4 ส่วนผสมพิเศษสู่แก้วที่คุ้นเคย ตอนที่ 2

ครั้งที่แล้ว A cup of culture พาไปดูการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรภายในของ Starbucks ที่ส่งต่อไปยังลูกค้าตัวที่ 1 วันนี้เราจะมาดูกันต่ออีก 3 ตัวว่าเขาใช้อะไรอีกบ้างในการมัดใจลูกค้า Starbucks ทั่วโลก
.
.
…..

  • ?ค่านิยมตัวที่ 2 :
    อยู่เคียงข้างกัน ทำงานด้วยความโปร่งใส ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน (Being present, connecting with transparency, dignity and respect.)

Starbucks ให้ความสำคัญเรื่องการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันมาก ที่ Starbucks เรียกพนักงานทุกคนว่า “พาร์ทเนอร์” (Partner) ไม่มีใครสั่งให้ใครทำอะไร แต่คำขอต่าง ๆ จะอยู่ในประโยคว่า “คุณจะช่วยฉันหน่อยได้ไหม?” แม้กระทั่งผู้จัดการก็จะใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่พาร์ทเนอร์ทุกคนเช่นกัน แล้วที่ Starbucks ยังเน้นให้พาร์ทเนอร์เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อฝ่ายใดทำผิด ก็จะบอกกล่าวกัน แนะนำกันในสิ่งที่ถูกต้อง ค่านิยมตัวนี้สะท้อนออกมาชัดมากผ่านการสำรวจของนิตยสารฟอร์จูน (Fortune 500) พบว่ากลุ่มบริษัท 500 บริษัทดีเด่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับลูกค้ามาเป็นอันดับที่ 1 แต่แตกต่างกับ Starbucks ที่เน้นให้ความสำคัญกับพาร์ทเนอร์มาเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า “หากคนภายในให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังลูกค้าผ่านตัวตนของพาร์ทเนอร์ทุกคนเอง”
นี่ถือเป็นสูตรลับความสำเร็จ ขององค์กรที่เชื่อเรื่อง Customer experience เหมือนอย่างเช่น บริษัท Zappos ที่ CEO ของเขามีความเชื่อว่า “การที่ลูกค้าจะมีความสุขได้ พนักงานของเราต้องมีความสุขก่อน ถึงจะส่งต่อความสุขออกไปได้ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นการแกล้งทำ”
.
.

  • ?ค่านิยมตัวที่ 3 :
    กล้าคิด กล้าทำไม่หยุดนิ่งเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาบริษัทฯ และพาร์ทเนอร์ของเราทุกคน (Acting with courage, challenging the status quo and finding new ways to grow our company and each other.)

หากคุณผู้อ่านลองสังเกตดี ๆ จะพบว่าที่ Starbucks มักจะมีเมนูใหม่ ๆ มาให้ลูกค้าลองชิมอยู่เสมอ ที่มาของเมนูใหม่ ๆ เหล่านี้เกิดจากพาร์ทเนอร์ที่คิดกันขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Engagement Program (โปรแกรมสร้างความผูกพัน) เพื่อกระตุ้นให้พาร์ทเนอร์กล้าคิด กล้าทำไม่หยุดนิ่ง แคมเปญนี้มีชื่อเรียกว่า “Barista Signature” ซึ่งคือการแข่งขันของเหล่าพาร์ทเนอร์ในการคิดสร้างสรรค์เมนูแปลกใหม่ เมนูที่ชนะจะถูกนำไปขายใน Starbucks ทุกสาขา การส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์ทำกิจกรรมเหล่านี้ เป็นการให้ “รีวอร์ดทางอ้อม” ซึ่งถือเป็นกลไกในการผลักดันให้พาร์ทเนอร์ทุกคนมีส่วนร่วม และรู้สึกถึงการมีตัวตน การมีคุณค่า การได้รับการตอบแทนและการอยากทำซ้ำ
.
.

  • ?ค่านิยมตัวที่ 4 :
    ทำทุกสิ่งอย่างดีที่สุด และพร้อมรับผิดชอบในทุกสถานการณ์ (Delivering our very best in all we do, holding ourselves accountable for results.)

Starbucks เป็นที่รู้จักเรื่องการเปิดรับลูกค้าและผู้มาเยี่ยมเยือนอย่างไม่จำกัด แน่นอนความคาดหวังของลูกค้าก็ย่อมสูงตามไปด้วย ในประเด็นนี้ A cup of culture ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่พนักงานสตาร์บัคส์สาขาหนึ่งในเมืองฟิลาเดลเฟียแจ้งตำรวจให้จับกุมตัวชายผิวสี 2 คน ที่เข้ามานั่งอยู่ในร้านโดยไม่ได้สั่งเครื่องดื่มและยังขอใช้ห้องน้ำอีก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีของพนักงานสตาร์บัคส์ จน CEO เควิน จอห์นสัน ต้องออกมาขอโทษต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ Starbucks ทำหลังจากนั้นคือ การประกาศปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อจัดฝึกอบรมเรื่องอคติทางเชื้อชาติให้แก่พนักงานสตาร์บัคส์กว่า 1.75 แสนคน ใน 8,000 สาขาทั่วสหรัฐฯ ซึ่งแสดงออกถึงค่านิยมในเรื่อง “การพร้อมรับผิดชอบในทุกสถานการณ์” Starbucks ไม่ยอมนิ่งนอนเฉย แต่ “TAKE ACTION” ทันทีที่พบปัญหาและเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา และผู้บริหารแสดงออกอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมปล่อยให้อะไรที่มันขัดแย้งต่อค่านิยมองค์กรเกิดขึ้น ไม่ประนีประนอมต่อเรื่องอะไรแบบนี้ และการแสดงความรับผิดชอบในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่า “Starbucks ยึดมั่นต่อค่านิยม ต่อสิ่งที่เชื่อ และพร้อมแก้ไขเมื่อเกิดความผิดพลาด”

.
.
…..
ซึ่งทั้งหมดนี้คือ 4 ค่านิยม ที่ทำให้ Starbucks ได้ใจลูกค้าไปเต็ม ๆ ซึ่งการจะส่งต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปถึงลูกค้าได้นั้น ส่วนสำคัญเลยคือ “กลไกภายในของ Starbucks นั้นต้องชัดมาก” กล่าวคือ การมีค่านิยม (Values) ที่เป็นหลักยึดซึ่งถือเป็นมาตรฐานหลัก แต่อีกส่วนหนึ่งที่ A Cup of Culture คิดว่าสำคัญมาก คือ “การ Empower พาร์ทเนอร์ในการตัดสินใจต่าง ๆ” ผ่านการสื่อสารภายในที่ถูกส่งออกมาจากผู้บริหารถึงพนักงานอย่างชัดเจน ที่ทำให้พาร์ทเนอร์แต่ละคนรู้สึกสบายใจในการตัดสินใจต่าง ๆ –ต้นทุนกาแฟหนึ่งแก้ว ไม่สามารถแลกได้กับความรู้สึกที่ไม่ดีที่ติดตัวลุกค้า— และนี่อาจเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของ Starbucks ที่ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีอะไรที่แปลกใหม่ แต่คือวัฒธรรมในแบบฉบับ Starbucks นั้นเอง
“ท้ายสุดนี้…ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขึ้นอยู่ดี ทำไมเราไม่มาสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่เราอย่างเห็นกันละ”
.
.
A Cup of Culture

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search