Collaboration Overload และวิธีรับมือเมื่อการร่วมงานกันมันมากเกินไป

ปัจจุบันพนักงานหนึ่งคนอาจต้องมีขั้นต่ำ 3 แอพพลิเคชั่นสำหรับติดต่องาน สำหรับส่งข้อความ อีเมล และประชุม นี่ยังไม่รวมกับที่ตอนนี้ทุก ๆ เครื่องมือทำงานถูกออกแบบมาให้มีฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันฝังลงไปด้วย อย่างเช่น Google docs ต่าง ๆ


นั่นเป็นเพราะการทำงานร่วมกันเป็นเงื่อนไขใหญ่หนึ่งของการทำงานในยุคนี้ไปแล้ว และด้วยข้อดี และผลลัพท์ทางธุรกิจที่มันสร้างให้ มันส่งผลให้เหล่าพนักงานกลับต้องพบกับช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดข้อเสียที่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงนักแต่ส่งผลต่อการทำงานของพนักงานอย่างมหาศาล นั่นก็คืออาการที่ว่า Collaboration overload หรือทำงานร่วมกันจนรวน ส่งผลให้พนักงาน Burnout ความเร่งด่วนที่เข้ามาทุกช่องทาง และการประชุมแบบทั้งวันทั้งสัปดาห์ คุณภาพความสัมพันธ์ถดถอยเนื่องจากปริมาณเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายเมื่อพนักงานเชื่อมต่อกันมาก ๆ ผลกระทบจากการที่คนใดคนหนึ่งออกกระทบกับการทำงานโดยรวมอย่างมหาศาล


ที่แย่กว่านั้นคือเมื่อพนักงานออกอาการเหนื่อยล้า หรือถึงขึ้น Burnout ปัญหานี้มักถูกตีความไปในทางของภาระงานที่มากเกินไปและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะองค์กรที่มีทรัพยากรมากพอจะแก้ปัญหาด้วยการหาคนมาเพิ่ม ซึ่งทำให้ต้องมีการทำงานร่วมกันเพิ่มขึ้น และวนกลับไปทำให้ปัญหาแย่ลงกว่าเดิม หรือการสรรหาเทคโนโลยีมาใช้เองก็ส่งผลตรงกันข้ามกับที่คิดไว้ จากรายงานเมื่อสิงหาคม 2022 พบว่าการทำงานของพนักงานองค์กรในกลุ่ม Fortune 500 ในแต่ละวันต้องสลับแอพไป ๆ มา ๆ กว่า 1,200 ครั้ง นั่นหมายถึงทั้งเวลา และสมาธิที่เสียไปในแต่ละวัน


นั่นทำให้การแก้ไขปัญหานี้อย่างตรงจุดเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในที่ทำงาน และต้องอาศัยการทำความเข้าใจปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเราสามารถติดตามงบการเงินเพื่อลดการ Overspend ได้ แต่เราไม่สามารถที่จะมีตัวเลขเพื่อติดตามการ Overwork หรือการใช้งานคนหนักไปได้


โดยการทำความเข้าใจปัญหาของ Collaboration overload ให้ได้ชัดเจนเราต้องอาศัยข้อมูลในการวิเคราะห์ โดย The Work Innovation Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของ Asana ได้ออกแบบชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกันขึ้น โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ๆ ดังนี้

  • จำนวนครั้งที่พนักงานริเริ่มการทำงานร่วมกับคนอื่น
  • จำนวนครั้งที่พนักงานถูกชวนให้ร่วมงาน
  • จำนวนทีมที่พนักงานทำงานร่วมด้วย
  • เวลาที่พนักงานใช้ไปกับการทำงานแต่ละชิ้น


การใช้ตัวชี้วัดแบบนี้เป็นตัวตั้งต้นของงานวิจัยทำให้ทีมของ Work Innovation Lab พบว่า การลำดับความสำคัญของงานที่เยอะเกินไปเป็นสาเหตุหลักของความพังในการทำงานร่วมกัน โดยพบว่า 49% ของพนักงานต้องจมอยู่กับสภาวะที่งานทุกอย่างเร่งด่วนที่เกิดจากเป้าหมายของแต่ละทีมที่ร่วมงานกันแต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกัน หรือการมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากเกินไปจนความต้องการแต่ละฝ่ายขัดแย้งกันไปมา สภาวะนี้เรียกว่า Priority overload และมันทำให้พนักงานหลงลืมงานที่สำคัญจริง ๆ ของตัวเอง และต้องจมกับงานอื่น ๆ ที่ไม่สำคัญ และเมื่อทุกคนในองค์กรอยู่ในสภาวะนี้แน่นอนว่าองค์กรก็จะไม่มีอะไรคืบหน้า


แต่นอกจากประเด็นนี้แล้วทีมยังพบว่าปัญหานี้หากระบุได้ถูกจุดจะสามารถที่จะแก้ไขได้ และได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาไว้ซึ่งหัวใจหลัก ๆ คือการที่เหล่าพนักงานจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับความสำคัญของแต่ละงานให้มากขึ้น และองค์กรสามารถช่วยได้โดยการพิจารณาถึงโครงสร้าง หรือนโยบายที่ส่งผลต่อการ Overload และการทำงานร่วมกันที่มากไป โดยหลัก ๆ แล้วทีมงานของ Work Innovation Lab ก็ได้สรุปไว้ 4 แนวทางดังนี้


