เมื่อองค์กรเรียกร้อง EQ จากคนทำงาน

“เมื่อ IQ ไม่ใช่ปัจจัยทำนายความสำเร็จ.. หากแต่เป็น EQ” Daniel Goleman นักจิตวิทยา อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ได้ตีพิมพ์บทความลงนิตยสารด้านพฤติกรรมศาสตร์ สำหรับ New York Times มาหลายสิบปี เขาพบว่า ยิ่งศึกษาลงลึกไปในเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence (EQ) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จด้านการงานมากขึ้นเท่านั้น (ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มวิชาชีพที่แทบไม่ได้ทำงานหรือพูดคุยกับคนอย่างวิศวกร Software หรือ Coders)⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
เมื่อได้มีการประเมิน 360 องศา และได้พบว่า EQ ที่แบ่งออกเป็น 12 ด้านนั้น เป็นตัวชี้วัดที่แยก Star Performer ออกจากคนทำงานทั่วไป และที่น่าแปลกใจคือ IQ นั้นมีความเกี่ยวข้องเป็น 0 กับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในขณะที่ EQ นั้นเป็นปัจจัยทำงานความสำเร็จ วัดจากการให้คะแนนจากเพื่อนร่วมงาน ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยพื้นฐานแล้ว ทุกอาชีพย่อมมีระดับ IQ ที่ทำให้คนๆ นั้นสามารถทำงานได้ ซึ่งเป็น baseline ในการทำงาน แต่ที่น่าประหลาดใจคือ IQ ที่สูงขึ้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับระดับของความสำเร็จ ในขณะที่ EQ นั้นสร้างความแตกต่างในหน้าที่การงานอย่างมาก ซึ่งการมี EQ นั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จ 2 ด้านหลักๆ คือด้านงาน กับด้านคน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ในด้านงานนั้น EQ จะสัมพันธ์กับ ความสามารถในการจัดการตนเอง ความสามารถในการเผชิญกับอุปสรรคระหว่างการทำงาน การต้านทานแรงกดดันและไม่ล้มเลิกไปก่อน ฯลฯ ส่วนด้านคน จะเป็น ความสามารถในการเข้าหาคนอื่นๆ ความสามารถในการสังเกตคน การเข้าใจคน และ ความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนโดยรวม ฯลฯ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
แน่นอนว่าอาชีพบางอาชีพ ก็มีโอกาสได้พบปะกับผู้คนน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ อาทิ Programmer วิศวกร Graphic Designer ฯลฯ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ในห้อง ทำงานของตน เขียน code และไม่ข้องเกี่ยวกับคนอื่นๆ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า คนย่อมชอบ team player มากกว่า ใส่ใจคนรอบตัวมากกว่า โดยเฉพาะในโลกที่การทำงานที่มีรูปแบบการผนวกกำลังกันจะลดความผิดพลาด และสร้างความสนุกในการทำงานมากกว่า แม้ว่างานหลักจะเป็นการเขียน code แต่ programmer ก็ย่อมต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่น ต้องอธิบายสิ่งต่าง ๆ ต้องโน้มน้าว และต้องเป็น team player ที่ดี ดังนั้น การมีความฉลาดทางอารณ์ที่สูงจะช่วยให้บุคคลนี้ก้าวไปได้ไกลกว่าคนที่เขียน code เป็นอย่างเดียว ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ในระดับองค์กร ยิ่งเป็นตำแหน่งสูง ๆ อย่าง C-Level อาทิ CEO CFO ฯลฯ ยิ่งต้องพึ่งพา EQ มากกว่าตำแหน่งเล็ก ๆ เสียอีก โดย Daniel Goleman ได้ทำการรวบรวมข้อมูลภายในองค์กรแล้วพบว่าบุคคลที่รับมาจากการแนะนำ ที่มีผลงานโดดเด่นแต่กลับโดนไล่ออก มักมาจากการที่คน ๆ นั้นมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แย่ หรือมี EQ ที่ต่ำ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
Key Takeaway ของเรื่องนี้ ตามที่ Daniel Goleman แนะนำ คือ EQ ควรเป็นสิ่งหนึ่งของแกนการพัฒนาบุคลากร ที่เหล่า HR ควรใส่ใจ เพราะนอกจาก EQ จะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จด้านการทำงานแล้ว EQ ยังเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตลอดช่วงชีวิตของคนอีกด้วย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
