Decision Making Framework แบบฉบับหน่วย SEAL

พวกเราทุกคนล้วนมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจทุกวันเป็นสิบ ๆ ร้อย ๆ อย่าง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เช่นว่าเช้านี้จะกินอะไรดี ไปจนถึงเรื่องชี้เป็นชี้ตายในที่ทำงานที่ต้องคำนึงอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเราและผู้อื่น บ่อยครั้งการตัดสินใจอาจทำให้เราคว้าหรือปล่อยโอกาสแห่งชีวิตหลุดมือ และบ่อยครั้งเราก็มีเวลาให้ตัดสินใจอะไรต่อมิอะไรน้อยเหลือเกิน⁣

Mike Hayes อดีตหัวหน้าหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในอัฟกานิสถาน สั่งปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางอากาศมาแล้ว 1,100 ครั้ง ตัดสินใจเรื่องชี้เป็นชี้ตายที่มีชีวิตเป็นเดิมพันอีกนับครั้งไม่ถ้วน กล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเรื่องปรับพอร์ทการลงทุน หรือเรื่องว่าภารกิจนี้ทีมซีลของเขาควรใช้ปฏิบัติการแบบไหน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีกระบวนการตัดสินใจที่เหมือนกันไม่มีผิด เรียกว่า decision-making framework” ซึ่งแบ่งเป็น 3 ข้อดังนี้⁣


1.รวบรวมข้อมูล⁣


ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ๆ เปี่ยมล้นไปด้วยประสบการณ์ มีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ ด้วยตนเองโดยใช้ประสบการณ์เป็นที่ตั้ง ไม่ต่างกันเท่าไหร่กับในหน่วยซีล ที่นาวิกโยธินทุกคนต้องผ่านการฝึกอย่างเข้มข้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่โหดสุดขั้ว หรือที่เรียกว่า the worst-case scenario เพื่อที่ว่าเมื่อไปปฏิบัติการจริง อย่างน้อย ๆ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เคยฝึก ได้เคยผ่านการตัดสินใจร่วมกันมาแล้ว⁣

อย่างไรก็ตาม คุณ Mike Hayes เล่าว่าจากประสบการณ์ของตนเอง การรวบรวมข้อมูลจากผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ “คิดไม่เหมือนกับเรา คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดซะด้วย เพราะโดยธรรมชาติเรามักรู้สึกสบายใจที่จะหาเพื่อน หาพวกพ้องมาอยู่ข้างเรา เข้าหาคนที่คิดเหมือน ๆ กันกับเรา (like-minded) แต่หากเราคิดกลับด้าน คือ สร้าง psychological safety ที่เชื้อเชิญให้ผู้คิดต่างกล้าแสดงความคิดเห็นออกมา นี่คือปัจจัยสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุด⁣

คุณ Mike ปิดท้ายว่า ผู้นำองค์กรหลาย ๆ เชื่อว่าต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ ด้วยตนเอง พึ่งพาตัวเอง เพื่อแสดงออกถึงความเก่งกาจ แต่แท้จริงแล้ว การพึ่งพาทีมของเราไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ผู้นำที่เข้มแข็งคือผู้ที่รู้จักใช้ทรัพยากรที่ตนเองมีให้เกิดประโยชน์สูงสุด⁣


2.ตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสม⁣


สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการตัดสินใจ ไม่ใช่การรู้ว่าต้องตัดสินใจอย่างไร แต่เป็นว่าต้องตัดสินใจเมื่อไหร่ อาจเป็นภายใน 30 วินาที เช่น ยกเลิกปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางอากาศ หรืออาจเป็นภายใน 2 สัปดาห์ที่ไม่ต้องรีบร้อนอะไร ข้อควรระวัง คือ ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินใจ จะมีจุดหนึ่งที่การได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปเพื่อรอคอยจนทำให้ตัดสินใจไม่ได้สักที ⁣

ณ จุดนี้เอง ที่ประสบการณ์ของผู้นำมีประโยชน์ คือจำแนกแจกแจงได้ว่าการตัดสินใจแบบไหน ที่ข้อมูลของผู้อื่นจะมีประโยชน์ และการตัดสินใจแบบไหนที่ต้องใช้สัญชาตญาณนำหน้าเลย เพราะบางครั้งการรอนานเกินไปเพื่อขอชัวร์ ๆ อาจส่งผลกระทบตามมา คือ ผู้อื่นไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ต่อได้ เพราะ action plan จะเปลี่ยนไปตามผลการตัดสินใจของเรา⁣


3.เตรียมรับมือกับผลที่ตามมา⁣


เมื่อตัดสินใจไปแล้ว ย่อมมีโอกาสเสมอที่การตัดสินใจนั้นอาจจะผิดพลาด สติปัญญา ความจริงใจ และความอ่อนน้อมถ่อมตน จึงเป็นสามคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยพาเราหาทางกลับบ้านไปสู่วิธีที่ถูกต้อง ผู้นำหลาย ๆ คนยึดมั่นถือมั่น มีอีโก้เป็นที่ตั้ง อาจมองว่าการกลับคำตัดสินใจจะทำให้ตนเองดูแย่ แต่สัญญาณของผู้นำที่แท้จริงหาใช่ความเด็ดเดี่ยว แต่ในบางสถานการณ์กลับเป็นความยืดหยุ่น โอนอ่อนผ่อนปรน เปลี่ยนใจเลือกสิ่งที่ถูกต้องกว่าได้โดยยึดประโยชน์สูงสุดขององค์กรเป็นที่ตั้ง⁣

ความกล้าที่จะล้มและพร้อมที่จะลุกจึงกลายเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้น โดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพราะหากเรามั่นใจซะอย่างว่ามีพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ผู้นำที่ดีควรจะมี คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความโปร่งใส และความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น แม้เราจะตัดสินใจพลาดไปบ้าง แต่เราก็ย่อมจะรู้อยู่แก่ใจว่ายังมีทีมที่พร้อมหนุนหลังและช่วยเราแก้ไขอยู่เสมอ⁣


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture

Source:

https://www.fastcompany.com/90771540/3-steps-navy-seals-use-to-make-decisions

Share to
Related Posts:
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search