1. ลงทุนกับเครื่องมือที่ช่วยพนักงานโฟกัส


ตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2021 จำนวนพนักงานที่ใช้เครื่องมือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันเพิ่มมากขึ้นถึง 44% แต่ปัญหาที่ตามมาคือเครื่องมือการทำงานร่วมกันเหล่านี้กลายมาเป็นสิ่งรบกวนสมาธิของพนักงาน ดังนั้นแทนที่จะมองหาเครื่องมือเพิ่มเติมที่ช่วยให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น องค์กรควรลงทุนกับเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานโฟกัสได้มากขึ้นมากกว่า เช่น ระบบ Automation ที่ช่วยให้พนักงานไม่ต้องสนใจงานจุกจิก


2. ให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับ Collaborative


อะไรที่วัดจะถูกพัฒนาเสมอ และตัวชี้วัดที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ก็เช่นกัน การที่พนักงานรู้จัก และเข้าใจความสำคัญของ:

  • จำนวนครั้งที่เขาริเริ่มการทำงานร่วมกับคนอื่น
  • จำนวนครั้งที่เขาถูกชวนให้ร่วมงาน
  • จำนวนทีมที่เขาทำงานร่วมด้วย
  • เวลาที่เขาใช้ไปกับการทำงานแต่ละชิ้น


จะช่วยให้พนักงานเข้าใจมากขึ้นถึงความคาดหวัง และการเปรียบเทียบตัวชี้วัดเหล่านี้กับเพื่อพนักงานจะช่วยให้ทั้งพนักงาน และองค์กรเข้าใจมากขึ้นถึงสถานการณ์การทำงานร่วมกันขององค์กรว่าตอนนี้เป็นอย่างไร ยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่หรือไม่ตัวอย่างเช่น

  • เมื่อพนักงานคนหนึ่งเห็นว่าเขากำลังใช้เวลากับงานชิ้นหนึ่งน้อยมาก เขาก็จะสามารถวางตารางเวลาเพื่อโฟกัสกับงานชิ้นนี้ให้มากขึ้นได้
  • หรือเมื่อพนักงานเห็นว่าจำนวนครั้งที่เขาริเริ่มทำงานกับคนอื่นน้อยเมื่อเทียบกับคนอื่น ก็จะรู้ตัวตัวเองอาจจะเป็นคอขวดอยู่ และเริ่มทำงานกับคนอื่นมากขึ้น


3. ริเริ่มวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ


การทำงานร่วมกันนั้นเหมือนถนนถ้าพนักงานต่างคนต่างทำตามมาตรฐานตัวเองโดยไม่มีข้อตกลงระหว่างกันก็จะเป็นถนนที่ยุ่งเหยิง รถติด และไม่มีใครไปถึงจุดหมาย ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีนั้นจะเป็นเหมือนกฏ และมารยาทบนท้องถนนที่ดี ที่จะทำให้การสัญจรราบรื่น


Best practice ของกระบวนการนี้คือหนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมงานวิจัยนี้ โดยเขาได้ออกแนวทางการใช้งานเครื่องมือการทำงานร่วมกันแต่ละชิ้นอย่างเฉพาะเจาะจง ถึงสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ เช่น ข้อมูลสำคัญต้องใช้ช่องทางทางการเท่านั้นเพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้น หรือระดับความเร่งด่วนของแต่ละเครื่องมือ เช่น เบา ๆ ให้ใช้อีเมล ตามมาด้วย Slack และโทรเมื่อด่วนสุดเท่านั้น รวมถึงระบุให้ชัดถึงว่าความด่วนแต่ละระดับหมายถึงอะไร เช่น โทรเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องต้องการคำตอบภายใน 5 นาทีเท่านั้น


4. กดปุ่ม Reset.


บางครั้งทุกอย่างอาจจะยุ่งเหยิงเกินกว่าจะค่อยเป็นค่อยไป การรีเซ็ตระบบใหม่ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และการรีเซ็ตในกรณีนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนการรีเซ็ตอื่น ๆ วิธีการหนึ่งที่นิยมใช้เรียกว่า Meeting Doomsday ที่มีลักษณะคล้าย Big cleaning สำหรับปฏิทิน คือการที่องค์กรให้พนักงานทุกคนลบการประชุมทุกสัปดาห์ในทุก ๆ รูปแบบออกไป เช่น การประชุมในลักษณะของการคุยทีมทุกวันจันทร์ และทุก ๆ การประชุมที่เป็นการประชุมประจำเดือน ประจำสัปดาห์ หรือประจำปี การทำแบบนี้ช่วยให้พนักงานหลุดออกจากกรอบแนวคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับการใช้เวลาทำงาน และคิดใหม่อีกทีว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ รวมถึงต่อให้เป็นการประชุมที่จำเป็น การสร้างนัดใหม่จะช่วยให้พนักงานตั้ง Objective และ Agenda ใหม่อีกครั้งให้ตอบโจทย์ในปัจจุบันได้มากขึ้น


แม้ปัญหาของการ Overload นี้จะส่งผลเสียต่อองค์กรมหาศาล แต่อย่างไรก็ตามการทำงานร่วมกันก็เป็นหนึ่งในคีย์สำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจเช่นกัน ดังนั้นทั้ง 4 แนวทางในข้างต้นจึงออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรออกแบบวิถีการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ และป้องกัน Collaboration Overload เพื่อสุดท้ายแล้วการพัฒนาการทำงานร่วมกันในองค์กรจะไม่ย้อนกลับมาเป็นภัยกับองค์กรเสียเอง แต่นำไปสู่ประสิทธิภาพ และนวัตกรรมที่ทุก ๆ องค์กรแสวงหา


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

Sources:
https://hbr.org/2022/08/how-much-time-and-energy-do-we-waste-toggling-between-applications
https://hbr.org/2022/12/how-to-fix-collaboration-overload
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search