ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้เพราะ “เราต้องการเงิน” เราได้เงินจากแรงที่เราทำไป แต่เงินไม่ใช่เพียงอย่างเดียวที่เราได้กลับมา ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานกับหัวหน้า การพัฒนาทักษะ หรือประสบการณ์ที่เราได้รับ รวมไปถึงความรู้สึกอยากมี/หรือไม่อยากมีส่วนร่วม แรงจูงใจ และการเติบโตของพนักงานคนหนึ่ง
คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานคนหนึ่งรู้สึกอยากเดินหน้าไปต่อกับองค์กร และอยากพัฒนาตัวเองให้เติบโตเพิ่มมากขึ้น? ข้อมูลจากการศึกษาของ Evans Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสร้างกลยุทธ์องค์กร ได้ทำการเก็บข้อมูลและวัดประเมินผลองค์กรชั้นนำต่างๆ และพบองค์ประกอบสำคัญ 9 ประการ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของพนักงาน ความรู้สึกว่ามีคุณค่า และมีแรงจูงใจ ดังนี้
1. ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Sense of belonging)
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมมีความสำคัญต่อพนักงานทุกคนมาก เมื่อพนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกมีแรงบันดาลใจและทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การศึกษาของ Gallup พบว่าพนักงานที่มีส่วนร่วมกับทีมส่งผลต่อผลกำไรที่เพิ่มขึ้นถึง 23% —องค์กรสามารถส่งเสริมการมีส่วนร่วมได้โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมของบริษัทและโครงการต่างๆ ภายในองค์กร รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรม CSR ทางสังคมต่างๆ
2. การมีระบบพี่เลี้ยง (Mentor)
จากการศึกษาของ Deloitte พบว่าพนักงานกลุ่มมิลเลนเนียล (Gen Y) มีความตั้งใจจะอยู่กับองค์กรปัจจุบันนานขึ้น (มากกว่า 5 ปี) และผลการศึกษายังพบอีกว่าพนักงานที่ได้รับการให้คำปรึกษาจากระบบพี่เลี้ยงจะมีอัตราการมีส่วนร่วมและการรักษาลูกค้าที่ดีกว่าพนักงานที่ไม่มีระบบพี่เลี้ยง —องค์กรสามารถอำนวยความสะดวกในโครงการพี่เลี้ยงผ่านการจับคู่พนักงานใหม่กับพนักงานที่มีประสบการณ์ จัดให้มีการให้คำปรึกษาแบบ peer-to-peer หรือสนับสนุนการให้คำปรึกษาแบบย้อนกลับโดยจับคู่พนักงานใหม่กับผู้นำที่มีอายุมากกว่า
3. เป้าหมายที่ท้าทาย (Challenged)
พนักงานจะมีมุ่งมั่นและพยายามไปสู่เป้าหมายมากขึ้น เมื่อพวกเขาถูกท้าทายด้วยเป้าหมายที่ส่งเสริมให้พวกเขาเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในสายงาน/ข้ามสายงาน การนำเสนอโปรเจ็กต์ การเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือการตั้งเป้าหมายส่วนบุคคล
4. ความอยู่ดีมีสุข (Well-being)
การมีบาลานซ์ระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน รายงานการศึกษาของ Glint พบว่าพนักงานมีแนวโน้มที่จะแนะนำผู้อื่นให้มาทำงานกับบริษัทของตนมากขึ้น 3.7 เท่า เมื่อองค์กรนั้นๆ ให้ความสำคัญกับการดูแลความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน —องค์กรสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีผ่านการนำเสนอตารางงานที่ยืดหยุ่น หรือทางเลือกของการทำงานระยะไกล หรือการสนับสนุนให้เกิดโครงการด้านสุขภาพ
5. ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม (Paid Fairly)
ผลตอบแทนที่ยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาและดึงดูดทาเล้นท์ (หรือพนักงานที่มีความสามารถระดับสูง) การทำแบบสำรวจเงินเดือนเป็นประจำเพื่อประเมินระดับความพึงพอใจเรื่องค่าตอบแทน อาจเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้มั่นใจว่าเงินเดือนมีความยุติธรรม ผลการสำรวจของ Glassdoor พบว่า 67% ของผู้หางานรายงานว่าเงินเดือนเป็นปัจจัยสำคัญในการหางาน และตัดสินใจเข้าทำงาน
