Google ใช้ Motto ที่โด่งดังอันนี้มาตั้งแต่ปี 2004 ที่เริ่มเปิด IPO แรกเริ่มเดิมทีวลี Don’t be evil เป็นวลีที่เกิดในช่วงปี 1999 ถึง 2001 จากพนักงานใน Google เอง ซึ่งแม้แต่ Google เองก็ไม่แน่ใจว่าเกิดจากพนักงานคนไหนกันแน่ระหว่าง Paul Buchheit หรือ Amit Patel


โดย Paul Buchheit เล่าว่าเหตุผลที่เสนอข้อนี้มาเพราะนอกจากที่เขาอยากจะแซวหลายๆ บริษัทที่ในขณะนั้นเขามองว่ามีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภคหลายๆ แห่งแล้ว เขาก็ต้องการให้ Google มีสโลแกนที่ถ้าประกาศออกไปแล้วมันจะถอยยากมากๆ และ Paul Buchheit ก็ได้ตามที่เขาต้องการ เพราะวันนี้เราจะมาชวนทุกท่านมาดูความศักดิ์สิทธิ์ของวลีนี้ หลังจากมีหลายเหตุการณ์เข้ามาทดสอบวลี Don’t be evil อยู่หลายครั้ง แต่ Google กลับไม่สามารถถอดวลีนี้ออกจากองค์กรได้เลยจนถึงปัจจุบัน


ย้อนกลับไปตอนช่วงก่อน Google จะเข้า IPO CEO ของ Google ในเวลานั้น Eric Schmidt เองก็มองว่าการใส่ Don’t be evil เป็นแกนหลักของวัฒนธรรมองค์กรนั้นเป็นไอเดียที่ไม่ดี เพราะมันจะกลายเป็นข้อจำกัดในด้านธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน แต่แล้ว Eric Schmidt เองก​็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อพบกับเหตุการณ์หนึ่งที่ในระหว่างการประชุมเพื่อวางแผนสินค้ามีพนักงานคนหนึ่งได้ใช้สโลแกนนี้ในการสื่อสารความกังวลของตัวเขาว่าสินค้าตัวนี้อาจจะกำลังทำให้ Google เป็น evil และทำให้วาระตกไป ทำให้ Eric Schmidt ประทับใจวลีนี้ขึ้นมา และกลับมามองเห็นถึงความสำคัญ และประสิทธิภาพของสโลแกนนี้ในฐานะแกนหลักของวัฒนธรรมองค์กรในแบบของ Google


Google จึงเริ่มใช้ Motto นี้อย่างเป็นทางการในครั้งแรกตอนปี 2004 ในช่วงของการ IPO โดยจดหมายดังกล่าวภายหลังถูกเรียกว่า Don’t be evil manifesto และหลังจากนั้นจนถึงตอนนี้แทบจะทุกคนต่างก็ต้องเคยได้ยินวลีนี้มาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และหลายคนเองก็ยังคงจำได้ว่าวลีนี้แหละคือ Motto ของ Google แต่แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกคนรู้จัก Google ไปพร้อม ๆ กับความ Don’t be evil นี้ แต่ในทางกลับกันวลีนี้กลับกลายเป็นอาวุธที่หลายคนหยิบมาใช้เพื่อสวนไปยัง Google เมื่อทางบริษัทเริ่มที่จะทำการตลาดโดยใช้ข้อมูลลูกค้า โดยกรณีที่หนักสุดคือในปี 2012 ที่ Google ตัดสินใจประกาศว่าจะเริ่มติดตามข้อมูลผู้ใช้ผ่านทุก ๆ Platform ที่เป็นของ Google ทำให้ผู้ใช้หลาย ๆ คนมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนกังวลกับองค์กรนี้มาจนปัจจุบัน โดยในตอนนั้นสื่อหลาย ๆ เจ้าต่างพาดหัวข่าวนี้ไปในทางที่ว่า Google กำลังไม่รักษาสัญญาที่ว่าจะไม่เป็น evil


ต่อมาอีก 3 ปีหลังจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของ Google ในปี 2015 Google เลือกที่เปลี่ยน Motto หลักให้เป็น “Do the right thing” ทำให้นักวิชาการในวงการธุรกิจมองว่าสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการที่ Google ต้องการความยืดหยุ่นทางศีลธรรมมากกว่าเดิม เพราะไม่ว่าสำหรับธุรกิจใดคำว่า “Don’t be evil” นั้นเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานในการทำงานที่สูงลิ่วจนหลายคนมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้จริง และเพื่อลดแรงเสียดทานของการที่วลีนี้ย้อนกลับมาทิ่มแทง Google อีกในอนาคต แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตอนนี้ Google จะเริ่มทำชั่ว หรือเริ่มเป็น evil แต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้ววลีที่ว่า “Don’t be evil” ก็ไม่ได้หายไปจาก Google เพียงแต่ลดระดับลงมาอยู่เป็นคำขึ้นต้นใน Code of conduct ของ Google


นั่นทำให้ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาวลี “Don’t be evil” ก็ยังคงอยู่กับ Google มาโดยตลอดไม่ว่าจะมีการปรับ Code of conduct มากี่ยุคกี่สมัย Google จะขึ้นต้นเอกสาร Code of conduct ด้วยวลีนี้มาโดยเสมอพร้อมกับมีการใช้วลีนี้ในหลาย ๆ ประโยคข้างในเอกสารจนกระทั่งปี 2018 โดยในปี 2018 ช่วงกลางปี Google ก็ได้มีการอัปเดท Code of conduct อีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างมาก ๆ คือการที่ Google ถอดวลีอันโด่งดังนี้ออกจากการขึ้นต้น Code of conduct และไม่มีการพูดถึงวลีนี้อีกเลยจนเหลือเพียงประโยคทิ้งท้ายที่พูดว่า “And remember… don’t be evil, and if you see something that you think isn’t right – speak up!”


การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้หลาย ๆ คนพากันแซวกันอย่างสนุกปากกันไปในทางที่ว่า Google เริ่มพร้อมกระทำความชั่วแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งมันอาจมองได้ว่ามันก็เป็นกรณีศึกษาของวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องคอยปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับยุคสมัย และธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น และอีกบทเรียนสำคัญคือในเรื่องของการเลือกใช้คำที่สื่อสารได้ชัดเจนถึงวัฒนธรรมองค์กร เพราะในตอนแรก Google มีความตั้งใจที่จะใช้วลีนี้ในการพูดถึงการทำไม่พฤติกรรมเช่นการสแปม และสปายแวร์ต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อปล่อยออกไปแล้วทำให้หลายคนเข้าใจไปในรูปแบบที่กว้าง และตีความไปในแบบฉบับของตนเองซึ่งแน่นอนว่า Google เองก็ไม่สามารถที่จะถอยได้แล้วเช่นกัน จึงต้องค่อย ๆ เริ่มถอดวลีนี้ออกทีละนิด ทีละนิด ซึ่งต่อให้ในสุดท้าย Don’t be evil อาจจะเหลือเป็นเพียงประวัติศาสตร์หนึ่งของ Google แต่เราก็ชื่อว่าทุกท่านคงไม่ได้จินตนาการถึงภาพที่ว่าวันหนึ่ง Google จะกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมขึ้นมาแน่นอน


A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture

.
.
>>>>
แหล่งที่มาของข้อมูล

https://gizmodo.com/googles-broken-promise-the-end-of-dont-be-evil-5878987

https://www.businessinsider.com/google-downgrades-dont-be-evil-2018-5

.
.

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search