4 งานงอกที่ควรปฏิเสธ พร้อมวิธี Say NO อย่างไรให้โปร

การที่หลายองค์กรเริ่มการ Lay-off ยกใหญ่ ประกอบกับปรากฏการณ์ Great Resignation และ quiet quitting ตอนนี้ทำให้หลาย ๆ องค์กรอยู่ในช่วงขาดคน และก็แน่นอนว่านั่นทำให้คนที่อยู่ในองค์กรต้องมีงานเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะคนที่ทำงานได้ดีก็จะถูกร้องขอให้ช่วยงานอื่นเพิ่มมากขึ้นจนเกินความพอดีแต่ก็ยากจะปฏิเสธ และก่อนที่ภาระงานที่มากเกินไปจะพาเรา burnout กันหมดวันนี้เราจะมาชวนรู้จักกับ 4 ลักษณะงานที่เราควรปฏิเสธ และวิธีการปฏิเสธมัน


ก่อนอื่นต้องเริ่มจากบอกว่าไม่ผิดที่เราจะอยากเข้าไปช่วยเหลือองค์กรในช่วงที่ขาดคน แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องแน่ใจว่าเราทำด้วยเหตุผลที่ดีพอ ไม่ใช่การตกลงไปกับทุกงานที่มีคนขอมา และส่งผลกระทบต่องานหลักตัวเอง นั่นทำให้หลักการ 4 อย่างนี้สำคัญต่อการพิจารณาว่างานไหนเราควรจะรับ งานไหนควรจะปฏิเสธ และปฏิเสธอย่างมืออาชีพ


1) ปฏิเสธถ้า… มันกระทบงานหลักเรา


สมมติว่าเราคือ product team แต่ต้องถูกไปช่วยงาน marketing เราอาจจะต้องพบว่าเราต้องใช้เวลาเยอะมากไปกับการริวิวโฆษณาบริษัทจนทำให้งานหลักของเราที่เป็นการทำความเข้าใจลูกค้า และวางแผนพัฒนาต้องหยุดชะงักลง


ถ้างานที่ถูกขอมานั้นทำให้เราต้องหลุดออกจากขอบเขตงานหลัก หรือกระทบต่อความสามารถของเราในการทำงานหลักได้อย่างมีคุณภาพ โดยที่ไม่ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ชัด ๆ หรือช่วยให้เราได้ทักษะใหม่ ๆ มา การดีที่สุดคือต้องปฏิเสธงานเหล่านี้


เลี่ยงการปฏิเสธด้วยประโยคว่า “โทษที นี่ไม่ใช่งานฉัน” หรือ “งานนี้ไม่อยู่ใน JD” วิธีการที่ดีกว่าคือการเชื่อมโยงผลกระทบของการรับงานนี้ไปยังผลประโยชน์โดยรวมขององค์กร และผู้เกี่ยวข้องคนอื่น ๆ เช่น “ถ้าฉันรับงานนี้มา อีกงานที่มีคนรออยู่ต้องพังแน่เลย” หรือ “ฉันไม่สามารถที่จะทำงานที่ขอมาให้มีคุณภาพได้ แล้วมันยังทำให้อีกงานพังไปด้วย” การปฏิเสธแบบนี้ช่วยให้เพื่อนร่วมงานเห็นความใส่ใจของเราทั้งต่องาน และองค์กร พร้อม ๆ กับสามารถบริหารงาน และ priority ตัวเองได้


2) ปฏิเสธถ้า… มันเป็นงานคนอื่น


ในยุคที่เราให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมหรือ collaborative workflow มันก็จะง่ายที่เราจะหลงทำงานคนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว เช่น sales บางคนอาจรู้ตัวอีกทีก็ต้องมาตอบคำถามลูกค้าแบบ customer service แล้ว หรือไป ๆ มา ๆ ลูกทีมก็ต้องแก้ปัญหาแทนหัวหน้า เมื่อเราตระหนักได้ว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ทางออกคือการสื่อสารผลกระทบต่อองค์กรให้ดีก่อนส่งต่องาน เช่น “ฉันไม่สามารถที่จะทำงานนี้ต่อไปได้แล้วด้วยความที่มันไม่ใช่ขอบเขตการทำงานด้วย ถ้าทำต่อมันสร้างความสับสนเปล่า ๆ แต่ฉันยินดีจะรวบรวมเอกสาร และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้พร้อมส่งต่อไปให้กับคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง”


