การประชุมผ่านวิดีโอคอล การนั่งทำงานจากที่บ้าน หรือการไม่เข้าออฟฟิศเลยทั้งอาทิตย์ เริ่มกลายเป็นสิ่งคุ้นชินของผู้คนไปแล้ว ช่วงเริ่มแรกอาจตะกุกตะกักบ้างแต่พอองค์ประกอบต่าง ๆ ลงตัวมากขึ้น “การประชุมกันทางไกลก็สะดวกดี” “งานก็ทำออนไลน์ได้เกือบหมด” “แถมไม่ต้องเดินทางไปทำงาน ประหยัดเวลามหาศาล”
#แต่ทำไมกันนะเราถึงยังรู้สึกเหมือนมีบางอย่างขาดหายไป?
แน่นอนว่าปัจจัยด้านความเหงาและความใกล้ชิด เป็นตัวแปรสำคัญและถูกพูดถึงกันในวงกว้างแล้ว แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่กลับไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่ และสิ่งนั้นก็คือ #เสียงหัวเราะ นั่นเอง
ทุกท่านทราบไหมครับว่าปกติคนเราหัวเราะเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 18 ครั้ง แต่กว่า 97% เรามักจะหัวเราะร่วมไปกับคนอื่น แปลว่าอีก 3% เป็นการหัวเราะคนเดียว นั่นแปลว่าเราหัวเราะไปกับคนอื่นมากกว่า 30 เท่าของการหัวเราะคนเดียว ลองนึกย้อนดูเล่น ๆ ถึงครั้งล่าสุดที่เราได้หัวเราะ หลายคนจะมีหน้าของคนที่อยู่กับเราในตอนนั้นลอยมาให้เห็นได้เลย แต่ถ้านึกให้ลึกกว่านั้นไปอีกว่าที่ผ่านมาเวลาที่เราหัวเราะไปด้วยกันแล้วมีสักกี่ครั้งที่มันตลกจริง ๆ ? เรื่องน่าสนใจคือมีงานวิจัยที่ออกมาบอกว่า 80% ของสิ่งที่เราหัวเราะมันจริง ๆ ก็ไม่ได้ตลกขนาดนั้น
ถ้าอย่างนั้นแล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนเราหัวเราะกันล่ะ? เหตุผลง่าย ๆ คือเราหัวเราะเพราะคนอื่นหัวเราะ คนเรามีสัญชาติญาณที่จะหัวเราะเพื่อที่จะได้หัวเราะไปพร้อม ๆ กับคนอื่น คล้าย ๆ กันกับที่เรามักจะเริ่มหาวเมื่อมีคนหาวนั่นเอง เช่นเดียวกันคนส่วนใหญ่แล้วอดไม่ได้ที่จะหัวเราะเมื่อมีคนใกล้ ๆ เราหัวเราะ
โดยการหัวเราะเมื่อมีคนใกล้ ๆ หัวเราะไม่ใช่เป็นเพียงปรากฏการทางพฤติกรรมเฉย ๆ แต่เมื่อเราหัวเราะร่างกายเราจะปล่อยสารเคมีสำคัญสองตัวได้แก่ Endorphine ที่มีผลช่วยลดความเจ็บปวด และทำให้เรารู้สึกดี และสารเคมีอีกตัวหนึ่งก็คือ Dopamine ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรารู้สึกฟิน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ สมาธิ และแรงบันดาลใจ แปลว่าโดยรวม ๆ แล้วนั้นการหัวเราะมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้านตั้งแต่สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด และปัจจัยด้านสุขภาพอีกมากมาย แต่ประโยชน์สำคัญที่อยากจะเล่าให้ทุกท่านฟังในวันนี้คือเสียงหัวเราะนั้นช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับเรา และช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงาน
เมื่อเราแยกย้ายกันมากขึ้นในสภาวะเช่นนี้ มีการพบปะกันน้อยลงแน่นอนว่านอกเหนือจากความเหงาแล้วเรายังมีโอกาสได้หัวเราะน้อยลงอีกด้วย และแน่นอนว่าทำให้เราอดได้รับประโยชน์ต่าง ๆ ที่มากมายของการหัวเราะรวมถึง Motivation และ Productivity ในการทำงานเช่นกัน และซ้ำไปกว่านั้นคือความเครียด และความกลัวที่เราต้องประสบเพียงลำพังมากขึ้นก็ทำให้สมองของเรายิ่งรวนไปกว่าเดิม และโดยรวม ๆ ทำให้เราเครียดง่ายขึ้น
และเราก็มาถึงบทบาทของผู้นำ และองค์กรในการช่วยให้พนักงานเราจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ แต่แน่นอนว่าเว้นแต่เราจะเป็นบริษัทพอดีพานิขของคุณโน้ส อุดม หน้าที่ของเราก็ไม่ใช่การเล่นมุกให้ใครฟัง แต่ด้วยสภาวะการณ์เช่นนี้ที่เสียงหัวเราะกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการรักษา Motivation และ Productivity ของพนักงาน หน้าที่ของเราจึงต้องเป็นการหาทางในการส่งเสริมให้เสียงหัวเราะเกิดขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย วันนี้เรามี 5 แนวทางในการส่งเสริมเสียงหัวเราะมาฝากกัน