:::::::::::::::::::⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ความฉลาดทางอารมณ์ทั้ง 12 ด้าน ประกอบไปด้วย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Emotional Self-Awareness) ⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเอง บอกได้ว่าขณะนี้กำลังรู้สึกอย่างไร รู้ว่าอารมณ์ส่งผลต่อการกระทำ หรือ การทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการพัฒนาทักษะการทำงาน รวมไปถึงการพัฒนาภาวะผู้นำ วิธีการพัฒนาการตระหนักรู้ในตนเองเริ่มได้จากการหมั่นสังเกตร่างกายตนเอง ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองหรือเปลี่ยนแปลงต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มาเป็นสิ่งเร้ารอบตัว และเมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง ก็แสดงถึงภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของตนเองด้วย ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 2. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotional Self-Control)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของตัวเองในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ได้ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่กดดันก็ตาม เช่น สามารถตอบสนองกับบุคคลอื่นที่ใช้อารมณ์ในที่ประชุมด้วยภาวะสุขุม และเป็นเหตุเป็นผล เป็นต้น⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 3. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ รับมือกับโจทย์การทำงานที่ประดังประเดเข้ามาได้อย่างมีสติ รวมถึง มีทักษะการแก้ปัญหาในภาวะฉุกเฉินด้วยอารมณ์ที่เป็นกลางได้ ฯลฯ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 4. ความพยายามมุ่งสู่ความสำเร็จ (Achievement Orientation)⁣⁣⁣
เป็นตัวบ่งชี้ถึงความพยายามในการทำงานเพื่อให้ถึงมาตรฐานที่วางไว้ ความต้องการและความสามารถในการรับ feedback จากผู้อื่นต่อการทำงานของตนเอง และความพยายามที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์ด้านนี้สูง จะมีแรงจูงใจที่มากไปกว่าเรื่องการรับรางวัล โบนัส หรือ เรื่องผิวเผิน แต่จะมีความต้องการที่จะทำงานให้ดีในตัวเขาเอง รวมถึงการบาลานส์การมุ่งสู่ความสำเร็จส่วนบุคคลและองค์กรได้ และจะมีภาวะผู้นำที่ดี⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 5. ความสามารถในการคิดบวก (Positive Outlook)⁣⁣⁣
คือ การเห็นข้อดีหรือด้านบวกในตัวคนอื่น ในเหตุการณ์ และสิ่งที่เข้ามาในชีวิต ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญต่อภาวะผู้นำมากๆ และเป็นด้านที่สร้างจากความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) การมีมุมมองเชิงนวัตกรรม (innovative mindset) และการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อที่จะพัฒนาความสามารถในการทำงาน และผลลัพธ์⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 6. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)⁣⁣⁣
หมายถึง ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น เข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง มีทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการวางตัวในสังคม และการบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงานได้ดี ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 7. การตระหนักรู้ในมิติองค์กร (Organizational Awareness)⁣⁣⁣
คือ ความสามารถในการอ่านอารมณ์ของกลุ่มคน และมองเห็นมิติความสัมพันธ์ของผู้คนทั้งในแง่การทำงาน การเมือง การสร้างเครือข่าย และพลวัตรของกลุ่ม ซึ่งความสามารถนี้จะนำไปสู่การตอบสนองต่อกลุ่มคนได้อย่างเหมาะสม และมีผลต่อกลุ่มคนในเชิงบวกได้⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 8. ความสามารถในการสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อผู้อื่น (Influence)⁣⁣⁣
คือ เป็นทักษะการอยู่รอดในสังคม และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อการเป็นผู้นำ ประกอบไปด้วยทักษะการโน้มน้าว การสร้างแรงจูงใจ การทำให้ผู้อื่นเห็นความหมายในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ รวมไปถึงการกระตุ้นผู้ร่วมงาน หรือ คนอื่น ๆ รอบตัวให้มีแรงจูงใจ ร่วมกันทำสิ่ง ๆ หนึ่งให้สำเร็จลุล่วงได้ เช่น การพูดโน้มน้าวให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมทีมเห็นความสำคัญของโปรเจคที่กำลังจะทำ แม้ว่าจะต้องผ่านความยากลำบาก แต่ก็สามารถสร้างแรงจูงใจในทีมให้ประสานงานกัน ช่วยเหลือกันจนงานสำเร็จได้ เป็นต้น ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 9. Coach and Mentor⁣⁣⁣
