ไม่ว่าเราจะเป็นคนทำงานที่กำลังชายตามองหาโอกาสใหม่ ๆ หรือเด็กจบใหม่ที่กำลังเข้าสู่โลกการทำงานเป็นครั้งแรก สิ่งหนึ่งที่พอเป็นที่รู้กันคือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ทั้งสัญชาติไทยและเทศมักจะมีแม่เหล็กขนาดใหญ่กว่าในการดึงดูดความสนใจของเรา โดยเฉพาะ “ความมั่นคง” และ “สวัสดิการ” ตลอดจนชื่อเสียงของแบรนด์เหล่านั้นที่จะแปะอยู่บนหน้าผากทำให้เรารู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ และเชื่อมั่นว่าเมื่อได้รับการประทับตราด้วย branding นั้นแล้ว จะไปไหนต่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ตัดภาพมาที่สตาร์ทอัพ คำ ๆ แรกที่น่าจะแว่บเข้ามาในหัวของพวกเราแทบทุกคนคือ “ความเสี่ยง” เสี่ยงนำความศรัทธาส่วนตัวเข้าแลกว่าบริษัทจะไปได้ไกลและประสบความสำเร็จ เสี่ยงเข้ารับเงินเดือนน้อยกว่าหน่อยเมื่อเทียบกับองค์กรยักษ์ใหญ่แลกกับการเติบโตแบบ (อาจจะ) ก้าวกระโดด
เกริ่นด้วยข้อดีขององค์กรขนาดใหญ่เทียบกับความเสี่ยงของสตาร์ทอัพแบบนี้ก็ดูจะลำเอียงไปสักนิด จึงเป็นที่มาของกาแฟแก้วนี้ที่เราจะพูดกันอีกถึงหนึ่งปัจจัยควรพิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะทำงานในองค์กรเล็กหรือใหญ่ โดยอาจเป็นปัจจัยที่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึงอย่างละเอียดที่ถ้วนนักนั่นคือ “ประสบการณ์ที่จะได้รับ” นั่นเอง
เจ้าของบทความต้นฉบับชื่อคุณ Ajaya Loya ผู้เป็น Engineering Manager ที่เคยทำงานทั้งกับ Fortune 500 Companies นับไม่ถ้วน เรื่อยมาถึงเทคสตาร์ทอัพที่มีคนทำงานไม่ถึงยี่สิบคน โดยเขาได้เกริ่นไว้อย่างน่าสนใจว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์หนึ่งเดือนกับสตาร์ทอัพยังมากกว่าประสบการณ์หนึ่งปีในองค์กรขนาดใหญ่ซะอีก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับโจทย์ของตัวเราเองว่าต้องการอะไรในชีวิต ณ ตอนนี้ โดยหากเป็นความมั่นคงพ่วงสวัสดิการจัดเต็มคำตอบก็ย่อมชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากเรามองหาประสบการณ์ระดับเข้มข้นขั้นสุดที่มาพร้อมโอกาสในการพัฒนาตนเองแบบติดจรวด คุณ Ajaya ก็ได้ลิสต์มาให้พวกเราแล้วสี่ข้อถึงประสบการณ์ที่สตาร์ทอัพจะมอบให้กับเราดังนี้ครับ
1. โอกาสในการสวมหมวกหลายใบเพื่อวางระบบองค์กร
เมื่อทำงานในสตาร์ทอัพ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าเราจะใช้สัดส่วนเวลาจำนวนมากของวันไปกับการค้นหาแสงเหนือนำทางให้กับองค์กร แสงเหนือที่จะบอกทุกคนในบริษัทว่าควรทำอะไร อย่างไร ให้สำเร็จได้ยังไง ซึ่งหมายความว่างานของเราจะไม่ถูกจำกัดอยู่ที่ job description บนหน้ากระดาษอย่างแน่นอน แต่อาจหมายรวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ รายวัน ตลอดจนการมีโอกาสได้สัมภาษณ์และเทรนพนักงานใหม่เข้าทีมของเรา การสวมหมวกหลายใบในเวลาเดียวกันจะทำให้เรารู้ลึกเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทอย่างหมดไส้หมดพุงชนิดที่สามารถอธิบายว่าบริษัททำอะไรและอย่างไรได้เป็นฉาก ๆ แม้การสวมหมวกหลายใบเพื่อออกแบบระบบการทำงานนี้จะเหนื่อยและดูดพลังงานเป็นอย่างมาก แต่เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเพาะปลูกของเรา นี่คือรางวัลแห่งความสำเร็จที่ประเมินค่าไม่ได้
