กรณีศึกษาจาก Aristotle Project ของ Google ในปี 2015 โดยการเก็บข้อมูลจาก 180 ทีมเป็นเวลา 2 ปี เพื่อค้นหาว่าอะไรที่ทำให้ทีมใน Google เป็น High Performance Team ผลการศึกษาเป็นที่น่าประหลาดใจว่าประสิทธิภาพของทีมไม่ได้มาจากการรวมตัวกันของสุดยอดผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสายงาน หรือผู้ที่มีความรู้ดีกรีขั้นเทพ แต่เป็นทีมที่มีลักษณะร่วมเหมือนกัน คือ #เป็นทีมที่มีความรู้สึกถึงพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน (Team Psychological Safety)
คำกล่าวของ Paul Santagata หัวหน้าภาคอุตสาหกรรมของ Google ที่ว่า “ ถ้าไม่มีความรู้สึกไว้วางใจ เราก็เรียกว่าทีมไม่ได้” น่าจะอธิบายความหมายของ พื้นที่ปลอดภัยได้เป็นอย่างดี นั่นหมายรวมถึงความเชื่อที่ว่าคุณจะไม่ถูกกล่าวโทษเมื่อคุณทำพลาด หรือไม่ว่าจะพูด ถาม แสดงความคิดเห็นอย่างไรก็จะไม่ถูก ตำหนิ หรือดูถูกให้อับอายขายหน้า.การวิจัยเกี่ยวกับสมองของมนุษย์แสดงให้เห็นว่า #การสร้างอารมณ์เชิงบวก เช่น ความไว้วางใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์อันดี และแรงบันดาลใจ จะช่วยขยายความคิด และส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ในทางกลับกัน ความกลัวจะเบี่ยงเบนความสนใจจากส่วนต่าง ๆ ของสมองที่จัดการความจำในการทำงานและประมวลผลข้อมูลใหม่ ทำให้บั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์และการแก้ปัญหา จึงเป็นเรื่องยากที่คนเราจะทำงานให้ได้ผลดีเมื่อรู้สึกกลัว
เมื่อคนกลัวที่จะแบ่งปันความคิดเห็น ความท้าทาย ความกังวล คำถาม ข้อผิดพลาด หรือความรู้ นั่นหมายถึงความสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การสร้างพื้นที่ปลอดภัย จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้เพื่อการสร้าง High Performance Team
เคล็ดลับ 6 ประการในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยมีดังนี้.
1. ถามคำถามอยู่เสมอ (Ask Questions)
การถามคำถามเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพูดคุย และชวนคิดเพื่อเพิ่มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การถามคำถามยังแสดงให้เห็นว่าการไม่ได้รู้ไปซะทุกอย่างก็เป็นเรื่องธรรมดา และแม้แต่หัวหน้าก็ยังมีอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้.
2. ทดลองทำสิ่งใหม่ (Try New Things)
ส่วนสำคัญของการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ก็คือการกล้าเสี่ยง กล้าลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ ดังนั้นจึงควรหาโอกาสเพื่อส่งเสริมไอเดียใหม่ ๆ โดยการถามความคิดเห็น เปิดโอกาสให้ทดลองทำในวิธีการใหม่ ๆ แทนที่จะทำตามวิธีเดิม ๆ.
3. ตรงไปตรงมาเพื่อเป้าหมายร่วม (Straightforward for Mutual Goal)
บางครั้งก็อาจมีเรื่องที่อาจพูดกันไม่ง่ายนัก เช่น การขอและให้ Feedback หรือการขอและให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งในทีม พยายามส่งเสริมให้ทีมสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ยากในการพูดกัน หมั่นถามว่า “เราจะบรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกันได้อย่างไร?”
4. ยอมรับในความผิดพลาด (Admit the Mistake)
ส่งเสริมให้ทีมยอมรับในความผิดพลาดโดยการทำเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงให้ทีมได้เห็นว่าไม่ว่าใครหรือแม้แต่หัวหน้าก็ผิดพลาดได้ และการยอมรับในความผิดพลาดก็ไม่ได้แย่หรือเป็นเรื่องที่ทำให้เสียหน้า แต่กลับเป็นวิธีการในการแสดงความรับผิดชอบ และเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
5. เรียนรู้จากความผิดพลาด (Failing is Learning)
ถ้าทีมเกิดทำพลาด แทนที่จะรีบหาวิธีแก้ปัญหาและไปยังภารกิจต่อไป ลองใช้เวลาทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผิดพลาด ใช้ความล้มเหลวและความท้าทายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้มีพื้นที่เพื่อพูดคุยกันอย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องกังวล อายหรือกลัว ช่วยกันวิเคราะห์ตั้งแต่กระบวนการวางแผน การดำเนินการ หรือการประสานงานระหว่างสมาชิกในทีม และจึงหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อสมาชิกในทีมกล้านำเสนอความผิดพลาด เสนอแนวคิดใหม่ หรือถามคำถาม ควรแสดงการรับรู้และชื่นชมถึงความกล้าหาญเพื่อสร้างความไว้วางใจและสนับสนุนให้ทีมกล้าแบ่งปันข้อมูลในโอกาสต่อไป.
6. สร้างค่านิยมของทีม (Build Team Values)
สร้างค่านิยมที่มาจากการมีส่วนร่วมของทีม ที่แสดงถึงคุณค่า ความเชื่อ และแนวทางที่ทีมตกลงจะยึดถือปฏิบัติร่วมกัน และหมั่นไถ่ถามเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจในทีมอยู่เสมอ..การสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ได้สร้างขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องอาศัยการเริ่มต้นจากกการมีส่วนร่วม การเป็นแบบอย่างของหัวหน้างาน และการนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จะนำไปสู่ความไว้วางใจและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนา สร้าง High Performance Team และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ประเมินค่าไม่ได้
.
A Cup Of Culture
.>>ที่มาของบทความ
Building high-performance teams through team psychological safety
https://hbr.org/2017/08/high-performing-teams-need-psychological-safety-heres-how-to-create-it
https://www.linkedin.com/pulse/psychological-safety-why-its-critical-high-performing-ramona-shaw/
https://rework.withgoogle.com/blog/five-keys-to-a-successful-google-team