“Kids these days effect” หรือคำว่า “เด็กสมัยนี้” ฝังรากลึกในโครงสร้างของชีวิตในสังคมและองค์กร ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ภาพเหมารวมและอคติระหว่างกลุ่มภายใน-ภายนอก ที่ส่งผลอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่น (generation gap) การทำความเข้าใจว่าปรากฏการณ์นี้คืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้นำองค์กรที่ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งสริมความร่วมมือ (collaboration) และนวัตกรรม
🔴 Kids these days effect คืออะไร?
ปรากฏการณ์นี้หมายถึงประเด็นซ้ำๆ ที่คนรุ่นก่อนมองว่าคนรุ่นหลังขาดคุณสมบัติหรือคุณค่าบางอย่าง ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าตนเองมีมากมายในวัยเดียวกัน ผลกระทบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายศตวรรษ หรือแม้กระทั่งหลายพันปี ยกตัวอย่างเช่นอริสโตเติล ที่มักถูกยกมากล่าวถึงคำวิจารณ์ของเขาที่มีต่อคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างคนต่างรุ่นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
🔴 ทำไม Kids these days effect จึงเกิดขึ้น?
สาเหตุที่แท้จริงของผลกระทบ “Kids these days effect” มีสองประการ ที่เกี่ยวข้องกับพลวัตทางจิตวิทยาและสังคมวัฒนธรรม:
Stereotyping:
กระบวนการทางความคิดนี้เกี่ยวข้องกับการมองลักษณะของกลุ่มคนอย่างง่ายๆ เกินไป ในบริบทของ generation gap คนรุ่นก่อนอาจใช้ภาพเหมารวมกับคนรุ่นหลังจากการสังเกตแค่ผิวเผิน ไม่สามารถเห็นถึงความหลากหลายและความซับซ้อนภายในกลุ่มคนแต่ละรุ่น การใช้ภาพเหมารวมนี้มักสะท้อนให้เห็นการเปรียบเทียบแบบลดทอนความซับซ้อน ละเลยการเปลี่ยนแปลงของบรรทัดฐานและความท้าทายในสังคมที่แต่ละรุ่นต้องเผชิญ
Ingroup-Outgroup Bias:
อคตินี้เป็นแง่มุมพื้นฐานของจิตวิทยามนุษย์ ที่บุคคลจัดกลุ่มตนเองและผู้อื่นเป็น “พวกเรา” (กลุ่มภายใน) และ “พวกเขา” (กลุ่มภายนอก) อคตินี้ช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและอัตลักษณ์ภายในกลุ่มตน แต่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้ ในบริบทของความแตกต่างระหว่างวัย คนรุ่นก่อนอาจมองคนรุ่นหลังเป็น “กลุ่มภายนอก” แยกแยะจากค่านิยม พฤติกรรม หรือทัศนคติที่รับรู้ว่าขัดแย้งกับของตน
🔴 องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จาก Kids these days effect ได้อย่างไรบ้าง?
การเข้าใจพลวัตเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้นำที่ต้องบริหารจัดการกับความซับซ้อนของworkforce หลายรุ่น เหตุผลเบื้องหลัง Kids these days effect ทำให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้นำต้องเผชิญในการสร้างวัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่าง ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละรุ่น
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม:
แต่ละรุ่นเติบโตในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อค่านิยม จริยธรรมการทำงาน และวิธีการสื่อสารของพวกเขา ผู้นำจึงจำเป็นต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อให้เห็นคุณค่าของมุมมองที่หลากหลายในทีมของตน
การตระหนักถึงอคติ:
การรับรู้ถึงแนวโน้มตามธรรมชาติที่มีต่อการใช้ภาพเหมารวมและอคติ จะช่วยให้ผู้นำสามารถลดทอนผลกระทบเหล่านั้นได้ ส่งเสริมให้มีการชื่นชมในคุณูปการของแต่ละบุคคลอย่างเป็นกลางมากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงการสังกัดรุ่น
การส่งเสริมความร่วมมือ:
ผ่านการทำความเข้าใจถึงต้นตอของความขัดแย้งระหว่างรุ่น ผู้นำสามารถออกแบบแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างรุ่น เปลี่ยนจุดขัดแย้งที่มีโอกาสเกิดขึ้นให้กลายเป็นโอกาสในการสรรสร้างและพัฒนา
บทสรุป —เมื่อประเมินประเด็น generation gap ใหม่อีกครั้ง เราจะเห็นได้ชัดว่า ประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแตกต่างที่จับต้องได้ระหว่างคนต่างรุ่นมากนัก แต่กลับเกี่ยวพันกับกลไกทางจิตวิทยาที่รองรับการรับรู้ถึงความแตกต่างเหล่านี้มากกว่า แก่นแท้ของปรากฏการณ์ “เด็กสมัยนี้” ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงความแตกแยกที่ข้ามผ่านไม่ได้ระหว่างกลุ่มคนต่างวัย หากแต่เป็นภาพสะท้อนของแนวโน้มตามธรรมชาติของมนุษย์ในการจัดหมวดหมู่ สร้างภาพเหมารวม และมีอคติระหว่างกลุ่มภายใน-ภายนอก กระบวนการทางจิตวิทยาเหล่านี้เป็นสากล ส่งผลต่อวิธีการที่เรารับรู้และสัมพันธ์กับผู้อื่นบนพื้นฐานของการเป็นสมาชิกกลุ่ม รวมถึงเส้นแบ่งระหว่างคนต่างรุ่นด้วย
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.