จากบทความใน A Cup of Culture เรื่อง จัดการกับ Toxic person ในองค์กรอย่างไร? มีคำถามที่น่าสนใจจากผู้อ่านว่า แล้วถ้า Toxic person ที่ว่ากลับเป็นเจ้านายของเราเสียเองล่ะ จะทำอย่างไรกันดี?
นับว่าเป็นปัญหาคลาสสิคต่อเนื่องยาวนาน ผลสำรวจสาเหตุการลาออกของพนักงานจากหลายสำนักทำให้เราพบว่า พวกเขาไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ขอลาออกจากการเป็นลูกน้องของหัวหน้าร้าย ๆ ต่างหาก จะว่าไป… หากเรารู้สึกว่า “เข้ากันไม่ได้” แล้วขอเป็นฝ่ายเดินจากไปทุกอย่างก็คงจบ แต่ความเป็นจริงก็คือ แม้ว่าพนักงานจะเหลือทนกับพฤติกรรมของเจ้านายร้าย ๆ แต่ก็ยังต้องทนอยู่ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ เช่น
“งานและหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่คืองานในฝันชัด ๆ”
“เพื่อนร่วมงานที่ดีแบบนี้จะหาได้ที่ไหนอีก”
“หางานใหม่ช่วงนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย”
“ไม่รู้ว่าจะหาบริษัทที่จ่ายเงินเดือน และสวัสดิการดีขนาดนี้ได้ที่ไหนแล้ว”
“ถึงเขาจะร้าย แต่ก็หวังว่าสักวันอะไร ๆ จะดีขึ้น”
ด้วยสาเหตุหลาย ๆ ประการที่กล่าวมา ก็เลยเป็นเหตุให้ต้องทนอยู่กันมาจนทุกวันนี้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า การอดทนทำงานกับเจ้านายร้าย ๆ ในทุกวันของการทำงาน ทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต บั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ และแน่นอนว่าเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงาน
การศึกษาของพนักงานชายชาวสวีเดน 3,122 คน พบว่าผู้ที่ทำงานให้กับหัวหน้าที่เป็น Toxic person มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ที่คุกคามชีวิตถึง 60% การศึกษาอื่น ๆ ในอเมริกาแสดงให้เห็นว่าคนที่มีหัวหน้าเป็น Toxic person มีความไวต่อความเครียดเรื้อรัง ซึมเศร้าและวิตกกังวล
การได้แต่เฝ้ารอว่าวันหนึ่งจะดีขึ้น วันนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริง A Cup of Culture ได้รวบรวมวิธีการที่คุณสามารถทำได้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตดังนี้
1. ทำความเข้าใจ
พฤติกรรมที่แสดงออกของคนล้วนแล้วแต่มีที่มา พยายามทำความเข้าใจในที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อ สไตล์การทำงานที่แตกต่าง หรือความกดดันจากเป้าหมายของทีม การทำความเข้าใจนี้ไม่ใช่เพื่อการยอมรับในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ความเข้าใจจะช่วยให้เรามองผ่านเลนส์ด้วยความเห็นอกเห็นใจมากยิ่งขึ้น
2. โฟกัสที่งาน
เข้าใจว่าพฤติกรรมบางอย่างของหัวหน้าอาจจะน่ากวนใจอยู่ไม่ใช่น้อย แต่อย่ามัวปล่อยเวลาไปกับการจดจ่ออยู่กับพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาแล้วจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกด้านลบ เพราะคุณมีเป้าหมายที่สำคัญกว่านั้น สูดหายใจลึก ๆ ยิ้มกว้าง ๆ ตั้งเป้าหมายของแต่ละวัน แล้วใช้เวลาไปกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
3. ปรับเปลี่ยนการสื่อสาร
ในกรณีที่งานบางอย่างอาจต้องเกี่ยวข้องหรือพึ่งพาหัวหน้างานโดยตรง การบ่นว่าถึงความผิดพลาด หรือข้อบกพร่องของหัวหน้าอาจจะไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น (แม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงก็เถอะ) ลองปรับเปลี่ยนการสื่อสารเป็น “การร้องขออย่างเฉพาะเจาะจง” ระบุความเข้าใจ สิ่งที่ต้องการ และผลที่จะได้รับให้ชัดเจน เช่น
จาก “ก็พี่สั่งวันนี้จะเอาวันนี้จะไปทำทันได้อย่างไร?”
เป็น “เข้าใจว่าเคสนี้เร่งด่วนจริง ๆ ถ้าอย่างนั้นรบกวนพี่ช่วยเซ็นอนุมัติงบประมาณฉุกเฉิน จะได้ดำเนินงานได้ทันตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ” นอกจากนี้ระวังภาษากายเช่น สีหน้า น้ำเสียง เพื่อการแสดงออกอย่างมืออาชีพเสมอ
4. เก็บหลักฐาน
นอกจากการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงแล้ว การสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญ อย่าลืมเก็บหลักฐานการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรเสมอเพื่อยืนยันความคาดหวัง ข้อตกลง ติดตามผล หรือใช้อ้างอิงในสถานการณ์ที่จำเป็น
5. สร้างผลงาน
แม้ว่างานของคุณจะขึ้นตรงต่อหัวหน้างาน แต่การสร้างผลงานให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ทั้งในและนอกแผนกด้วยความสามารถเฉพาะตัวของคุณ เพื่อสร้างการจดจำและการยอมรับ รวมถึงขอ Feedback จากหลากหลายช่องทางเพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
6. ให้ Feedback
หากการให้ Feedback โดยตรงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อาจให้ Feedback ได้โดยผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น การประเมิน 360 องศา โดยระบุสิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบ และสิ่งที่อยากให้ปรับเปลี่ยนเพื่อการพัฒนา
7. มองหาข้อดี
เอาล่ะ ในเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะอยู่กันอีกยาว ๆ ก็เปิดใจมองกันให้รอบด้าน หมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หัวหน้าของเราเป็น Toxic person และไม่ได้จมดิ่งในด้านลบจนกลายเป็น Toxic person เสียเอง มั่นใจว่าหัวหน้าของเราต้องมีข้อดีบ้างล่ะ มองข้อดีให้ชัด ๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ดี ขอบคุณ ชื่นชมกันบ้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานให้กันและกัน
วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถปรับใช้ได้ในกรณีที่ต่าง ๆ กันไป แต่ท้ายที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า คุณอาจไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของหัวหน้างานของคุณได้ แต่คุณสามารถควบคุมวิธีการตอบสนองต่อพฤติกรรมของพวกเขาได้
.
>
>
ที่มาของบทความ
https://www.entrepreneur.com/article/320696
https://hbr.org/2018/09/what-to-do-when-you-have-a-bad-boss