การให้เกียรติกันในที่ทำงานนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม แต่กลับมีความสำคัญมหาศาล เพราะไม่ว่าจะเป็นในองค์กรไหนก็ตาม การให้เกียรติก็เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่พนักงานทุกคนแสวงหา จนเป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใช้ประกอบการเลือกคนที่จะทำงานด้วย .
ในโลกที่ทุก ๆ องค์กรแสวงหาความผูกพันจากพนักงาน และพนักงานแสวงหาการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานไปกับองค์กร ‘การให้เกียรติ’ กลับเป็นปัจจัยที่หลายคนนึกไม่ถึง แต่สำคัญต่อการเชื่อมทั้งสองความต้องการเข้าด้วยกันให้ลงตัว เพราะการให้เกียรติพนักงานอย่างถูกวิธีจะส่งผลให้เขาเรียนรู้ไปกับงานได้อย่างก้าวกระโดดพร้อมกับผูกพันกับนายจ้างที่เอื้อให้การเรียนรู้ของพวกเขาเกิดขึ้นได้มากขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย.
ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงบทบาทของผู้นำในการส่งเสริมให้เกิดการให้เกียรติ หรือ Respect ในแบบที่ดีกับการทำงานไปแล้ว และทำไมการให้เกียรติในทั้ง 2 แบบคือ Owned Respect ที่เป็นระดับพื้นฐานที่พนักงานทุกคนควรได้รับ และ Earned Respect ที่มีให้กับพนักงานที่โดดเด่นถึงเป็นสมดุลย์ที่ผู้นำต้องคำนึงถึงวันนี้เรามี 7 แนวทางที่เหมาะกับการเริ่มต้นสร้างบรรยากาศในองค์กรของท่านให้มีการให้เกียรติซึ่งกันและกันได้ดังนี้
==================
1. ระบุให้ชัดเจนถึงระดับพื้นฐานของการให้เกียรติที่ยอมรับได้
พนักงานทุก ๆ คนโดยไม่มีข้อยกเว้นควรที่จะรู้สึกได้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองนั้นได้รับการมองเห็น และให้เกียรติ ประเด็นนี้ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพนักงานระดับเริ่มต้นขององค์กร และผู้ใช้แรงงาน อย่างเช่นในองค์กรอย่าง Apple ยุคของ Tim Cook พนักงาน Sales ระดับเริ่มต้นคนหนึ่งได้เล่าความประทับใจแรกที่มีต่อ Tim Cook ว่า “สำหรับ Tim Cook ไม่มีคำว่าคำถามโง่ ๆ วิธีที่เขาตอบคำถามทำให้ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนที่สำคัญที่สุดใน Apple เขาพูดกับผมเหมือนผมเป็น Steve Jobs” นั่นทำให้พนักงานใน Apple ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ชิ้นส่วนที่เปลี่ยนไปมาได้ แต่ทุกคนคือหนึ่งในหลาย ๆ ชิ้นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ของ Apple
ดังนั้น ผู้นำควรที่จะลองนึกย้อนกลับไปตั้งคำถามว่าตำแหน่งงานของเรานั้นกำลังเป็นอุปสรรคในการให้เกียรติพนักงานหรือไม่ และอย่าลืมว่าคำพูดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราในฐานะผู้นำนั้นมีอิทธิพลมหาศาลต่อความรู้สึกมีคุณค่าของพนักงาน.
2. ผู้นำต้องรู้วิธีการให้เกียรติในแบบขององค์กรตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้นำ หรือเพื่อนร่วมงานเราสามารถที่จะแสดงออกซึ่งการให้เกียรติได้ทั้งสิ้น โดยพฤติกรรมพื้นฐาน เช่น การตั้งใจฟังความคิดเห็นที่แตกต่างก็เป็นจุดสำคัญของการให้ Owned Respect ในฐานะเพื่อนร่วมงานแล้ว และสำหรับผู้นำการแจกจ่ายงานสำคัญ ๆ ก็คือเป็นการให้เกียรติอย่างยิ่ง รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็น การให้ความสนใจกับความเป็นอยู่นอกเหนือการทำงาน และการคอยสนับสนุนพนักงานในสถานการณ์ยาก ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังถึงบริบทขององค์กรตัวเองเช่นกัน เพราะแต่ละองค์กร หรือแม้แต่แผนกก็จะมีวิธีการให้เกียรติที่แตกต่างกัน เช่น การทักทายยามเช้าอาจเป็นการให้ Owned Respect ที่ดี แต่บางที่อาจมองเป็นการรบกวนการทำงานได้่เช่นกัน.
3. ใช้ประโยชน์จากแรงกระเพื่อมของการให้เกียรติ
เราทราบกันดีว่าพฤติกรรมของผู้นำองค์กรนั้นมักจะกลายเป็นแบบอย่างให้พนักงานที่เหลือทำตามไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ การให้เกียรติ หรือในทางกลับกันการไม่ให้เกียรติก็เช่นกัน และแน่นอนว่าสุดท้ายมันจะนำไปสู่วิธีที่พนักงานของเราปฏิบัติกับลูกค้าในท้ายที่สุด ดังนั้น ในฐานะผู้นำจึงต้องฝึกปฏิบัติพฤติกรรมการให้เกียรติดังเช่นในข้อ 2 ให้เป็นกิจวัตรให้ได้.
