องค์กรก็เปรียบเสมือนเมืองเล็กหลาย ๆ เมืองรวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่หนึ่งเมือง ในแต่ละเมืองเล็กแต่ละเมืองก็ประกอบไปด้วยคนหลายแบบ ตั้งแต่คนที่ขี้เกียจไปจนถึงคนระดับผู้นำชุมชน เราจะเรียกเมืองเล็ก ๆ เหล่านี้ว่าเผ่า โดยในหนึ่งเผ่าจะมีคนประมาณ 20-150 คน และที่สำคัญคือเผ่าไม่ใช่ทีม แต่เผ่าคือกลไกการทำงานในองค์กร
แต่ละเผ่าล้วนมีความแตกต่างกัน บางเผ่ามุ่งมั่นที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อเปลี่ยนโลก แต่บางเผ่าเพียงแค่ต้องการเวลาพักจิบกาแฟบ่อย ๆ ในแต่ละวัน ตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าเผ่านั้น ๆ จะพัฒนาก้าวไปข้างหน้าหรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็คือ “ผู้นำชนเผ่า” (Tribal leaders)
ผู้นำชนเผ่ามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของเผ่าตนเองอย่างมาก ผู้นำเผ่าที่ทะเยอทะยานจะให้ความสำคัญกับการทำให้วัฒนธรรมของเผ่าของตัวเองเติบโต ปรับตัว และพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับสถานะของเผ่าในองค์กร หากพวกเขาทำสำเร็จก็จะได้รับรางวัลเป็นความจงรักภักดีและการยกย่องเทิดทูนจากสมาชิกของเผ่าตัวเอง
การพัฒนาเผ่า 5 ขั้น
ขั้นที่ 1 (มี 2% ของคนทั้งหมด) กลุ่มคนที่มักพูดว่า “ชีวิตมันห่วย” เป็นกลุ่มคนที่มาทำงานด้วยทัศนคติลบต่องานและความสิ้นหวัง
ขั้นที่ 2 (มี 25% ของคนทั้งหมด) กลุ่มคนที่มองว่าชีวิตคนโดยรวมไม่ได้ห่วย แต่เป็น “ชีวิตฉันเองนั่นแหละที่มันห่วย” เป็นกลุ่มคนที่มักจะวิพากย์วิจารณ์แต่ก็ไม่ได้มีความสนใจขนาดที่จะกระตือรือร้นจะทำอะไร
ขั้นที่ 3 (มี 49% ของคนทั้งหมด) กลุ่มคนที่มักจะพูดว่า “ฉันนั้นยอดเยี่ยม (แต่เธอไม่)” สำหรับคนกลุ่มนี้ ข้อมูลและความรู้คือพลัง ฉะนั้นพวกเขาจะกอบโกยทุกอย่างตั้งแต่รายชื่อลูกค้าไปจนถึงเรื่องซุบซิบในบริษัท เป็นกลุ่มคนที่ขยันทำงานและมักมีศัตรูอยู่ภายในกลุ่มตัวเอง
ขั้นที่ 4 (มี 22% ของคนทั้งหมด) กลุ่มคนที่เปลี่ยนจากพูดว่า “ฉันนั้นยอดเยี่ยม (แต่เธอไม่)” เป็น “พวกเรานั้นยอดเยี่ยม (แต่พวกเขาไม่)” ซึ่งหมายถึงว่าในขั้นนี้ คนในเผ่าจะรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น แต่จะรู้สึกสูญเสียตัวตนไปหากไม่มีเผ่าของตัวเองอยู่ มักจะมีศัตรูเป็นคนนอก
ขั้นที่ 5 (มี 2% ของคนทั้งหมด) กลุ่มคนที่มองว่า “ชีวิตช่างดีอะไรเช่นนี้” มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้มากมาย และยิ่งช่วยกันคิดช่วยกันทำในวงกว้างขึ้น เป็นกลุ่มคนที่จะสามารถผลิตนวัตกรรมที่น่าทึ่งออกมาได้ เต็มไปด้วยความเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์ และแรงบันดาลใจ
สิ่งที่ผู้นำชนเผ่าให้ความสำคัญคือ “คำพูดที่คนใช้” และ “ลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากคำพูดเหล่านั้น” เพื่อยกระดับวัฒนธรรมของเผ่าตัวเอง
เพื่อไปจากขั้นที่ 1 สู่ 2:
- ให้มุ่งหน้าไปที่การปฏิบัติ เอาตัวเองไปอยู่กับคนในขั้นที่ 2 และตัดขาดจากคนที่มีความคิดว่า “ชีวิตมันห่วย”
เพื่อไปจากขั้นที่ 2 สู่ 3:
- ให้เริ่มสร้างความสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว โดยเฉพาะกับคนในขั้นที่ 3 ตัวผู้นำเองต้องจัดให้มีช่วงเวลาพูดคุยเดี่ยวกับคนของตัวเองและบอกแต่ละคนว่างานที่เขาทำนั้นมีอิทธิพลยังไงบ้าง และพยายามสั่งงานที่ใช้เวลาทำสั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเน้นย้ำความคิดที่ว่า “ชีวิตฉันมันห่วย”
เพื่อไปจากขั้นที่ 3 สู่ 4:
- ให้สนับสนุนคนในทีมให้สร้างความสัมพันธ์แบบสามคนขึ้นไป มอบหมายโปรเจคใหญ่ ๆ ที่เขาไม่สามารถทำคนเดียวได้ เน้นให้คนใช้คำว่า “พวกเรา” แทนที่คำว่า “ฉัน”
เพื่อไปจากขั้นที่ 4 สู่ 5:
- ให้เสริมสร้างความมั่นคงของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยค่านิยม ความได้เปรียบ และโอกาส รับคนที่มีค่านิยมแบบเดียวกันเข้ามาในเผ่าเพิ่ม เปิดโอกาสให้มีการทบทวนการทำงานในทีมอยู่เสมอ โดยให้มีการพูดคุยว่า 1. อะไรคือสิ่งที่ดีอยู่แล้ว 2. อะไรคือสิ่งที่ยังไม่ดี 3. ทีมจะทำอะไรให้สิ่งนั้นดีขึ้นได้บ้าง
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.