สัปดาห์สุดท้ายของการทำงานแล้ว หลายคนรู้สึกดีใจว่าจะได้หยุดงานยาวช่วงปีใหม่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่าเปิดปีใหม่มาก็มีงานรอเคลียร์อีกมากมาย ต้องบอกว่าในชีวิตการทำงานของเราทุกคน จะมีทั้งช่วงเวลาที่รู้สึกมีความสุขและพลังในการทำงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็อาจมีบางช่วงเวลาที่รู้สึกว่าเบื่อหน่าย ห่อเหี่ยว หมดอารมณ์สนุกในการทำงาน คำถามที่น่าสนใจคือ “ในช่วงเวลาที่รู้สึกหมดอารมณ์นั้น เราจะกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานให้ตนเองอย่างไรดี?”
แรงจูงใจในการทำงาน (Work motivation) คือ พลังหรือแรงผลักดันที่ทำให้เราอยากทำงาน ซึ่งแรงจูงใจในการทำงานสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
- แรงจูงใจภายใน คือ แรงจูงใจที่มาจากภายในตัวบุคคล มักเกิดจากความพึงพอใจในการทำงาน ความรักในงานที่ทำ ความท้าทายในการทำงาน หรือความต้องการพัฒนาตนเอง
- แรงจูงใจภายนอก คือ แรงจูงใจที่มาจากภายนอกตัวบุคคล เกิดจากสิ่งตอบแทน ผลประโยชน์ต่างๆ หรือบรรยากาศแวดล้อม เช่น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ โอกาสก้าวหน้าในอาชีพ หรือการซัพพอร์ตจากหัวหน้า รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรนั้นๆ ด้วย เป็นต้น
บทความจาก Fast Company ได้แชร์ 5 เทคนิคที่ช่วยให้คุณสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ตนเอง เพื่อให้มีพลังใจและพลังกายพร้อมลุยต่อตลอดทั้งปี ดังนี้
เทคนิคที่ 1: มองย้อนกลับไปในอดีต
การมองย้อนกลับไปในอดีตเพื่อทบทวนชีวิตการทำงานที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี ช่วยให้คุณเห็นว่าสิ่งต่างๆ มันดำเนินไปอย่างไร? งานวิจัยได้สะท้อนเรื่องนี้ว่ายิ่งคุณถอยห่างจากช่วงเวลาของเหตุการณ์นั้นๆ มากเท่าไหร่ คุณยิ่งมองเห็นเทรนด์ เห็นความขึ้นๆ ลงๆ ของเหตุการณ์ได้ชัดมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น หากคุณมองย้อนกลับไปแล้ว คุณตระหนักว่าตัวคุณเองไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับงานโดยภาพรวมเท่าไหร่นัก สิ่งที่คุณต้องตามตัวเองต่อคือ… “คุณสามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง? (สมมติว่าการลาออกไม่ใช่ทางเลือก)
เทคนิคที่ 2: หาความหมายในงาน
คุณอาจต้องเริ่มต้นคิดอย่างจริงจังถึงแง่มุมของงานที่คุณสนใจแล้วล่ะ! มันอาจเป็นผลลัพธ์ของงานที่มีความหมายต่อคุณ.. อาจเป็น Core Values ขององค์กรที่เชื่อมโยงกับคุณค่าบางอย่างในตัวคุณ หรืออาจวัฒนธรรมองค์กร หรือบรรยากาศของการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่เติมความสุข เพื่อใช้พลังงานจากสิ่งเหล่านี้มาสร้างพลังงานให้กับงานที่คุณกำลังทำอยู่
เทคนิคที่ 3: จัดลำดับความสำคัญของความสัมพันธ์
ข้อนี้จะมุ่งความสนใจไปที่ผู้คนที่คุณรู้สึกแคร์ในการทำงาน อาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่น่ารักหรือลูกค้าที่คุณติดต่ออยู่เสมอ ความสัมพันธ์เหล่านั้นสามารถเติมพลังให้คุณได้เช่นกัน ดังนั้น ลองนึกถึงโอกาสที่คุณจะได้ปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ เหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้น
เทคนิคที่ 4: รีเช็คตารางชีวิตอีกครั้ง
บางครั้งการที่คุณไม่มีพลังงานในการทำงาน อาจเป็นเพราะคุณไม่ได้เติมพลังให้กับเป้าหมายที่เป็นเรื่องส่วนตัว พูดง่ายๆ ก็คือ คุณถูกตารางงานกลืนกินจนไม่ได้ใช้เวลาเพื่อการบรรลุเป้าหมายส่วนตัว “การใช้ชีวิต คือ การวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น” ดังนั้น หากคุณต้องใช้ชีวิตในการทำงานต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน และไม่ได้แบ่งเวลาให้กับครอบครัว เพื่อนสนิท คนที่คุณรัก งานอดิเรก สัตว์เลี้ยง หรือเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิต… มันก็คงจะเป็นเรื่องยากที่คุณจะรักษาแรงจูงใจในการทำงานไปได้ตลอด (แรงจูงใจภายในตนเองหมด)
วิธีที่บทความแนะนำคือ เอาตารางชีวิตมาทบทวนกันหน่อย ว่าตอนนี้น้ำหนักมันเทไปที่ด้านไหนแล้ว หากพบว่าเทไปเรื่องงานหนักมาก ก็ถึงเวลาที่คุณต้องพิจารณาคำว่า “ทำให้น้อยลง” แล้วละ
เทคนิคที่ 5: ชื่นชมตัวเองบ้าง
การชื่นชมตัวเอง (Self-appreciation) คือ การที่เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ยอมรับในความสามารถและความสำเร็จของตัวเอง (โดยเฉพาะกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คนชอบมองข้าม) ซึ่งการชื่นชมตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะช่วยให้เรามีความรู้สึกดีกับตัวเอง มีความสุข มีความมั่นใจมากขึ้น และทำให้เรามีความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้เรารับมือกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ซึ่งการชื่นชมตัวเองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น จดบันทึกความสำเร็จของตัวเอง ใช้เวลาทำในสิ่งที่เราชอบและถนัด อยู่กับคนที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง รวมทั้งแทนที่จะจดจำแต่ความผิดพลาดของตัวเอง ให้จดจำความสำเร็จของตัวเองด้วย เป็นต้น
บทสรุป —“การใช้ชีวิต คือ การวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น” มันจึงสำคัญมากที่เราต้องบาลานซ์พลังงานในวันนี้ เพื่อยังมีพลังงานเหลือในวันข้างหน้าด้วย ดังนั้น การรักษาแรงจูงใจในการทำงานไปได้ตลอดจึงสำคัญมาก
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.