ผู้ที่เราเรียกว่า “Coach” และ “Mentor” คือคนที่มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และเติบโตในระยะยาว ผ่านการให้ feedback และการสนับสนุน ไม่ว่าจะด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ รวมไปถึงด้านการจัดการอารมณ์ตนเอง ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในทุกลำดับขั้นขององค์กร ที่ช่วยให้คนรอบข้างสามารถเติบโตได้ด้วยเช่นกัน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 10. การจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management)⁣⁣⁣
คือทักษะในการจัดการและช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์ที่ตึงเครียด สามารถนำบทสนทนาที่มีความขัดแย้งขึ้นมาให้ทุกฝ่ายได้พูดคุยอย่างเปิดเผย และสามารถลงเอยได้ด้วยบทสรุป หรือ ทางออกของปัญหาได้อย่างมีชั้นเชิง โดยสิ่งที่สำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของทุกฝ่าย ในขณะที่นำบทสทนาด้วยพลังงานที่สงบนิ่ง และเอื้อต่อการเสนอทางออก⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✴️ 11. ทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม (Teamwork)⁣⁣⁣
คือความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน มีส่วนร่วมในบทสนทนาและการทำงานอย่างกระตือรือล้น กระจายความรับผิดชอบ และทำงานร่วมกับทีมจนเกิดผลสำเร็จ และแชร์ความสำเร็จร่วมกับผู้อื่นเป็น ทักษะส่วนนี้จะนำไปสู่การคิดสร้างนวัตกรรม ผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
✳️ 12. ทักษะการเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ (Inspirational Leadership)⁣⁣⁣
คือความสามารถในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้อื่น และนำทาง สื่อสารให้ผู้อื่นเห็นภาพตรงกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของงาน วิสัยทัศน์ รวมไปถึงวิธีการทำงานร่วมกัน โดย “การสร้างแรงบันดาลใจ” นั้น หมายความรวมไปถึงการชี้ให้เห็นความหมายของสิ่งที่ทำ ซึ่งมีความลึกซึ้งมากไปกว่าการแจกงานให้ทำไปเฉยๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ดังนั้น การจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับคนอื่นได้ จำเป็นต้องเริ่มจากที่ตนเองก่อนในแง่ของการมีมุมมองเชิงบวก ความกล้าในการลองสิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจตนเอง มองเห็นความสามารถในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
:::::::::::::::::::::⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
ทั้งนี้ นี่ก็เป็น 12 ด้านของความฉลาดทางอารมณ์ที่ Daniel Goleman ได้แจกแจงออกมา ซึ่งแต่ละด้านล้วนสามารถพัฒนาได้ ⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้หันมาสนใจพัฒนาบุคลากรด้านความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น ทางเราขอแนะนำให้คุณได้รวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ (จำนวนมาก)⁣⁣⁣
ที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์และความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และการทำงาน คุณจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งสำคัญและควรค่าแก่การพัฒนาอย่างยิ่ง และยังมีโปรแกรมจำนวนมากที่ได้ต่อยอดจากงานวิจัยเหล่านี้ในการพัฒนาบุคคลในด้านต่าง ๆ ที่คุณสามารถนำไปพิจารณาจัดอบรมได้ หรือพัฒนาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานเข้ามา ก็จะช่วยให้การทำงานของคุณนั้นง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
⁣⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣⁣
———–⁣⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣⁣
Corporate culture⁣⁣⁣
Organizational culture⁣⁣⁣
.
.

Resources:
By Gareth Bell, I. (2013). How talent intelligent is your organization? Development and Learning in Organizations: An International Journal, 28(1), 29–31. https://doi.org/10.1108/dlo-12-2013-0096

Emotional intelligence at work: Why IQ isn’t everything | Big Think. (2018, September 30). [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=7ngIFlmRRPQ
 
Johnson, B. (2022, May 5). What is Emotional Intelligence? – Key Step Media. Key Step Media – Leadership, Mindfulness, Emotional Intelligence. https://www.keystepmedia.com/what-is-emotional-intelligence/
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search