1. ใช้เวลาให้มากขึ้น ผู้นำส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าต้องรีบให้การวิดีโอคอลมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดซึ่งก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีในเวลาปกติ แต่ในเวลาที่การปฏิสัมพันธ์แบบ virtual นั้นเป็นทางเดียวที่เราจะได้พบเจอกัน ความมีประสิทธิภาพนี้จะส่งผลตรงกันข้าม เพราะในสภาวะแบบนี้การวิดีโอคอลนั้นเป็นโอกาสดีให้มีการพูดคุยสัพเพเหระมากกว่าแค่การทำให้เสร็จ ๆ ไป และเสียงหัวเราะคือหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยให้ทีมได้เชื่อมต่อกัน แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้เวลากับมัน และช่วยเอื้อมันมันเกิดขึ้น
2. เปิดกล้องเยอะ ๆ เพราะคนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เก่งในการอ่านสีหน้าท่าทางมาก ๆ โดยเฉพาะสัญญาณที่บอกว่าตรงนี้หัวเราะได้ การเปิดกล้องจะช่วยให้เราหาจังหวะหัวเราะเกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น และเพิ่มโอกาสมากขึ้น [และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่บางท่านอาจจะยังไม่ได้หัวเราะไปกับ Podcast นี้สักเท่าไหร่]
3. ยิ้มเยอะ ๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนเรามักจะหันไปหาผู้นำโดยไม่รู้ตัวเพื่อเช็คว่ามันโอเคไหมที่จะทำอะไรบางอย่าง และแน่นอนว่ารวมถึงการเช็คให้ชัวร์ด้วยว่าตรงนี้หัวเราะได้ไหม และสัญญาณที่ดีที่สุดที่บอกว่าหัวเราะได้นั้นคือรอยยิ้มนี่แหละ ที่เป็นตัวบอก
4. ทำให้เป็นตัวอย่าง เพราะเหมือนที่เล่าไปก่อนหน้านี้ที่ว่าการหัวเราะเรานั้นคล้ายกับการหาว ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการเอื้อให้เกิดเสียงหัวเราะอาจจะเป็นเพียงแค่การเป็นคนแรกที่เริ่ม แต่แน่นอนว่าคนเราก็แยกแยะเสียงหัวเราะจริง กับหัวเราะปลอม ๆ ออก นั่นทำให้ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมาก ๆ
5. ทำให้ตัวเองอารมณ์ดี วิธีที่ง่ายที่สุด และจริงใจที่สุดในการเป็นผู้นำให้เกิดเสียงหัวเราะคือการทำให้ตัวเองอารมณ์ดี เพราะการหัวเราะตอนอารมณ์ดีมักง่ายกว่าตอนอารมณ์เฉย ๆ โดยเฉพาะผ่านวิดีโอคอล ดังนั้นในอุมดมคติแล้วอาจจะลองหาเรื่องให้ตัวเองได้หัวเราะออกมาสักนิดก่อนจะเริ่มประชุมเป็นการ set mood
นั่นคือ 5 แนวทางง่าย ๆ ในการนำเสียงหัวเราะกลับมาให้กับทีม หรือองค์กรของเราท่ามกลางสภาวะแบบนี้ และแม้เมื่อถึงเวลาที่วิกฤตินี้หมดไปแล้ว แต่ในอนาคตแนวทางการทำงานแบบทางไกลก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างแน่นอน และการเอื้อให้เกิดเสียงหัวเราะจะยิ่งกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นในอนาคตในฐานะเครื่องมือในการรักษา Motivation และ Productivity ของพนักงาน และนอกจากนั้น 5 แนวทางนี้จะยิ่งมีประสิทธิภาพเมื่อเจอหน้ากันจริง ๆ อีกด้วย
A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture
.
>
>
หนังสือ Laughter: A Scientific Investigation โดย ROBERT R. PROVINE
https://journals.aom.org/doi/10.5465/ame.1998.1109047
https://hbr.org/2020/05/laughter-will-keep-your-team-connected-even-while-youre-apart
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/changepower/201605/the-9-superpowers-your-smile
http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.681.3284&rep=rep1&type=pdf
.
.