4 เหตุผลที่พนักงานเกลียดแบบสำรวจ และวิธีรับมือ

เชื่อว่า HR หลายท่านล้วนเคยประสบปัญหาด้านความร่วมมือจากพนักงานกันมาบ้างไม่มากก็น้อยเมื่อต้องส่งแบบสำรวจใด ๆ ให้กับเหล่าพนักงาน ทั้งความหวั่นใจว่าจะตอบกลับมากันพอหรือเปล่า หรือจะมีใครบ่นอีกไหมว่าเบื่อ survey และก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เหล่าองค์กรก็เข้าใจตรงกันไปแล้วว่า “พนักงานไม่ชอบแบบสำรวจเอาเสียเลย” และในส่วนของสาเหตุที่ว่าทำไมนั้นวันนี้เราจะมาดูกัน


1) ต้องตอบคำถามเดิมซ้ำ ๆ


หนึ่งในสาเหตุหลักคือความน่าเบื่อหน่ายที่เหล่าพนักงานต้องทำแบบสำรวจที่ถามคำถามคล้าย ๆ เดิมที่ไม่ว่าจะมาจากภายในองค์กร หรือจากที่ปรึกษาภายนอกก็ตาม นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของแบบสำรวจล้วนเป็นเรื่องในลักษณะเดียวกันที่แต่ละที่อาจจะใช้คำที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น Engagement survey, Satisfaction survey, Culture survey หรือ Happiness Survey


โดยแบบสำรวจเหล่านี้มักจะมีแบบแผนเป็นคำถามกว้าง ๆ หลาย ๆ คำถามให้เลือกระดับความเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และแม้ว่าในเชิงลึกแล้วแต่ละแบบสำรวจมีความเฉพาะเจาะจงที่ต่างกัน ในสายตาพนักงานที่ต้องเจอกับมันบ่อย ๆ ทีละหลาย ๆ คำถาม ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าคำถามเหล่าเหล่านี้จะกี่ครั้งก็ถามเรื่องเดิม ๆ ตลอด


สิ่งที่ควรทำ: ถามเป็นเรื่อง ๆ ให้เจาะจงมากขึ้น


สำคัญก็ในการที่จะหลีกเลี่ยงความซ้ำซากคือการที่องค์กรต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะถามไปยังพนักงานว่าในแต่ละครั้งจุดประสงค์ของการออกแบบสำรวจคืออะไรกันแน่ คำถามกว้าง ๆ เพื่อสำรวจภาพรวมของพนักงานมักจะลงเอยในความน่าเบื่อหน่ายนี้ สิ่งที่องค์กรสามารถทำได้คือการเจาะจงหัวข้อให้เล็กลงในการสำรวจแต่ละครั้ง เช่น จากการถามภาพรวมความพึงพอใจในงานของพนักงานกว้าง ๆ อาจเปลี่ยนมาเป็นการถามถึงความพึงพอใจในระบบการทำงานใหม่โดยที่ถามให้ลึกขึ้นกว่าเดิม


2) เหมือนเสียงไม่มีความหมาย


เคยพบไหมที่ครั้งแรก ๆ พนักงานมักให้ความร่วมมืออย่างดีต่อทุก ๆ แบบสำรวจ แต่เมื่อผ่านไปหลาย ๆ ครั้ง พนักงานก็เริ่มไม่ค่อยสนใจ ที่มาที่ไปของกรณีแบบนี้มักมาจากความไม่แน่ใจว่าความคิดเห็นที่ให้ไปในแบบสำรวจนั้นได้รับฟัง และนำไปสู่การพัฒนามากน้อยแค่ไหน เพราะความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นเรื่องที่เห็นได้ช้า และอาจไม่ชัดเจนพอให้เห็นได้ด้วยตัวเอง ประกอบกับการที่หลายครั้ง เรื่องง่าย ๆ ในสิ่งที่หลาย ๆ องค์กรมักจะลืมทำคือการสื่อสารผลลัพท์ที่ได้จากการสำรวจให้พนักงานได้รับรู้


สิ่งที่ควรทำ: สื่อสารผลลัพธ์และสิ่งที่จะเกิดขึ้น


หลายคนที่คิดว่าสอบถามความเห็นจากพนักงานคือหัวใจสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่การถามนั้นไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือผลลัพท์ ว่าจากการสำรวจแล้วพนักงานคิดเห็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องต่าง ๆ สถิติต่าง ๆ ขององค์กรเป็นเช่นไร มีอะไรที่ต้องปรับปรุง และองค์กรกำลังจะทำอะไรต่อไป


ผลลัพท์ของการสำรวจคือหนึ่งในสิ่งที่พนักงานคาดหวัง เพื่อที่จะได้รับรู้ว่าความคิดเห็นที่ให้ไปนั้นเป็นประโยชน์กับองค์กร แต่หนึ่งในอุปสรรคใหญ่ ๆ ที่ทำให้องค์กรไม่สื่อสารผลลัพท์ออกไปมักมาจากความไม่ไว้วางใจในพนักงาน หรือความกลัวว่าผลลัพท์ที่จะส่งผลกระทบอย่างไรกับทีม ทั้งที่ในทางตรงกันข้ามการสื่อสารเรื่องเหล่านี้ให้กับพนักงานคือการให้เกียรติ และการให้พนักงานได้มีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของการพัฒนาองค์กรโดยแท้จริง และการให้ทำแบบสำรวจโดยไม่มีการสื่อสารผลลัพท์กลับไปเปรียบเสมือนการแสดงความไม่ไว้วางใจให้กับพนักงาน


