The Great Reshuffle คลื่นใต้น้ำลูกใหม่ที่ HR ไม่รู้ไม่ได้

เราได้ยินกันบ่อยครั้งแล้วกับคำว่า The Great Resignation ว่าด้วยสถานการณ์ที่พนักงานองค์กรแห่กันลาออกครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี ก็มีอีกหลายองค์กรที่อาจจะไม่ได้เกิด sense of urgency เมื่อได้ยินคำ ๆ นี้ ด้วยเพราะคิดว่าเป็นปรากฎการณ์ที่พบมากในดินแดนไกลโพ้นทะเลอย่างสหรัฐอเมริกาก็ดี หรือในบริษัทตนเองยังไม่ได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวก็ดี⁣⁣
⁣⁣
แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีคำอีกคำหนึ่ง ที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่ก่อตัวเป็นคลื่นใต้น้ำอย่างเงียบ ๆ และอาจกำลังเกิดขึ้นอยู่ในองค์กรมาสักพักใหญ่โดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่ก็ได้ คำ ๆ นั้น คือ The Great Reshuffle ซึ่งอธิบายถึงการที่พนักงานเลือกให้คุณค่าและจัดลำดับความสำคัญต่อสิ่งรอบตัวใหม่ และมีแนวโน้มจะพาตนเองไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตด้วยวิถีใหม่นี้⁣⁣
⁣⁣
ข้อแตกต่างสำคัญเมื่อเทียบกับ The Great Resignation คือการที่อย่างหลังนี้ พนักงานอาจจะยังไม่ได้ลาออกในทันที แต่องค์กรอาจเริ่มประสบกับปัญหาความยึดโยงของพนักงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การไม่ได้รับความร่วมมือเมื่อออกนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนอาการหมดไฟ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในภาพรวม ทั้งยังอาจรบกวนสมาธิผู้บริหารหรือ HR จนหลุดโฟกัสจากสิ่งที่ตั้งใจทำอยู่เอาได้ง่าย ๆ ⁣⁣
⁣⁣
ก่อนที่จะสายเกินแก้และนำไปสู่ The Great Resignation ภายในองค์กรในที่สุด A Cup of Culture ขอชวนมาเรียนรู้ 4 เทรนด์สำคัญที่จะทำให้เข้าใจภาพของ The Great Reshuffle นี้ให้มากขึ้น⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣

การให้ความสำคัญในชีวิตถูกจัดลำดับใหม่⁣⁣

⁣⁣
ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้น สมการความคุ้มค่าของพนักงานเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเทียบสิ่งที่คาดหวังหรืออยากได้จากองค์กรกับต้นทุนที่ตนเองต้องเอาเข้าแลก โดยพบว่าพนักงานกว่า 47% เลือกให้ความสำคัญกับครอบครัวและชีวิตส่วนตัวเหนือเรื่องงาน และกว่า 53% บอกว่าสุขภาพกายและใจต้องมาก่อน⁣⁣
⁣⁣
ในสหรัฐอเมริกา กลุ่ม Millennials และ Gen Z เกินครึ่งมองหานายจ้างใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยตัวเลขนี้เติบโตราว 3% ทุกปี ด้วยเหตุผลหลัก คือ ต้องการคุณภาพชีวิตทีดี่ขึ้น ฟื้นฟูสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ มองหาสมดุล work-life balance และหลีกหนีจากความไม่ยืดหยุ่นต่อชั่วโมงการทำงาน เมื่อถามต่อว่าแล้วกำลังมองหาอะไรในที่ทำงานใหม่ คำตอบที่ได้ก็สอดคล้องกับปัจจัยต่อการเปลี่ยนงาน คือ ⁣⁣
• Positive culture 46%⁣⁣
• Well-being benefits 42% ⁣⁣
• Sense of purpose and meaning 40% ⁣⁣
• Flexible hours 38%⁣⁣
ข้อมูลเหล่านี้ หากนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม จะทำให้เกิด competitive advantage ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในแง่ของการดึงดูดและรักษาคนเก่ง ๆ จึงเป็นสิ่งที่องค์กรไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวง⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣

