ตลอดระยะเวลาหลายเดือน หรือมากกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา บทความต่าง ๆ มากมายบนอินเตอร์เน็ต กระทั่งของ A Cup of Culture เอง กล่าวถึงอยากมากเกี่ยวกับข้อดีของการ work from home, work from anywhere มาจนถึง hybrid workplace ว่าจะสามารถเป็นข้อได้เปรียบสำคัญขององค์กรอย่างไรในการดึงดูดและรักษา talent เพราะรูปแบบการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศบ่อย ๆ ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนทำให้หลายต่อหลายคนรู้สึกแล้วจริง ๆ ว่างานเดินต่อได้โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน กลายเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการเลือกนายจ้างของลูกจ้าง
อย่างไรก็ตาม ใด ๆ ในโลกล้วนมีสองด้านฉันใด รูปแบบการทำงานก็ย่อมมีสองด้านฉันนั้น วันนี้เราจึงขอเป็นกระบอกเสียงของ “pro-return to office” หรือผู้สนับสนุนการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศมากกว่า remote work บ้าง ว่าอีกมุมมองหนึ่งต่อรูปแบบการทำงาน มีเหตุผลให้ตนเองเชื่อแน่ว่าการทำงานแบบยุคก่อนโควิดดีกว่าอย่างไร
:::::::::::::::::::::
🔰 1) ออฟฟิศช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในองค์กรได้ดีกว่า
หากเปรียบองค์กรเป็นทีมกีฬา เราจะชนะถ้วยรางวัลได้อย่างไรหากนัดซ้อมกับเพียงสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง? ซึ่งชัยชนะที่ว่านี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวเพียงอย่างเดียว แต่หากหมายถึงความเข้าใจในแผนการเล่นที่มีร่วมกัน เข้าใจบทบาทหน้าที่ของเพื่อนร่วมทีมในตำแหน่งอื่น ๆ ว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเล่นของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นภายในทีมที่มองตาก็อาจรู้ใจ
การทำงานด้วยกันที่ออฟฟิศจึงไม่ต่างกับทีมกีฬาที่ควรมาพบปะกันเป็นประจำ ด้วยข้อดีต่าง ๆ มากมายที่เกิดจาก human touch ในแบบที่การมองหน้ากันผ่านจอคอมพิวเตอร์ให้ไม่ได้ อาทิ การที่หัวหน้าเข้ามาประกบเพื่อโค้ชหรือเมนเทอร์ลูกน้องอย่างใกล้ชิด ตลอดจนการนั่งล้อมวงพร้อม whiteboard ยักษ์เพื่อละเลงวิธีการแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
🔰 2) ออฟฟิศช่วยป้องกันอาการ Burn Out
อาการ burnout ของพนักงานกำลังพุ่งทะลุเพดานทั่วโลก ซึ่งหากเราสังเกตดี ๆ คำนี้กลายมาเป็น buzz word เอาในช่วงสองสามปีหลังหรือนับตั้งแต่เกิดโควิดจนแทบทุกคนต้องเริ่มทำงานจากที่บ้านนั่นเอง งานวิจัยต่าง ๆ ก็ยืนยันเช่นนี้ ด้วยตัวเลขที่น่าสนใจว่า remote workers ทำงานมากขึ้น 10% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกันการทำงานในออฟฟิศก่อนช่วงโควิด
แม้จะรู้สึกเหมือนได้รับอิสระจากการอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อแลกกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับสภาพแวดล้อมห้องสี่เหลี่ยม การทำงานอยู่แต่บ้านเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเราจริง ๆ หรือ? หากเปรียบกับการเข้าออฟฟิศที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าว่าปริมาณงานมีความเหมาะสมหรือไม่ หากมากเกินไปก็สามารถกระจายงานออกไปได้ทันที ทั้งยังแวดล้อมไปด้วยบรรยากาศที่เอื้อต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้มากกว่า ไหนจะสามารถตัดสินใจอนุมัติอะไรต่อมิอะไรได้เร็วกว่าอีกด้วย
🔰 3) ปราศจากซึ่งปฏิสัมพันธ์ วัฒนธรรมองค์กรไม่เกิด
เมื่อใดก็ตามที่เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นวัฒนธรรมก็จะเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ ในบริบทขององค์กร เมื่อมีวิสัยทัศน์และพันธกิจ ก็ย่อมต้องการอยากมีวัฒนธรรมองค์กรดี ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางที่บริษัทและผู้บริหารต้องการจะมุ่งไป หากแต่นี่อาจเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมนุษยชาติที่เราอาจต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มนุษย์ไม่ได้มารวมตัวกัน นับว่าเป็นเรื่องเสี่ยงอยู่เหมือนกันที่หวังเห็นวัฒนธรรมองค์กรในอุดมคติหากปราศจากซึ่งการรวมกลุ่มของคนอันจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่เอื้อต่อการเกิดเป็นวัฒนธรรมในฝัน
🔰 4) ไม่มีอะไรแทนที่ปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้
การพูดคุยผ่านจอคอมพิวเตอร์ จะเทียบได้อย่างไรกับการนัดดื่มกาแฟ หรือการจัด townhall ที่ทุกคนจะมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กัน ในท้ายที่สุด องค์กรที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องพึ่งพาทั้ง hard skills และ soft skills ของพนักงาน ซึ่งอย่างแรกอาจไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ไม่ว่าจะทำงานแบบไหนอย่างไร แต่อย่างหลังหรือทักษะการเป็นมนุษย์นี้ หากปราศจากปัจจัยที่เอื้อต่อการนำความเป็นมนุษย์ออกมาใช้บ่อย ๆ นานวันก็อาจค่อย ๆ เสื่อมลงไปจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นแบบ 360 องศาในที่สุด
:::::::::::::::::::
สุดท้ายนี้ รูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเข้าหรือไม่เข้าออฟฟิศล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ถูกใจไม่ถูกใจด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จึงเป็นโจทย์ของผู้บริหารและ HR ขององค์กรที่ต้องหาจุดสมดุลของตนเองให้เจอ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.