Logic Mapping เครื่องมือช่วยแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (A complex problem)


หากเราตั้งคำถามกับคน 100 คนว่า “คุณมีความรู้สึกอย่างไรกับคำว่า “ปัญหา”? เชื่อว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งน่าจะได้คำตอบไปในทางลบ และมีความรู้สึกว่าปัญหาเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ที่จะต้องคิดหาวิธีไปแก้ไขไปจัดการ แต่ในทางตรงกันข้ามคำว่า “ปัญหา” กลับเป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องพบเจออยู่เสมอ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกลบหรือบวกกับมันก็ตาม…


บทความหนึ่งของ Dr. Hazel Bradshaw ซึ่งเป็นนักคิดและนักเขียน ที่เชี่ยวชาญในด้านการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้คิดค้นโมเดลในการจัดการกับปัญหาที่มีความซับซ้อน ได้เขียนถึงประเด็นเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันว่า… มีความซับซ้อนมากขึ้น (Complexity) ซึ่งเป็นความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในหลายระดับของการใช้ชีวิต ตั้งแต่ความซับซ้อนในโลกกายภาพ ในโลกดิจิทัล ในโลกการดำเนินธุรกิจ ในด้านเศรษฐกิจ ในด้านสังคม ไปจนถึงความซับซ้อนในด้านสิ่งแวดล้อม


และปัญหาหนึ่งที่มักพบเจอคือ คนจำนวนมากขาดทักษะในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex problem solving skill) ซึ่ง Dr. Hazel ได้เสนอเครื่องมือหนึ่งที่ชื่อว่า Logic mapping ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยคลี่ปัญหาที่ซับซ้อนและทับซ้อนให้คลายออก ให้เห็นภาพรวมของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญของ Logic Mapping คือ การเคลียร์ “ความเชื่อมโยง” ของความสัมพันธ์ของสาเหตุปัญหาแต่ละตัว ซึ่งจะมองแค่เพียงตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องมองในภาพรวมหรือองค์รวมของทั้งระบบที่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือมีอิทธิพลต่อกัน


ฉะนั้น เครื่องมือ Logic Mapping จึงไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มองออกจากมุมของผู้ตั้งปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่มองผ่านมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มเป้าหมายด้วย (audience experiences) ทั้งในแง่ของความต้องการ แรงจูงใจ และ pain point ที่เกิดขึ้น // หากพูดถึงในแง่ขององค์กร เครื่องมือ Logic Mapping สามารถเข้าไปช่วยในหลายแง่มุม ตั้งแต่การช่วยให้องค์กรมองเห็นปัญหาและเห็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร ช่วยในเรื่องการวางแผน ร่วมถึงความสามารถในการตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาได้อย่างตอบโจทย์


ซึ่งเครื่องมือตัวนี้จะมีกระบวนการ 6 ขั้นตอนสำคัญในการเข้าไปแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ได้แก่


1. ระบุปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem) – เริ่มต้นด้วยการระบุปัญหาที่มีความซับซ้อนนั้นๆ ที่คุณกำลังเผชิญอยู่ เช่น การเข้ามาของธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายและลูกค้าที่หายไป


2. ระบุเป้าหมายที่ครอบคลุม (Overarching Goal) – ขั้นนี้คุณต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ซึ่งเป้าหมายนี้จะใช้เป็นกรอบทิศทางในการมุ่งไป เช่น เป้าหมายคือการกระตุ้นยอดขายและเพิ่มแนวทางใหม่ๆ ในธุรกิจ


3. ระบุประเภทของกลุ่มเป้าหมาย (Audience Types) – คือ การระบุผู้ที่ได้รับผลกระทบโดนตรงจากปัญหาที่มีความซับซ้อนนี้ เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายแผนธุรกิจ หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจของเรา เป็นต้น


ซึ่งในขั้นนี้เราต้องลงไปทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มด้วยว่า “อะไรคือตัวกระตุ้นหรือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนนี้”  ซึ่งแรงจูงใจนี้ ควรหาให้เจอทั้งแรงจูงใจภายใน (เช่น เชื่อมโยงกับคุณค่า ค่านิยม หรือจุดมุ่งหมายส่วนตนของคนผู้นั้น) และแรงจูงใจภายนอก (มักเกิดจากการนำสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้บุคคลเกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความสำเร็จในงาน การให้รางวัลจูงใจ หรือการแข่งขัน เป็นต้น) 


4. Pain-points หรือที่มาของปัญหา (Problem statements) – คือ การเข้าไประบุ Pain-points หรือที่มาของปัญหา ของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยควรเชื่อมโยงไปถึงแรงจูงใจหรือตัวกระตุ้นให้เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับปัญหาที่ซับซ้อนนี้


5. ข้อจำกัด (Constraints) – การระบุข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการแก้ไข Pain-points หรือที่มาของปัญหานั้นๆ สิ่งข้อจำกัดนี้อาจใหญ่ถึงเรื่องอุปสรรคทางกฏหมาย หรือข้อจำกัดเรื่องเวลา ข้อจำกันด้านทรัพยากร หรือข้อจำกัดเรื่องคน เป็นต้น 


6. แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น (Emerging Concepts) – สุดท้ายคือการลิสต์แนวทางที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา อาจเป็นการเข้าไปแก้ที่กระบวนการทำงาน หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ไปเลย หรืออาจจะเป็นการแค่การลดหรือเพิ่มขั้นตอน 1 อย่าง ก็อาจเป็นได้


ฉะนั้น ในขั้นสุดท้ายนี้ แนวคิดใดก็ตามหรือข้อเสนอใดที่เกิดขึ้น คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อสันนิษฐานนั้นๆ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเชื่อมโยงกับแรงจูงใจของกลุ่มเป้าหมาย มิฉะนั้น จะกลายเป็นว่าคุณคิดวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาจากตนเองและสุดท้ายจบลงที่ไม่มีใครอยากใช้


สุดท้ายนี้ การแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน อาจไม่สามารถใช้แนวคิดแบบเดิม ๆ หรือใช้มายเซตเดิมว่าตัวเองรู้อยู่แล้วว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร (เพราะเคยผ่านมา) ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงสูง การพัฒนาทักษะคนในองค์กรให้มีวิธีคิดหรือมีเครื่องมือ ก็เป็นสิ่งที่แนะนำ


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

References:
https://www.linkedin.com/pulse/logic-mapping-game-design-complex-problems-dr-hazel-bradshaw/
https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/054-Complex-Problem-Solving
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search