Downfall of Boeing: ฤ วัฒนธรรมองค์กรเป็นเหตุ

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทุกท่านคงจะได้เห็นข่าวโศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อเครื่องบินแบบ Boeing 737-800 แห่งสายการบินไชน่าอีสเทิร์น ตกลงกลางหุบเขาพร้อมผู้โดยสารกว่า 132 ชีวิต โดยขณะนี้ทางการจีนสั่ง ground เครื่องบินรุ่นนี้ของ Boeing ทั้งหมดแล้ว⁣

หากนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา นี่ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วกับอุบัติเหตุเครื่องบินตกของ Boeing โดยสองครั้งก่อนหน้าเกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่น 737-max เหตุการณ์เครื่องบินตกถึง 3 ครั้งในรอบ 4 ปีถือว่าถี่ผิดปกติในโลกการบินสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังพูดถึงชื่อชั้นและความน่าเชื่อถือของบริษัทผลิตเครื่องบินเบอร์หนึ่งของโลก⁣

คำถามสำคัญที่ตามมาคือเกิดอะไรขึ้นกับ Boeing? ⁣

ทำไมบริษัทซึ่งเปรียบดั่งนกยักษ์ค้ำฟ้าที่ใคร ๆ ก็เคยยกขึ้นหิ้งและมองเป็นแบบอย่างด้านวิศวกรรมตลอดเกือบศตวรรษที่ผ่านมา กลับกำลังเผชิญวิกฤติการณ์ด้านความน่าเชื่อถือและถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยจากคนทั่วโลกมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน?⁣

::::::::::::::::::⁣

ผู้เขียนมีโอกาสได้รับชมสารคดีที่มีชื่อว่า Downfall: The Case Against Boeing ว่าด้วยการตีแผ่เบื้องหลังเหตุการณ์เครื่องบินรุ่น Boeing 737-max ที่ตกสองครั้งในระยะเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน ระหว่างปลายปี 2018 ต่อต้นปี 2019 ซึ่งก็คือเหตุการณ์สองจากสามครั้งดังที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้นนั่นเอง ⁣

เชื่อหรือไม่ว่าแม้เหตุที่ทำให้เครื่องบินตกจะเกิดจากความขัดข้องด้านเทคนิค แต่รากของปัญหา (root cause) ที่สารคดีเรื่องนี้เปิดประเด็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องของ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เอาจริง ๆ น้อยคนมากที่จะคิดไปถึงประเด็นนี้ ⁣

ท่ามกลางการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ที่ยังคงดำเนินต่อไป วันนี้ A Cup of Culture ขอหยิบยกประเด็นสำคัญจากสารคดี Downfall ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ผิดเพี้ยน ทำให้ยักษ์ค้ำฟ้าอย่าง Boeing กำลังเผชิญกับวิกฤติเฉกเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร มาฝากกันครับ⁣

Boeing … ชื่อนี้ชวนให้เรานึกถึงบริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่มีอัตลักษณ์เด่นชัดในด้านนวัตกรรมและความปลอดภัย ถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า If it’s not Boeing, I’m not going คือถ้าไม่ใช่เครื่องบิน Boeing ฉันจะไม่เดินทางเลยทีเดียว ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจในความปลอดภัยที่คนทั่วโลกมีให้กับบริษัทแห่งนี้⁣

:::::::::::::::::::⁣

ย้อนกลับไปในยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดราว ๆ ปี 1960 ถึงปี 1990 Boeing คือแม่เหล็กดึงดูดวิศวกรหัวกะทิระดับโลก โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนเก่งอยากทำงานที่นี่เป็นเพราะบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรอันเลื่องชื่อ เรียกว่า “Culture of Telling Bad News” คือ พนักงานทุกคนสามารถถกเถียงประเด็นที่น่ากังวลในระหว่างกระบวนการออกแบบและผลิตเครื่องบินได้อย่างอิสระ มีปากเสียงไปถึงหัวหน้าและผู้บริหารได้เต็มที่เมื่อเกิดสิ่งที่ไม่ถูกต้องขึ้น และก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการทำงานที่นี่ไม่มีขั้นตอนลัด เพราะเชื่อว่าคุณภาพและความปลอดภัยต้องมาก่อน และผลกำไรจะตามมาเอง ⁣

เมื่อทุกคนเห็นภาพเดียวกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้น ผู้บริหารพูดกับพนักงานว่า ฝากทุกคนดูแล Boeing ด้วย และ Boeing จะดูแลชีวิตพวกคุณเอง เป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวที่พร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน วัฒนธรรมอันแน่นแฟ้นนี้เองที่นำพา Boeing ไปสู่จุดสูงสุดในปี 1969 เมื่อบริษัทเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์รุ่น 747 หรือจัมโบ้ อันเป็นการพลิกโฉมโลกการบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อการโดยสารโดยเครื่องบินเป็นสิ่งที่ทุกคนเอื้อมถึงได้ มาถึงตรงนี้ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนี้มาจากวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ที่ทำให้ คน ขับเคลื่อนกลยุทธ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ⁣