หรือถ้าเราไม่รังเกียจจะทำงานที่เพิ่มมานี้ หรือมองว่ามันช่วยให้เราเติบโตในทิศทางที่อยากไป เราก็ควรจะวาดแผนให้ชัดว่าความรับผิดชอบที่เพิ่มมานี้จะเกิดผลลัพธ์อย่างไรบ้าง เช่น ความก้าวหน้าในงาน หรือทักษะที่ต้องการ พร้อมกับพูดคุยเรื่องการวางแผนเกี่ยวกับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน


3) ปฏิเสธถ้า… ขอบเขตไม่ชัด


ข้อนี้สำคัญมาก คือ รับงานเพิ่มเฉพาะเมื่อเรารู้ขอบเขตชัด ๆ ว่างานจะสิ้นสุดตรงไหน เพื่อเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าเราตอบตกลงกับความรับผิดชอบระยะยาวแบบไม่รู้จบ เช่น เมื่อถูกทาบทามไปช่วยโปรเจคใหม่ก็ควรที่จะถามให้แน่ชัดว่าเราต้องอยู่กับงานนี้นานแค่ไหน และต้องทำอะไรบ้าง


เมื่อได้ความชัดเจนนี้มาแล้วและพบว่ามันไม่เหมาะกับเรา เพราะเป็นขอบเขตที่ใหญ่เกินไปเราสามารถตอบได้ว่า “ขอบคุณสำหรับโอกาส ฟังดูเป็นโปรเจคที่น่าสนใจมาก แต่มันไม่เป็นการดีถ้าฉันจะตอบตกลง ในเมื่อรู้ดีว่าทั้งเวลา และความถนัดที่ฉันมีนั้นไม่สามารถที่จะช่วยให้โปรเจคนี้สำเร็จได้”


นอกจากนี้เรายังสามารถที่จะเสนอช่วยในรูปแบบที่เล็กกว่านั้นได้ เช่น การช่วยเข้าประชุม brainstorm หรือ ช่วยให้คำปรึกษาในส่วนของร่างแผนงานต่าง ๆ การมองหาโอกาสเล็ก ๆ เหล่านี้ช่วยให้เรามีความเป็น team player มากขึ้นด้วย


4) ปฏิเสธถ้า… คำขอไม่สมเหตุสมผล


บางครั้งผู้นำองค์กรอาจจะขอให้เราทำ business plan ขึ้นมาใหม่ภายในสองวัน แน่นอนว่านี่ไม่ใช่คำขอที่สมเหตุสมผล แต่การปฏิเสธไม่ว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในสถานการณ์นี้คือสื่อสารไปถึงว่าด้วยเวลาที่มีให้ เราสามารถที่จะทำอะไรให้ได้บ้าง เช่น “เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดจะเรียบร้อยภายในอีกสองวัน แต่ที่เป็นไปได้คือสามารถพอจะส่ง first draft ให้ได้” หรืออีกทางหนึ่งคือเจรจาเรื่อง timeline ใหม่ไปด้วย เช่น “หรือถ้าจะให้เรียบร้อยหมด เร็วที่สุดก็ขอเป็นวันอังคารหน้า”


นอกจากนั้นแล้วถ้าเป็นเรื่องขอบเขตที่นอกขอบเขต หรือความรับผิดชอบเรา เรายังสามารถที่จะอาสาแนะนำเขากับคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง หรือ contractor ได้ เช่น “เรื่องนี้ฉันไม่ถนัด แต่เดี๋ยวจะส่ง email คนที่เป็น expert ด้านนี้ให้”


ทั้งหมดนี้คือ 4 ประเด็นหลัก ๆ ที่เราควรพิจารณาก่อนที่จะรับงาน และปฏิเสธอย่างมืออาชีพ เพราะเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธทุกงานที่เข้ามาได้ แต่การปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ดีนั้นช่วยให้เราดูมีความมั่นใจ และเป็นมืออาชีพมากขึ้น พร้อมกับเป็นคนที่ดูพึ่งพาได้แม้เราจะปฏิเสธงานก็ตาม


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

References:
https://hbr.org/2022/11/when-and-how-to-say-no-to-extra-work
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search