ความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาความสามารถของทีมงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้… The Skill/Will Matrix เป็นตัวช่วยที่ดีในการระบุระดับทักษะ (Skill) และระดับความมุ่งมั่นตั้งใจ (Will) ที่แตกต่างกันของทีมงาน เพื่อที่จะได้ปรับกลยุทธ์ในการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสม ดังนี้
ทำความเข้าใจ The Skill/Will Matrix
The Skill/Will Matrix เป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาโดย ศาสตราจารย์ Paul Hersey และ ดร. Kenneth Hartley Blanchard ซึ่งท่านได้ให้คำนิยามของ Will ว่าคือ “ความมุ่งมั่น” “ความตั้งใจ” และ Skill คือ “สมรรถนะ” “ทักษะ” โดยมีการจำแนกประเภทพนักงานออกเป็น 4 ส่วน ตามระดับความมุ่งมั่นและทักษะที่พวกเขามี (เมทริกซ์นี้ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการวัดประเมินผล แต่เป็นแนวทางเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาบุคลากร) ดังนี้
- มีทักษะสูง + มุ่งมั่นตั้งใจสูง
- มีทักษะต่ำ + มุ่งมั่นตั้งใจสูง
- มีทักษะสูง + มุ่งมั่นตั้งใจต่ำ
- มีทักษะต่ำ + มุ่งมั่นตั้งใจต่ำ
กลุ่มที่ 1 มีทักษะสูง + มุ่งมั่นตั้งใจสูง (ผู้มีประสิทธิภาพสูง)
พนักงานกลุ่มนี้มีทั้งทักษะที่สูง และความมุ่งมั่นตั้งใจก็สูงเช่นกัน พวกเขาเป็นพนักงานในฝันของทุกองค์กร เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จส่วนใหญ่ขององค์กร คนกลุ่มนี้จะเติบโตได้ดีในวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาส ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และให้การยอมรับ
ดังนั้น หากในองค์กรของเรามีพนักงานกลุ่มนี้อยู่มาก ควรจัดโปรแกรมหรือโปรเจ็กต์ที่มีความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมอยู่เสมอ
กลุ่มที่ 2 มีทักษะต่ำ + มุ่งมั่นตั้งใจสูง (ขาดการฝึกอบรม)
พนักงานกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นและมีแรงจูงใจสูง แต่ขาดทักษะที่จำเป็น ในวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเติบโตของบุคคล พนักงานกลุ่มนี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร ดังนั้น การลงทุนในการพัฒนาพนักงานกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนงาน การเมนเทอร์ โปรแกรมฝึกอบรม และการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ สามารถยกระดับพนักงานกลุ่มนี้ให้กลายเป็นพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงได้
กลุ่มที่ 3 มีทักษะสูง + มุ่งมั่นตั้งใจต่ำ (ขาดแรงจูงใจ)
พนักงานกลุ่มนี้มีทักษะแต่อาจขาดแรงจูงใจ ซึ่งหากไม่ได้รับแก้ไขจะส่งผลลบต่อวัฒนธรรมองค์กร เนื่องจากการขาดความกระตือรือร้นของพวกเขาสามารถส่งผลต่อขวัญกำลังใจของทีมงานได้ การดึงพนักงานกลุ่มนี้กลับมามีส่วนร่วม อันดับแรกต้องทำความเข้าใจแรงจูงใจของพวกเขาก่อน…? จากนั้นกำหนดแนวทางในการฝึกอบรมพัฒนาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจของพวกเขามากขึ้น และสุดท้ายการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพ
กลุ่มที่ 4 มีทักษะต่ำ + มุ่งมั่นตั้งใจต่ำ (จำเป็นต้องออก)
พนักงานกลุ่มนี้ไม่มีทั้งทักษะที่จำเป็นและยังขาดแรงจูงใจที่จะปรับปรุงตนเอง ในแง่ของวัฒนธรรมองค์กรอาจส่งผลลบต่อการรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกไว้ได้ แนวทางที่สามารถทำได้คือ การกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจน การให้ข้อเสนอแนะที่ตรงไปตรงมา และหากจำเป็นอาจต้องพิจารณาถึงการเชิญออก
การประยุกต์ใช้ The Skill/Will Matrix ในวัฒนธรรมองค์กร
- การประเมิน: ประเมินระดับทักษะและความตั้งใจของสมาชิกในทีมแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้องค์กรเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายในทีม และสามารถตอบสนองเชิงรุกได้ทันท่วงที
- ปรับกลยุทธ์: ใช้เมทริกซ์นี้เป็นแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์การจัดการส่วนบุคคล เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าสมาชิกในทีมแต่ละคนได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำที่จำเป็น
- การสื่อสารและการให้ข้อเสนอแนะ: รักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง การประชุมให้ข้อเสนอแนะอย่างสม่ำเสมอ และการเปิดโอกาสให้มีการสนทนาอย่างเปิดเผย เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและข้อกังวลของสมาชิกในทีมได้ สิ่งนี้ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแห่งความโปร่งใสและการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- การพัฒนาและการฝึกอบรม: ลงทุนในโปรแกรมการฝึกอบรมที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละกลุ่มบุคคล
บทสรุป – The Skill/Will Matrix เป็นมากกว่าเครื่องมือในการจัดประเภทของพนักงาน แต่ยังเป็นแผนที่สำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ด้วย ผ่านการทำความเข้าใจว่าสมาชิกในทีมแต่ละคนมีทักษะอยู่จุดใด ความมุ่งมั่นตั้งใจเขาเป็นแบบไหน และมีความต้องการหรือข้อกังวลเรื่องใด แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยส่งเสริมความพึงพอใจและความจงรักภักดีของพนักงาน เพื่อผลักดันศักยภาพของทีมงานให้ไปไกลกว่าจุดที่เขาเป็นอยู่
A Cup of Culture
────
วัฒนธรรมองค์กร
corporateculture
organizationalculture
.
.