อย่างไรก็ตาม ในปี 1997 เกิดการควบรวมกิจการขึ้นระหว่าง Boeing กับบริษัท McDonnell Douglas พร้อมด้วยซีอีโอและทีมผู้บริหารชุดใหม่ทั้งหมด และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ได้พลิกชะตาขององค์กรแห่งนี้ไปตลอดกาล⁣

:::::::::::::::::⁣

ด้วยทีมผู้บริหารชุดใหม่ พวกเขาเข้ามาพร้อมกับแผนธุรกิจและกลยุทธ์ที่ขัดกับหลักความเชื่อเดิมทุกอย่างที่พนักงานยึดถือมาก่อนหน้านี้กว่า 30 ปี เริ่มจากการให้ความสำคัญกับการนำบริษัทไปสร้างมูลค่าบน Wallstreet เป็นลำดับแรก และเปลี่ยนทิศทางองค์กรสู่การมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางด้านการเงินอย่างเอาจริงเอาจัง พนักงานทุกคนถูกบอกว่าเราทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้น แม้แต่การประชุมของฝ่ายเทคนิคและวิศวกรรม ก็มีแต่การพูดเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ และวนเวียนอยู่กับราคาหุ้น ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ⁣

ความเชื่อเดิมเรื่องความเป็นเลิศด้านคุณภาพและความปลอดภัยถูกแทนที่ด้วยการผลิตเครื่องบินทุกลำด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมลงไปเรื่อย ๆ ยึดความเร็วในการผลิตเป็นสำคัญ ขนาดที่ว่าผู้จัดการด้านการควบคุมคุณภาพการผลิตที่เคยมีถึง 15 คนต่อกะ เหลือเพียง 1 คนต่อกะ⁣

วัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่เดิมเริ่มถูกกัดกร่อน จากการเป็นครอบครัวที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา ปัจจุบันหากใครพูดว่าเรามีปัญหาตรงนี้ คน ๆ นั้นจะถูกหักเงินเดือนหรือกระทั่งถูกพักงาน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ Boeing นับตั้งแต่ต้นปี 2000 เป็นต้นมา⁣

วัฒนธรรมที่ถูกกำหนดทิศทางด้วยกลยุทธ์ใหม่นี้ดำเนินมาเรื่อย ๆ พร้อมกับกระบวนการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยที่ลดลงไปทีละนิด จนสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบิน Boeing รุ่น 737 max ตกถึงสองครั้งภายในระยะเวลาห่างกันเพียง 4 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2018 ถึงเดือนมีนาคม 2019 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 ราย ที่น่าตกใจ คือ ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นด้วยสาเหตุแบบเดียวกันไม่มีผิด ระบบการทำงานหนึ่งของเครื่องบินรุ่นนี้มีปัญหา และ Boeing ไม่เคยแจ้งให้นักบินทราบในหลักสูตรฝึกอบรมถึงเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มเข้ามานี้ ตลอดจนขั้นตอนแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้น ทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวถูกห้ามบินทั่วโลกเป็นระยะเวลาเกือบสองปี และมีการดำเนินการฟ้องร้องมาจนถึงทุกวันนี้ ⁣

กรณีศึกษานี้ทำให้เราได้เห็นว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าชนิดที่ผู้คนจินตนาการไม่ออกว่าจะมีอะไรมาสั่นคลอนได้ ก็สะเทือนจนหาทางกลับบ้านแทบไม่ถูกได้เช่นกัน กลยุทธ์ที่ผู้บริหารมุ่งหวังว่าจะสร้างแต่ผลกำไรสูงสุดโดยไม่เลือกวิธีการ แม้จะต้องกลืนกินความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่พนักงานยึดถือมาอย่างยาวนานก็ตาม ท้ายที่สุด กลับกลายเป็นผู้บริหารเองที่สร้างวัฒนธรรมที่เปรียบดั่งแอปเปิ้ลอาบยาพิษนี้ขึ้นมา แล้วก็ถูกวัฒนธรรมใหม่นี้กลืนกินกลับเข้าไป ดังคำกล่าวที่ว่า “Culture eats strategy for breakfast” นั่นเอง⁣

และด้วยเหตุนี้ อาจทำให้ความคิดที่ผู้คนทั่วโลกมีต่อ Boeing เปลี่ยนไป โดยอาจพูดใหม่ว่า If it’s Boeing, I’m not going ก็เป็นได้⁣


A Cup of Culture⁣
———–⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣
Corporate culture⁣
Organizational culture
.
.

Source: Downfall: The Case Against Boeing (Netflix)
https://en.wikipedia.org/wiki/China_Eastern_Airlines_Flight_5735

.
.

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search