ทำไมความกลัวถึงเป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture)

เคยมีบ้างไหมตอนอยู่ในห้องประชุม เรามองเห็นจุดบอดบางอย่างแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึงมันและเลือกที่จะปล่อยผ่าน… หรือในฐานะหัวหน้าที่เมื่อประชุมเสร็จแล้ว ทำงานไปซักพักก็เจอปัญหาที่ลูกทีมเห็นตั้งแต่ประชุมแล้วแต่ไม่กล้าบอกเราตรง ๆ ทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าองค์กรของเรากำลังไม่สามารถสร้าง Psychological Safety (ความรู้สึกปลอดภัย) ให้กับพนักงานได้ และการไม่แสดงออกซึ่งความคิดเห็น หรือปล่อยให้ข้อสังเกตผ่านไปโดยไม่ตั้งคำถามคือสัญญาณของ ‘ความกลัว’ นั่นเอง


หลายคนกลัวการถูกมองว่าไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เป็น หรืออาจจะกลัวผิดกาละเทศะถ้าต้องตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือยอมรับความผิดพลาด แต่สิ่งเหล่านั้นคือหัวใจหลักของการเกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่ทุกองค์กรต่างแสวงหา และหลายแห่งอาจกำลังสร้างความกลัวนี้ให้เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น วิธีการจูงใจที่มีพื้นฐานจากการสร้างความกลัวให้พนักงาน เช่น หักเงินจาก Performance การใช้คำพูดเสียดสีในการคุยงาน หรือแม้แต่การออกสีหน้าท่าทางเวลาพนักงานทำผิดพลาด สิ่งเหล่านี้มีพื้นฐานจากการสร้างความกลัว และนี่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดหากเราคาดหวังผลลัพท์เป็นพัฒนาการของพนักงาน และ Performance ขององค์กร.



“ความกลัวปิดกั้นการเรียนรู้” มีงานวิจัยในด้าน Neuroscience แสดงให้เห็นว่าความกลัวนั้นใช้ทรัพยากรสมองอย่างมากในการรับมือกับมัน ซึ่งเป็นทรัพยากรเดียวกันกับการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาดังนั้นจึงไม่แปลกที่มันยากที่เราจะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพในสภาวะที่กลัวความผิดพลาด และในทางตรงกันข้ามพนักงานที่มี Psychological Safety จะมีความพร้อมในการเรียนรู้ เช่น การตั้งคำถาม แบ่งปันข้อมูล ขอความช่วยเหลือ และทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เพราะเขาจะรู้ว่าคำพูด และการกระทำของเขาจะไม่ถูกนำมาใช้ทำร้ายเขาในภายหลัง.


แต่การให้ความรู้สึกปลอดภัยกับพนักงานนั้นไม่ได้หมายถึงการลดมาตรฐานฐานการทำงานจนทำอะไรก็ได้ แต่ Psychological Safety นั้นหมายถึง สภาพแวดล้อมที่เปิดรับความคิดเห็น และความตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากสังคมการทำงานที่ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน นั่นทำให้ Psychological Safety เป็นสิ่งที่เหมาะกับองค์กรที่กำลังฝันไกล และพาทีมไปด้วยกัน เพราะองค์กรที่มี Psychological Safety จะช่วยทำให้บรรยากาศขององค์กรมีความจริงใจ ท้าทาย และเอื้อต่อการทำงานร่วมกันซึ่งโดยรวมแล้วเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีประสิทธิภาพ


โมเดลของ 4 เขตแดนในองค์กรไร้ความกลัวนี้ (Fearless Organization) ได้รับอิทธิพลจากงานวิจัยของ Amy Edmondson ซึ่งโฟกัสไปที่ความปลอดภัยทางจิตวิทยา (Psychological Safety) โดยโมเดลนี้แบ่งเขตแดนออกเป็น 4 เขต ดังนี้


🔰 Apathy Zone (เขตเฉื่อยชา)


ความปลอดภัยทางจิตวิทยาต่ำ: สมาชิกในทีมรู้สึกท้อแท้ที่จะพูด แสดงความคิดเห็น หรือเสนอไอเดียใหม่
มาตรฐานผลงานต่ำ: ความคาดหวังต่อผลลัพธ์น้อยมาก ผู้คนรู้สึกไม่กระตือรือร้น มุ่งเน้นแค่พอผ่านพ้นไปวันๆ


สิ่งนี้มักเกิดขึ้นในองค์กรที่ทั้งมาตรฐานการทำงาน และ Psychological Safety น้อย ถึงแม้คนจะมาทำงานแต่ใจจะไม่อยู่กับงาน พนักงานจะให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่างานเสมอ และพลังงานส่วนใหญ่ของพนักงานจะถูกใช้ไปกับการเล่น social media หรือสร้างปัญหาให้กันและกัน


🔰 Comfort Zone (เขตสบาย)


