องค์กรเราพร้อมแค่ไหนถ้าต้องทำงานจากที่บ้านเมื่อ Covid-19 ลุกลาม

จากกระแสไวรัส Covid-19 ที่กำลังเป็นความกังวลของคนทั่วโลกจนทำให้หลาย ๆ เรื่องที่เคยทำให้ธุรกิจแตกตื่น เช่น สงครามการค้า digital disruption ต้องหยุดพักร้อนไปก่อน ขณะนี้หลาย ๆ บริษัทเริ่มยกระดับ จากการที่ห้ามเดินทางไปประเทศที่สุ่มเสี่ยงไปสู่การห้ามเดินทางเลย ถ้าเรามองในกรณีที่เลวร้ายของการแพร่ระบาด บริษัทต่างๆอาจต้องเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแทนสักช่วงเวลาหนึ่ง โดยถ้าถามองค์กรต่าง ๆ ว่าพร้อมมั๊ย คิดว่าคำตอบคือ “ไม่” หากเราไม่เคยเตรียมตัวเรื่องนี้มาก่อนเลย  บทความล่าสุดของ Harvard Business Review โดย Carli Williams Yost ได้ให้แนวทางในการเริ่มต้นที่ดี
.

1.เตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าการที่พนักงานทั้งหมดต้องทำงานจากที่บ้านอาจจะเกิดขึ้น

คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ แต่การเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ ย่อมดีที่สุด (แต่ถ้าคุ้น ๆ กัน บ้านเราเคยเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ แบบนี้ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งเราไม่แม้แต่จะมีเวลาเตรียมตัว) ควรมีการเรียกประชุมของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ระดับบริหาร, IT, HR ฝ่ายสื่อสารองค์กร และฝ่ายอาคารสถานที่ เป็นต้น มาหารือถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นและการรับมือควรเป็นอย่างไร
.

2. ประเมินถึงงานต่างๆที่อาจได้รับผลกระทบ

แบ่งหมวดหมู่งานออกเป็น 3 หมวดหมู่
1) งานที่ทำได้ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่ต้องมาที่สำนักงาน
2) งานที่ไม่สามารถทำได้เลยหากไม่มาสำนักงาน
3) ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่
แน่นอนคงมีงานหลายๆงานที่เราคิดมาตลอดว่าไม่มีทางทำได้หากผู้ทำงานไม่อยู่ในสำนักงาน แต่ในสถานการณ์คับขันที่กดดันให้หาทางออกแบบนี้อาจทำให้เราเห็นได้ว่าอาจมีหลาย ๆ งานที่พนักงานทำได้จากที่บ้าน 
.

3.ตรวจสอบความพร้อมด้านไอที

พระเอกในยามนี้คือ “ระบบไอทีขององค์กร” ลองตรวจสอบว่าระบบที่มีอยู่เช่น ระบบ Video Conference, Intranet หรือ  collaboration platform ต่าง ๆ มีความพร้อมเพียงใดและมีอะไรที่ต้องจัดหามาเพิ่มเติม และจัดฝึกอบรมการใช้งานให้มั่นใจได้ว่าทุกคนจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถจัดหาระบบเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นมากหากท่านยังไม่คุ้นเคยกับการใช้งาน เพราะสามารถซื้อหาแบบ Cloud Service ที่ซื้อและใช้ได้แทบจะทันทีเช่น Video Conference, ระบบ Chat หรือ Shared Drive ต่างๆ  
.

4. กำหนดแผนการสื่อสารในสภาวะตัวไกลกัน

ควรทำแผนการสื่อสารให้ชัดเจนว่า ทุกคนสามารถติดต่อกันได้ (เช่น Directory ที่เก็บข้อมูลการติดต่อบุคคลในองค์กรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้) แผนการสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงแผนการพบปะกลุ่มย่อยนอกสถานที่หากจำเป็น
.

5. ปรับการวัดผลงานให้เหมาะสมกับบริบท

ข้อนี้ A Cup of Culture ขอเพิ่มเติมเข้ามา แน่นอนว่า ตัวชี้วัดผลงานบางอย่างอาจใช้ไม่ได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ควรมีการปรับตัวชี้วัดแบบชั่วคราวเพื่อสะท้อนความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังเมื่อมีการประเมินผลงาน เช่นการตอกบัตรเข้างานซึ่งใช้ไม่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว  งานเอกสารบางด้านที่อาจเข้าถึงไม่ได้ หรือแม้กระทั่งยอดขายที่อาจต่ำกว่าเป้าหมายเพราะความต้องการเปลี่ยนไป
.

6. สรุปบทเรียนและนำมาปรับปรุงการทำงาน

และเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง ผู้บริหารควรมีการสรุปข้อมูลต่างๆของช่วงเวลาที่เราต้องยืดหยุ่นผ่อนปรนเรื่องกระบวนการหรือวิธีการทำงาน หลายๆครั้งสถานการณ์ที่บีบบังคับให้เราทำอะไรบางอย่างก็ทำให้เราเห็นอีกด้านได้ว่ากฏระเบียบหรือกระบวนการทำงานบางอย่างอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เช่นช่วงที่เราเดินทางน้อยลงและมาใช้ Video Conference แทนก็ไม่ได้ส่งผลต่อธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรือการประชุมที่ลดลงหรือสั้นลง (เพราะประชุมแบบทางไกลมักใช้เวลาสั้นกว่า) ก็ทำให้งานเดินหน้าไปอย่างราบรื่นได้
.

ในที่สุดแล้วแพร่ระบาดของไวรัสมหาภัยอาจจะไม่รุนแรงถึงขนาดส่งผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้น แต่การเตรียมตัวไว้ก่อนจะทำให้เกิดการเตรียมตัวรับมือเหตุการณ์หรือภัยพิบัติรูปแบบอื่นๆที่ต้องทำให้ธุรกิจต้องสะดุดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
.
.
A Cup Of Culture

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search