2. โอกาสในการบริหารจัดการคน
ในสตาร์ทอัพชนิดที่เพิ่งจะตั้งไข่มักจะยังไม่มีฝ่ายทรัพยากรบุคคล โดยเมื่อบริษัทเริ่ม scale up ไปตามกาลเวลาก็อาจเป็นเรานี้เองที่ต้องสัมภาษณ์รับคนเข้ามาและบริหารพวกเขาเหล่านั้นเพื่อสร้างทีมของเรา นี่ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้เรื่องคนได้มากกว่าในองค์กรขนาดใหญ่ที่มี HR และ Training Department คอยช่วย การสวมหมวกภาคบังคับใบนี้หากเราอยากทำให้ดีไม่แพ้กันก็จะต้องพาตัวเองไปเรียนรู้วิธีการที่ถูกต้อง ทั้งการลงเรียนคอร์สออนไลน์หรือเข้าฝึกอบรมเพื่อเสริมทักษะความรู้ เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตที่เราอาจเติบโตไปเป็นผู้บริหาร เราจะเป็นผู้นำคนหนึ่งที่มีทักษะการบริหารคนที่แข็งมากซึ่งถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดแห่งยุคเลยทีเดียว
3. โอกาสในการทำงานไปแก้ปัญหาไป
จริงอยู่ที่ปัญหามีอยู่ทุกที่ ไม่เกี่ยงว่าองค์กรจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่ในสตาร์ทอัพเราอาจจะขอมีสิบหน้าอย่างทศกัณฐ์เพราะปัญหาจะประดาเข้ามาจากทุกทิศให้ต้องแก้ไขอยู่แทบจะทุกวัน ข้อดีอย่างหนึ่งคือไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อมหรือฟันฝ่าลำดับขั้นอย่างที่มีในองค์กรขนาดใหญ่ (hierachy) โดยสภาพแวดล้อมจะส่งเสริมให้เรามีความหนักแน่นและตรงไปตรงมามากขึ้น (แต่ก็อย่าละทิ้งความนอบน้อมและใช้วิธีการสื่อสารอย่างมีศิลปะ) เกิดเป็นความคุ้นชินในการรับมือกับการทำงานภายใต้แรงกดดันได้เป็นอย่างดี
4. โอกาสในการขยับตัวได้เร็ว ปรับตัวได้เร็ว
เมื่อสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีขนาดเล็กลง คุณก็จะยิ่งมีโอกาสเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจัดการกับลำดับความสำคัญ การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็น ซึ่งในฐานะที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของทีมเล็กๆ มันจึงง่ายมากที่คุณจะยกมือขึ้นและพูดว่า “เราจำเป็นต้องแก้ปัญหานี้” และลงมือคิดหาทางออก แล้วเดินหน้าต่อไป
ในขณะเดียวกันพออย่ในฐานะสตาร์ทอัพเรื่องของลำดับชั้นที่น้อยลง การขออนุญาตที่น้อยลง มันจึงช่วยให้คุณโฟกัสในเรื่องของการพัฒนากระบวนการและวัฒนธรรมของคุณได้มากขึ้น
ไม่ว่าเราจะเป็นพนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่กำลังพิจารณากระโดดสู่สนามสตาร์ทอัพ หรือเด็กจบใหม่ที่รู้สึกว่าองค์กรขนาดเล็กดูจะมีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับตัวตนมากกว่า ก็อย่าลืมนำข้อควรรู้ข้างต้นไปประกอบการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยหากเราเป็นผู้มองหาโอกาสในการสร้างเสริมประสบการณ์ดังสามข้อข้างต้นที่กล่าวมา คือ ได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็วและไม่แน่นอน โดยมีรางวัลปลายทางเป็นทักษะหลายแขนงที่จะเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น สตาร์ทอัพก็อาจเป็นคำตอบที่เรามองหาครับ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.