังวลของแต่ละคนบ้าง เพื่อความผ่อนคลายในสภาวะที่ตึงเครียด รวมถึงให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าลืมทำความเข้าใจว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากอาจส่งผลต่ออารมณ์ของคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนข่าวสารแต่พอดี เปิดรับต่อความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวและการป้องกัน ส่วนความเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และควบคุมไม่ได้ โปรดปล่อยผ่านไปก่อน
.
.
.

6. ให้เวลาดี ๆ กับตัวเองบ้าง
.
หาเวลาให้กับตัวเองอย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน ในการสรรหาหรือทำสิ่งดี ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจท่ามกลางสถานการณ์แห่งความวิตกกังวลนี้ เช่น การนั่งสมาธิ การเขียนข้อความขอบคุณ หรือแสดงความห่วงใยต่อเพื่อน ๆ การทำอาหารเมนูที่ชอบ หรือการฟัง Podcast เพื่อเรียนรู้สิ่ง ใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นอีกวิธีในการช่วยให้จิตใจแข็งแรง แทนที่จะดำดิ่งลงในสถานการณ์ที่วุ่นวาย
.
.
.

7. พูดคุยกับตัวเองบ้าง
.
ด้วยสถานการณ์ตอนนี้อาจส่งผลให้แผนการต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โครงการหยุดชะงัก ลูกค้าเลื่อนนัด แผนเที่ยวล่มตลอดปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจมอยู่กับความผิดหวัง เครียด กังวลนานเกินไปไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น พยายามคิดถึงข้อเท็จจริง สิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ และข้อดีของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วางแผนสิ่งที่ต้องทำใหม่ และไม่ลืมที่จะพูดคุยกับตัวเองเสมอเช่น “ฉันคิดมาอย่างดีแล้ว” “ฉันกำลังทำในสิ่งที่ดีที่สุด” “สิ่งที่ฉันจะทำต่อไปคือ…” การพูดคุยกับตัวเองอาจฟังดูเพี้ยน แต่ในทางจิตวิทยาจะช่วยให้เรามีสติ และก้าวต่อไปได้
.
.
.

COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด ส่งผลกระทบในวงกว้าง และยากต่อการควบคุม ในสถานการณ์แบบนี้สติสำคัญที่สุด นึกถึงการสาธิตการสวมหน้ากากออกซิเจนในกรณีฉุกเฉินบนเครื่องบิน ดูแลตัวเองอย่างดีที่สุดก่อน ทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายเพื่อให้สามารถดูแลและช่วยเหลือคนรอบ ๆ ข้างได้ แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
.
.
A Cup of Culture
.
.

ที่มาของบทความ

https://medium.com/wake-up-call/8-ways-to-manage-your-coronavirus-related-anxiety-5e43e1e4742

https://www.forbes.com/sites/bryanrobinson/2020/03/12/the-psychology-of-uncertainty-how-to-cope-with-covid-19-anxiety/#60387dac394a

https://www.psychologytoday.com/us/blog/lifetime-connections/202003/covid-19-anxiety-control-your-controllables

https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/managing-stress-anxiety.html

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search