3) ไม่มั่นใจในการเก็บรักษาความลับ


หลายครั้งองค์กรออกแบบสำรวจเพื่อถามคำถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน หรือเป็นเรื่องของการประเมินเพื่อนร่วมงาน ลูกทีม หรือหัวหน้างาน นั่นนำมาซึ่งความกังวลว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกนำไปใช้หรือเปิดเผยในรูปแบบไหน เช่น พนักงานอาจกังวลได้ว่าถ้าหัวหน้าเขารู้ว่าพวกเขาประเมินหัวหน้าแบบไหนชีวิตการทำงานของเขาหลังจากนี้จะต้องเจอกับอะไรบ้าง และเมื่อสุดท้ายพนักงานไม่มีความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถสื่อสารความคิดเห็นที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องตอบไปในแบบที่ไม่ตรงกับความรู้สึก ทำให้เกิดความรู้สึกฝืนใจในการทำแบบสำรวจ หรือความเหนื่อยหน่ายที่จะต้องให้ความเห็นแบบส่ง ๆ ไปในทุกครั้ง


สิ่งที่ควรทำ: มีนโยบายการปกปิดข้อมูลที่ชัดเจน


ในการออกแบบการสำรวจใด ๆ พื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือต้องแน่ใจให้ได้ว่าได้ข้อมูลที่ต้องการจริง ๆ นั่นหมายถึงความคิดเห็นที่แท้จริงของพนักงาน เมื่อจุดประสงค์นี้ชัดแล้วการออกแบบกระบวนการให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยพอที่จะให้ความเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งที่สามารถทำได้คือถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงการถามคำถามที่ระบุตัวตนได้โดยไม่จำเป็น หรือถ้าจำเป็นควรที่จะสื่อสารกระบวนการเก็บข้อมูล และใช้ข้อมูลให้กับพนักงานได้รับรู้อย่างชัดเจน รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้รั่วไหลให้พนักงานทุกคนได้รับทราบ เพื่อให้สุดท้ายแล้วเราได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อ และพนักงานรู้สึกดีกับการให้ความเห็นอย่างเปิดเผย


4) กลัวภาระงานที่จะตามมา


หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย และหลายองค์กรนึกไม่ถึง คือ เมื่อต้องทำแบบสำรวจใด ๆ ออกมา พนักงานหลายคนนัดกันให้คะแนนสูง ๆ โดยเฉพาะเมื่อแบบสำรวจนั้นมาจากทีม Training หรือ Learning and Development


กรณีแบบนี้มีสาเหตุมาจากแบบแผนขององค์กร โดยเฉพาะในงาน Training ที่ใช้แบบสำรวจในฐานะเครื่องมือในการวินิจฉัยประเด็น หรือหัวข้อที่ควรให้การอบรมเพิ่มเติม และเมื่อองค์กรใช้วิธีในนี้การออกแบบหัวข้อการอบรม หรือการพัฒนาบ่อย ๆ พนักงานเริ่มจับทางได้ว่า ถ้าพวกเขาตอบตามความเป็นจริง และมีด้านไหนที่เข้าข่ายควรพัฒนา สิ่งที่จะตามมาคือการอบรมในหัวข้อนั่น และนั่นหมายถึงเวลาในการทำงานที่จะต้องหายไป และภาระงานที่มากขึ้น นั่นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่พนักงานนัดกันให้คะแนนสูง ๆ ในแบบสำรวจโดยเฉพาะกับทีมที่ไม่สามารถจัดการกับภาระงานของตัวเองได้


สิ่งที่ควรทำ: ระบุวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด และเน้นผลลัพธ์


นี่เป็นหนึ่งในอาการของการที่องค์กรเน้นการอบรมมากเกินไป และคาดหวังจะใช้การอบรมมาเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มมองหาว่าองค์กรต้องอบรมอะไรพนักงาน เราควรที่จะถอยมาตั้งหลักกันสักหนึ่งก้าว และตั้งคำถามถึงสถานะปัจจุบันขององค์กร และทิศทางการพัฒนาที่จำเป็น และใช้ทิศทางเหล่านี้มาเป็นตัววินิจฉัยถึงทิศทางในการพัฒนาโดยเอาความสำเร็จขององค์กรเป็นที่ตั้ง แล้วจึงตั้งคำถามต่อมาว่าเพื่อให้ไปถึงจุดนั้นแล้วอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ มีวิธีการไหนบ้างที่ตอบโจทย์ และการอบรมคือสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าถ้ากล่องเครื่องมือเรามีแต่ฆ้อน เราก็จะเห็นทุกอย่างเป็นตะปูไปหมด


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

References:
https://www.betterworks.com/magazine/why-some-employees-dislike-or-distrust-engagement-surveys/
https://www.ft.com/content/7a98515c-9a00-4b25-9131-c19c99d3a190

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search