4. คิดให้ดีว่าจะสื่อสาร Earned Respect ไปในรูปแบบไหน
นอกเหนือจากหน้าที่พื้นฐานที่จะต้องให้ Owned Respect อย่างทั่วถึงและเพียงพอแล้ว ผู้นำยังต้องฝึกการใช้การให้เกียรติทั้งแบบ Earned และ Owned เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุดกับองค์กรให้ได้ จึงต้องรู้จักกับธรรมชาติของพนักงาน และองค์กรตัวเองให้ดีกว่าการให้เกียรติในรูปแบบไหนจะนำมาซึ่งผลลัพธ์แบบใด แต่ข้อดีคือถ้านึกไม่ออกการให้ทั้งสองอย่างในระดับที่สูงย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เสียหาย แต่ถ้าผู้นำมีแผนในใจว่าต้องการที่จะสร้างความเหนียวแน่นในองค์กรมากขึ้น และเน้นการทำงานร่วมกันเป็นพิเศษก็อาจจะสามารถให้ความสำคัญกับการให้ Owned Respect มาก่อน หรือในทางกลับกันถ้ากำลังมองหา Superstar ในองค์กร การเอา Earned Respect นำก็จะได้ผลเช่นกัน แต่ก็ต้องแน่ใจว่าพนักงานมองเห็นว่าที่มาที่ไปของคำชมนี้ได้มาอย่างโปร่งใส และมีหลักฐานที่จับต้องได้.
5. อย่าลืมว่าการให้เกียรตินั้นให้ได้ไม่จำกัด
การตัดสินใจว่าจะให้เกียรติใครในเรื่องอะไรบ้างนั้นไม่เหมือนกับการแบ่ง Budget ให้ฝ่ายงาน เพราะการให้เกียรตินั้นเป็นสิ่งที่มีไม่จำกัด เป็นสิ่งที่สามารถให้ได้โดยไม่ต้องหวง เพราะเราสามารถให้ Owned Respect กับทุกคนในองค์กรได้ พร้อม ๆ ไปกับให้ Earned Respect กับทุก ๆ คนที่สมควรได้รับได้เช่นกัน พร้อมกับอย่าลืมว่าไม่ว่าพนักงานจะอยู่จุดในของผังองค์กรก็ไม่ได้ส่งผลว่าเขาจะควรหรือไม่ควรได้รับการให้เกียรติมากน้อยกว่าคนอื่น ๆ โดย Owned Respect นั้นตั้งแต่ CEO จนไปถึงภารโรงสมควรได้รับเท่าเทียมกัน และ Earned Respect นั้นควรให้เมื่อทำงานได้เกินความคาดหมายในบทบาทตัวเองไม่ว่าบทบาทใด.
6. เห็นค่าของการให้เกียรติในฐานะตัวช่วยประหยัดเวลา
อย่าปล่อยให้คำว่า ‘ไม่มีเวลา’ ส่งผลให้เราไม่ให้เกียรติกัน เพราะ Owned Respect นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ในวิถีปฏิบัติอยู่แล้ว เช่นการทักทาย วิธีการพูด และการตั้งใจฟัง และนอกจากจะไม่กินเวลาแล้ว งานวิจัยหนึ่งของ Christine Porath ก็ชี้ให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การแก้ปัญหาที่เกิดจากการพฤติกรรมการไม่ให้เกียรตินั้นกินเวลาผู้บริหาร 7 สัปดาห์ต่อปีโดยเฉลี่ยจากองค์กรในกลุ่ม Fortune 1000.
7. คอยระวังสถานการณ์ที่การให้เกียรติจะเป็นผลเสีย
การให้เกียรติอย่างไม่ตั้งใจ หรือไม่สม่ำเสมอมักจะนำมาซึ่งข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะพนักงานมักจะมองการแสดงออกที่ในสายตาเขาใช้คำว่า ‘ครึ่ง ๆ กลาง ๆ’ ว่าเป็นความไม่จริงใจ หรือกำลังหวังผลบางอย่าง และระวังการให้ Earned Respect ในสถานการณ์ที่ปกติไม่สมควรได้ เพราะนอกจากมันจะไม่ได้ทำให้ผู้รับรู้สึกดีแล้วมันยังทำให้คำพูดอื่น ๆ ของผู้นำหมดความน่าเชื่อถือถามไปด้วย นั่นเป็นเพราะว่าความจริงใจนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงออกซึ่งการให้เกียรติที่ชัดเจนที่สุดที่พนักงานสามารถรับรู้ได้.
และทั้ง 7 แนวทางเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับสูงขององค์กร หรือในฐานะเพื่อนร่วมงานสามารถเริ่มต้นนำไปใช้ได้ทันทีเพื่อเป็นส่วนให้บรรยากาศขององค์กรเรามีการให้เกียรติกันมากขึ้น เพราะอย่างที่เราเคยคุยกันว่าการเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งกันให้เกียรติกันนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มได้โดยไม่ต้องอาศัยการเปลี่ยนระบบยกใหญ่ แต่เริ่มต้นได้จากตัวเราในฐานะผู้นำ และในฐานะเพื่อนร่วมงานนั่นเอง.
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
.
.
>>>>
.
.
>>>
แหล่งที่มาของบทความ
https://hbr.org/2018/07/do-your-employees-feel-respected
หนังสือ Energize Your Workplace: How to Create and Sustain High-Quality Connections at Work โดย Jane E. Dutton
.
.
>>>