ตำแหน่งระดับผู้จัดการอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก⁣⁣

⁣⁣
ด้วยการที่ต้องติดอยู่ตรงกลางระหว่างความต้องการของพนักงานกับทิศทางของผู้นำองค์กร ทำให้เกินครึ่งหรือกว่า 54% ของตำแหน่งระดับผู้จัดการรู้สึกว่าทิศทางการทำงานของตนเองไม่สอดคล้องกับพนักงานเอาซะเลย ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 งานวิจัยชี้ว่า 73% ของพนักงานชอบที่การทำงานแบบ hybrid และหวังว่าองค์กรจะดำเนินนโยบายนี้ต่อไป หรือถึงขั้นประกาศใช้ถาวร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม เมื่อกว่า 50% ของหัวหน้างานกลับจำเป็นต้องออกคำสั่งให้พนักงานเหล่านี้กลับเข้าออฟฟิศแบบ full time ตามนโยบายของผู้บริหาร⁣⁣
⁣⁣
ทำไมตัวเลขจึงขัดแย้งกันได้มากขนาดนี้ ลองพิจารณาจากชุดข้อมูลต่อไปนี้ประกอบ เมื่อฝั่งพนักงานเกิน 80% เชื่อว่าการทำงานไม่ว่าจากที่ใดก็ตามล้วนให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน หรือเผลอ ๆ จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเมื่อไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ด้วยไม่ต้องรีบตื่นเพื่อเผื่อเวลาแต่งตัวเดินทาง ทำให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เมื่อตื่นมาแล้ว อาจยังได้ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ทำอาหารเช้า อ่านข่าว ซึ่งล้วนแต่เป็นวิถีชีวิตที่เป็นทั้งอาหารสมองและส่งเสริมให้การทำงานตลอดทั้งวันมีประสิทธิภาพสูงขึ้น⁣⁣
⁣⁣
ในขณะที่ฝ่ายบริหารกว่า 54% ยังคงกังวลว่าการทำงานแบบ hybrid นั้นไม่ก่อให้เกิด productivity สุดท้ายจึงกลายเป็นว่าผู้จัดการรู้สึกว่าตนเองไร้ซึ่งอำนาจและทรัพยากรในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ โดยในมุมของกลุ่มคนเหล่านี้ อาจมองเห็นปัญหาหรือช่องว่างได้ชัดกว่าผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปก็เป็นได้ เหตุเพราะมีความใกล้ชิดหรือสนิทสนมกับพนักงานภายในทีมมากกว่า ⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣

ผู้บริหารหรือ HR ต้องฉายภาพประโยชน์ในการมีอยู่ของออฟฟิศ⁣⁣

⁣⁣
หลายองค์กรพยายามเป็นอย่างมากในการขอให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ แต่กลับลืมตอบคำถามสำคัญที่สุดกับพนักงาน คือ “WHY” … ทำไมต้องกลับเข้าออฟฟิศ ด้วยฝั่งพนักงานมีความเชื่อแรงกล้าและผลลัพธ์ปลายทางมากมายที่อาจพิสูจน์ได้ว่า hybrid workplace ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ⁣⁣
⁣⁣
จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บริหารและ HR ในการสร้างเหตุผลในการดำรงอยู่ของออฟฟิศ โดยอาจเป็นได้ทั้งความจำเป็นในเชิงธุรกิจ หรือการสร้าง company ritual อะไรบางอย่างขึ้นมา ที่สุดท้ายจะไม่ใช่แค่การดึงคนกลับมา แต่เป็นการใช้เวลาของพนักงานให้คุ้มค่าที่สุดได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขสมการความคุ้มค่าที่เปลี่ยนไปดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อแรก⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣

Flexible work ไม่เท่ากับคำว่า Always on⁣⁣

⁣⁣
ท้ายที่สุด แม้องค์กรอาจปักธงให้ flexible work เป็นรูปแบบการทำงานกึ่งถาวรก็ตาม แต่ก็ยังมีโจทย์ที่จะต้องทำให้การทำงานแบบยืดหยุ่นนี้ ดำเนินต่อไปได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ⁣⁣
⁣⁣
Microsoft ได้เปิดเผยชุดตัวเลขที่น่าสนใจจากการสำรวจภายในองค์กรของตนเอง โดยพบว่ารูปแบบการทำงานแบบ hybrid ทำให้ workday span เพิ่มขึ้น 13% after hours หรือ OT ทิพย์เพิ่มขึ้น 28% weekend work เพิ่มขึ้น 14% การประชุมเพิ่มขึ้น 252% และการส่งแชทเรื่องงานเพิ่มขึ้น 32% ⁣⁣
⁣⁣
ตัวเลขเหล่านี้บ่งชี้พฤติกรรมสำคัญ คือ flexible work กลายเป็น always on สำหรับพนักงานหลาย ๆ คน ซึ่งในความเป็นจริง การที่พนักงานเลือกทำงานแบบ hybrid ก็ไม่ได้หมายความว่ายอมแลกกับการทำงานหนักสลับเบาแบบ 24/7 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรต้องกำหนดกฎการทำงานแบบใหม่นี้ขึ้นมาร่วมกัน เพื่อไม่ให้ความยืดหยุ่นของใครบางคน ไปสร้างคำว่า always on ให้ใครอีกคน⁣⁣
⁣⁣
::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
สุดท้ายนี้ เราอาจพูดได้ว่า The Great Shuffle คือวิวัฒนาการที่ว่าด้วยความเชื่อ ทัศนคติ และความคิดของคนที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยมีปัจจัยด้านโรคระบาดโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ส่งผลให้พนักงานหนึ่งคนที่กำลังจะต้องกลับเข้าออฟฟิศในวันนี้ อาจมีตัวตนที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับตัวเองตอนที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศอย่างมีความสุขเมื่อต้นปี 2020 ก็เป็นได้⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture⁣⁣
.
.
>>>>

Source:
https://hbr.org/2022/03/5-key-trends-leaders-need-to-understand-to-get-hybrid-right
https://www.microsoft.com/en-us/worklab/work-trend-index

.
.

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search