6. การยกย่องชื่นชมและรางวัล (Rewards and recognition)
การศึกษาพบว่าเมื่อพนักงานรับรู้ว่าองค์กรมีระบบการชื่นชมและให้รางวัลสำหรับการทำงานหนัก มีแนวโน้มที่จะเกิดบรรยากาศของความไว้วางใจ ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม และความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาตนเอง —องค์กรชื่อดังอย่าง Evans มีระบบที่ผู้จัดการสามารถเสนอชื่อพนักงานเพื่อรับโบนัสพิเศษ หรือใช้เงินจากกองทุนขวัญกำลังใจของแผนก ในการพาพนักงานออกไปดื่มกาแฟ ‘ขอบคุณ’ หรือพาไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านโปรดของพวกเขา เป็นต้น
7. การเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowered)
คำว่า “การสร้างพลังอำนาจ หรือการเสริมศักยภาพให้แก่พนักงาน (Empowering employees) หมายถึง การให้อิสระ ทรัพยากร และการสนับสนุนที่จำเป็น รวมถึงการมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่พวกเขาในระดับหนึ่ง —หลายองค์กรในปัจจุบันพยายามสร้างประสบการณ์ที่พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานมากยิ่งขึ้น ปรับแนวทางการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือการประเมินผลงานบนพื้นฐานของทักษะ ซึ่งช่วยให้พนักงานได้ทำงานที่สอดคล้องกับทักษะและความสนใจของพวกเขา ซึ่งช่วยเสริมสร้างพลังอำนาจในตนเองที่เพิ่มมากขึ้น
8. ความไว้วางใจ (Trust)
ความไว้วางใจระหว่างพนักงานและฝ่ายบริหารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ซึ่งผู้นำสามารถสร้างความไว้วางใจได้ ผ่านการสื่อสารอย่างเปิดเผยและมีความโปร่งใส ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ ความคาดหวัง และสถานะทางการเงินของบริษัท —องค์กรควรมีพื้นที่ให้ผู้นำได้แสดงความโปร่งใส และการขอรับข้อเสนอแนะ (และปรับตามข้อเสนอแนะนั้น) รวมถึงการแบ่งปันวิสัยทัศน์ความสำเร็จ และแจ้งให้พนักงานทราบว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในความสำเร็จนั้นได้อย่างไร
10. การได้รับการรับฟัง (Heard)
การส่งเสริมให้มีการสื่อสารแบบเปิดกว้าง และการมีพื้นที่ให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและความเป็นเจ้าของ การศึกษาของ Salesforce พบว่าพนักงานที่รู้สึกว่าเสียงของตนได้รับการรับฟังนั้น มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าตนเองมีพลังอำนาจในการทำงานเพิ่มมากกว่า 4.6 เท่า ดังนั้น การรับฟังข้อกังวลและข้อเสนอแนะของพนักงานจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี การขอข้อเสนอแนะผ่านเครื่องมือสำรวจ การติดตามแบบตัวต่อตัว การจัดกลุ่มย่อย และการจัดประชุมทีมและพนักงานเป็นประจำ สามารถช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารได้
บทสรุป —ในฐานะผู้นำการลงทุนในพนักงานของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม การสอนงาน การมอบหมายงานที่มีความท้าทาย การจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การยกย่องและชื่นชม การเสริมสร้างพลังอำนาจ การสร้างความไว้วางใจ การเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ และการสื่อสารแบบเปิดกว้าง สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานเติบโต รู้สึกมีคุณค่า มีพลัง และมีแรงจูงใจ เพราะพนักงานที่สามารถปลดล็อกศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่คือรากฐานของความสำเร็จที่สำคัญขององค์กร
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.