5 อาการที่บอกว่าทีมงาน Priority ไม่เป็น

เรามักคิดว่า “ความงานยุ่ง” คือ ตัวปัญหา… แต่แท้จริงแล้ว “การยุ่งอยู่กับงานที่ไม่จำเป็น” ต่างหากที่มักนำปัญหามาให้เราภายหลัง และ “ความไม่ว่าง” มักเป็นเหตุผลที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้บ่อยครั้งเมื่อใดที่เราต้องการปฏิเสธ โดยนอกจากที่ผู้ฟังอาจจะรับรู้ได้ถึงเหตุและผลแล้ว ในอีกแง่มุมข้อความเหล่านี้ยังกลายมาเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ ของความภาคภูมิใจของผู้พูดอีกด้วย… เพราะมันกำลังแสดงให้เห็นว่า “ฉันเป็นคนขยัน เป็นคนเก่ง และดูเป็นคนสำคัญขององค์กร” กระนั้นก็ตาม ความยุ่งไม่ควรเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ เพราะมันเป็นสัญญาณว่าเรากำลังลดความสำคัญในมิติอื่นๆ ของชีวิตตนเองอยู่


การลำดับความสำคัญนั้นไม่ใช่เพียงแต่เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราแน่ใจได้ว่างานชิ้นสำคัญจะถูกให้ความสำคัญได้ตามเวลาที่ต้องการ การลำดับความสำคัญจะช่วยให้ทีมเข้าใจตรงกันว่าพวกเขาควรโฟกัสกับอะไรในตอนไหน


โดยประโยชน์ของการลำดับความสำคัญของงานนั้นมีชัดเจน เพราะนอกจากที่มันจะทำให้เรามีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว มันยังเป็นการที่เรากลับมาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่โดนงานรุมเร้าจนหายไป แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือโทษของการไม่ลำดับความสำคัญนี่แหละที่สามารถเป็นอันตรายต่อทีมงานของเราได้มหาศาล ยกมือขึ้นถ้าทีมงานเรามีอาการต่อไปนี้:


1. ทุกอย่างดูสำคัญไปหมด


ถ้าทีมงานไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ด้วยตนเอง คนอื่น เช่น หัวหน้า หรือลูกค้าก็จะลำดับความสำคัญให้เราแทน และเมื่อเราไม่ได้จัดด้วยตัวเองได้ สุดท้ายเราก็ต้องตอบ “ตกลง” ไปกับทุก ๆ อย่างที่ถูกจัดสรรมาให้เรา


แม้จะดูสมเหตุสมผลที่เราจะต้องตอบตกลงกับคำสั่งของหัวหน้างาน หรือข้อเรียกร้องของลูกค้า แต่หลายครั้งงานเหล่านั้นไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมาย และจุดประสงค์ของทีม เพียงแต่เป็นความต้องการของคนอื่นที่ยังไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีถึงความเหมาะสม เพราะการวิเคราะห์ภาระงานมิใช่หน้าที่ของคนสั่งการ หรือลูกค้า แต่เป็นหน้าที่ของทีมงานที่ต้องจัดสรรด้วยตนเอง ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้วทีมงานเราก็จะอยู่ในสภาวะที่ต้องตอบตกลงกับทุกอย่างเพราะอะไร ๆ ก็ดูจะสำคัญไปเสียหมด


2. ทีมไม่สามารถโฟกัสได้


ทีมงานมีภาระหนักอึ้งตลอดเวลา มีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ และไม่มีเวลา หรือทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการงานทั้งหมดนั้นได้ นั่นเป็นอาการของทีมที่ไม่รู้ตัวว่ารับงานได้มากน้อยแค่ไหน จนทำให้สมาชิกทีมเครียดได้ตลอดเวลา


นอกจากนั้นแล้วทางเลือก หรือโอกาสที่มีมากเกินไปก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนี้ได้อาการนี้เรียกว่า Paradox of Choice ศาสตราจารย์ Barry Schwartz ได้อธิบายไว้ว่าเวลาที่เรามีทางเลือกเยอะ ๆ นั้นทำให้เราเครียด และทำให้ยากที่จะโฟกัสกับอะไร ๆ ได้ และในบริบทการทำงาน เวลาที่เรามีงานต้องทำเยอะ ๆ การเลือกโฟกัสกับสักงานก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ดังนั้นทีมจึงควรหลีกเลี่ยงการพยายามแก้หลาย ๆ โจทย์ไปพร้อม ๆ กัน


3. ทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวัน ๆ


เมื่อทีมเลือกที่จะทิ้งผลลัพท์ในระยะยาว และโฟกัสกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ่อย ๆ ด้วยความเร่งด่วนจนกลายเป็นเรื่องปกติที่ความเร่งด่วนมาก่อนความสำคัญ


เมื่อทีมมีอาการแบบนี้โปรดอย่าลืมว่าการทำแบบนี้มีราคาที่มองไม่เห็นอยู่ เพราะมันคือการที่ทีมงานถูกดึงเวลาไปจากแผนงานระยะยาวที่ถูกตั้งใจวางไว้ เพื่อแลกกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นั่นหมายถึงว่าถ้างานแต่ละชิ้นคือการลงทุนด้วยเวลาแล้ว การโฟกัสกับงานด่วนที่ไม่สำคัญ คือการที่ทีมงานเรากำลังจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่จ่ายเงินต้นอยู่ ดังนั้นหากทีมรู้ว่างานไหนไม่ได้สร้างประโยชน์ในระยาวให้กับเรางานเหล่านั้นไม่ควรถูกให้ความสำคัญแม้จะเร่งด่วนก็ตามให้ตัดออก


4. ทีมกำลังถูกงานดูดพลัง


ลูกค้าที่เป็นพิษ โปรเจคที่ไม่คืบหน้าสักที หรืองานจุกจิกที่คอยขโมยเวลาเรา งานเหล่านี้คือตัวดูดพลังงานชั้นดี โดยมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการต้องทำงานที่ไม่ใช่ Priority นั้นสร้างความเสี่ยงให้เกิดการ burnout และการหลีกเลี่ยง หรือปฏิเสธงานประเภทนี้จะให้ประโยชน์กับทีมได้มหาศาล


5. ทำอะไรไม่ถูกทางสักที


การลำดับความสำคัญนั้นไม่ได้เพียงแค่การเลือกสิ่งที่จะมาโฟกัส แต่ยังรวมถึงการเลือกสิ่งที่จะไม่สนใจด้วย โดยเมื่อทีมต้องตอบรับกับทุก ๆ อย่างที่เข้ามา นั่นแปลว่าทีมได้ปฏิเสธเรื่องสำคัญ ๆ ไปโดยไม่ทันรู้ตัว เพราะเวลามีจำกัดและเราไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งสำคัญ ๆ ได้เมื่อเรายุ่งเกินไป


สิ่งที่ผู้นำทีมควรทำคือการกำจัดเรื่องไม่สำคัญที่คอยเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อให้ทีมได้มุ่งมั่นอยู่กับงานที่ถูกต้อง รวมถึงการสนับสนุนให้ทีมปฏิเสธงานให้มากขึ้น


::::::::::::::::::::::::

ทีมไหนที่กำลังมีอาการเหล่านี้ หรือท่านใดที่กำลังรู้สึกว่าทีมกำลังออกอาการเหล่านี้ลองส่งบทความนี้ให้กับสมาชิก หรือหัวหน้าทีมเพื่อพูดคุย และแก้ปัญหานี้ร่วมกันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป โดยในการเริ่มต้นสิ่งแรก ๆ ที่ทีมตกลงร่วมกันได้คือ การตกลงกันว่าจะปฏิเสธงานให้มากขึ้น และคุยกันถึงลักษณะงานที่เราจะปฏิเสธ และในขณะเดียวกันเลี่ยงการตอบตกลงโดยไม่พิจารณาให้ดีถึงงานในปัจจุบันก่อน และฝึกการปรับลดความสำคัญของงานลงเวลามีประชุมงานกัน เพื่อสุดท้ายแล้วทีมงานของเราจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลงานเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยไม่สร้างความเครียดที่ไม่จำเป็นให้กับทีม ที่มักจะนำไปสู่การ burnout และลาออกในที่สุด


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

References:
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5664446/
https://www.ted.com/talks/barry_schwartz_the_paradox_of_choice?language=en
https://www.fearlessculture.design/blog-posts/how-to-prioritize-as-a-team-when-everything-feels-important
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search