ความปลอดภัยทางจิตวิทยาสูง: ผู้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวของตัวเอง นำเสนอข้อมูล และแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวการถูกตัดสิน
มาตรฐานผลงานต่ำ: มีความสบายใจสูง แต่มีแรงท้าทายน้อย ทีมและบุคคลขาดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งที่จะผลักดันขีดจำกัดและบรรลุผลลัพธ์ที่เหนือชั้น


สิ่งนี้เกิดขึ้นในองค์กรที่มี Psychological Safety สูง แต่มาตรฐานการทำงานต่ำ คือพนักงานจะมีความสุขกับการทำงานร่วมกัน เปิดรับซึ่งกันและกัน และทำงานเป็นทีมได้ดี แต่ปราศจากความท้าทายที่เกิดจากงาน เมื่อพนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง แต่ไม่มีเหตุผลให้ต้องเข้าหาความท้าทายใด ๆ ทั้งพนักงาน และองค์กรก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ และนวัตกรรมใด ๆ รวมถึงจะมี Engagement ต่ำเช่นกัน


🔰 Anxiety Zone (เขตวิตกกังวล)


ความปลอดภัยทางจิตวิทยาต่ำ: เน้นไปที่ผลงานของแต่ละบุคคล จนนำไปสู่ความกลัวความล้มเหลวและการถูกตำหนิสำหรับความผิดพลาด ผู้คนรู้สึกไม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือยอมรับข้อบกพร่องได้
มาตรฐานผลงานสูง: ความคาดหวังนั้นสูง แต่การขาดบรรยากาศที่สนับสนุนก่อให้เกิดความวิตกกังวลและแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง


เป็นโซนที่อันตรายที่สุด เมื่อพนักงานมีความกังวลที่จะต้องพูดบางอย่างออกไป และสิ่งเหล่านั้นมักจะส่งผลไปยังคุณภาพงาน สิ่งที่มักพบได้ในองค์กรที่กำลังอยู่ในโซนนี้คือ ผู้บริหาร และผู้จัดการมองว่าการตั้งมาตรฐานที่สูงหมายถึงการบริหารงานที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง หรือสถานการณ์ที่ต้องทำงานร่วมกันมาก ๆ การมีมาตรฐานที่สูงพ่วงกับ Psychological safety ที่ต่ำมักส่งผลลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และความวิตกกังวลของพนักงานอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความกังวลถึงผลลัพท์ของงานเท่านั้น แต่หมายถึงความกังวลในสภาวะที่พนักงานมีคำถาม หรือไอเดียอยู่ในหัว แต่รู้สึกว่าไม่สามารถพูดออกมาได้ และเป็นสิ่งที่องค์กรที่กำลังต้องทำงานกับความไม่แน่นอน หรือองค์กรที่ต้องขยับตัวเร็วต้องระวังเป็นพิเศษ.


🔰 Learning Zone (เขตเรียนรู้)


ความปลอดภัยทางจิตวิทยาสูง: เป็นพื้นที่แห่งความไว้วางใจ ที่ซึ่งความผิดพลาดถูกมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ การขอความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่สนับสนุน และการทดลองได้รับการยอมรับ
มาตรฐานผลงานสูง: มีการเน้นย้ำไปที่การเติบโตและความเป็นเลิศ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดขึ้นจริง ความท้าทายถูกมองว่าเป็นแรงจูงใจ ไม่ใช่สิ่งที่คุกคาม


องค์กรที่มีทั้งมาตรฐานที่สูง และ Psychological Safety ที่สูงด้วย องค์กรเหล่านี้มีสภาพแวดล้อมที่พนักงานทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่ และมีการเรียนรู้ระหว่างกันและกัน เปิดโอกาสให้งานที่มีความซับซ้อน หรืองาน Innovation ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ ทำให้โซนนี้เรียกอีกอย่างว่า High-Performance Zone เพราะในโลกที่หมุนเร็ว และเต็มไปด้วยความแน่นอนการเรียนรู้จากกันและกัน และปรับตัวของพนักงานอย่างรวดเร็วคือสิ่งที่นำไปสู่ Performance ที่นำหน้าตลาด และสภาพแวดล้อมองค์กรที่เหมาะกับ Startup เป็นพิเศษ


บทสรุป -แม้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ทางเราเองก็ไม่สามารถจะพูดได้ว่า Psychological Safety คือสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งขององค์กร แต่ความเป็นจริง Psychological Safety มักจะเป็นอุปสรรคด่านท้าย ๆ องค์กรที่องค์กรจะเติบโตไปสู่อีกระดับ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Startup ดังนั้นนอกเหนือจากการสร้างมาตรฐานการทำงานที่สูงให้กับองค์กรแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของผู้นำองค์กรคือการออกแบบสภาพแวดล้อมให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาด้วยการสร้าง Psychological Safety


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporateculture
culture
.
.

.
แหล่งที่มา:
หนังสือ Fearless Organization โดย Amy Edmondson ตีพิมพ์ 2018

.
.

Share to
Related Posts:
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search