แนวคิดของการ “ทำงาน 4 วัน/หยุด 3 วัน/สัปดาห์” กำลังอยู่ในกระแสที่หลายองค์กรเริ่มหยิบมาเป็นประเด็นพูดคุยกันมากขึ้น ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงก็เริ่มมีให้เห็นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไมโครซอฟท์ประเทศญี่ปุ่น หรือสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นอย่าง Bolt ที่ก้าวข้ามเฟส pilot test และประกาศใช้จริงเป็นการถาวรเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
แต่ก่อนที่เราจะไปร่วมกันหาคำตอบว่าสูตร “ทำ 4 หยุด 3” นี้มีโอกาสเกิด mass adoption ได้มากน้อยเพียงใด คงจะดีไม่น้อยหากเราเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามที่ใกล้ตัวกว่านั้นว่า แล้วสูตรทำ 5 หยุด 2 หรือ 40-hour work week ที่เราอยู่กับมันในปัจจุบันนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์อาจจะทำให้เราเข้าใจอนาคตได้ดีมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ครับ
================
ย้อนไปในช่วงศตรวรรษที่ 18 ต่อศตรวรรษที่ 19 ยุคนั้นคือการเปลี่ยนผ่านจากการทำเกษตรและงานฝีมือสู่ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมหรือการทำงานในโรงงาน แรงงานส่วนมากในตอนนั้นมีช่วงเวลาการทำงานอยู่ที่ราว ๆ 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ทำงานวันละ 16 ชั่วโมงหกวันต่อสัปดาห์)
ชั่วโมงการทำงานที่มากขนาดนั้น เดิมทีไม่เป็นที่พึงพอใจในกลุ่มแรงงานอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากไร่นามาสู่โรงงานก็ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพและความอ่อนล้าของแรงงานเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในปี คศ. 1817 ตัวแทนสหภาพแรงงานอย่างนาย Robert Owen ได้เรียกร้องอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อขอปฎิรูปชั่วโมงการทำงานใหม่ โดยแนวคิดของเขานั้นเรียบง่าย คือในหนึ่งวันควรถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนอย่างเท่า ๆ กัน ได้แก่ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อนตามอัธยาศัย 8 ชั่วโมง และนอนหลับ 8 ชั่วโมง นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 205 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล้วนไม่ง่ายและใช้เวลา มีการรณรงค์เพื่อขอบังคับใช้เป็นกฎหมายหลายต่อหลายครั้งตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีต่อมา แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นในปี 1926 เมื่อ Henry Ford ได้ประกาศบังคับใช้กฎการทำงานภายในบริษัท Ford Motors ที่เรียกว่า 40-hour work week หรือการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ห้าวันต่อสัปดาห์เป็นครั้งแรกของภาคเอกชน (ตลอดช่วงระยะเวลาของการรณรงค์ มีหน่วยงานราชการบางส่วนบังคับใช้กฎการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงบ้างแล้ว) โดยในแถลงการณ์มีใจความสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อการเปลี่ยนแปลงชั่วโมงการทำงานนี้ไปทั่วโลกว่า
“มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องโยนความเชื่อเดิม ๆ ทิ้งไป ความเชื่อที่ว่าเวลาว่างจากการทำงานของแรงงาน คือ เวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และเวลาพักผ่อนควรถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นที่สูงกว่าเท่านั้น”
จนกระทั่งในปี 1940 หรืออีก 14 ปีต่อมา สภาคอนเกรสได้ออกกฎหมายที่มีชื่อว่า The Fair Labor Standards Act ที่ทำให้การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถูกรับรองและบังคับใช้อย่างเป็นทางการ และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทั่วโลกก็คุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน จากปี 1940 ถึงปี 2022 นับเป็นเวลา 82 ปีแล้วที่ชั่วโมงและวันทำงานไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าไหร่เลย จึงเริ่มเกิดคำถามว่า 82 ปีที่ผ่านมากับวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังเหมาะสมอยู่หรือไม่?
=================
ชัดเจนว่าถนนทุกสายปูทางมาสู่คำตอบที่ว่าชั่วโมงการทำงานควรจะน้อยลง โดยมีสามปัจจัยหลักที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ได้แก่
🔰 1) เทคโนโลยี
ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งความก้าวหน้าใด ๆ ในโลกล้วนเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มประสิทธิภาพให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เหมือนเป็นการซื้อเวลาซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของมนุษย์ และเมื่อเทคโนโลยีของมนุษยชาติได้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดขนาดนี้โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง ทำไมเราจึงยังมีชั่วโมงการทำงานที่เท่าเดิม?
🔰 2) วิวัฒนาการของทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาตนเอง
เดิมทีเราเคยเชื่อว่า productivity แปรผันตรงกับเวลา ยิ่งใช้เวลามาก productivity ก็ยิ่งมาก แต่แนวคิดนี้ก็ค่อย ๆ ถูกหักล้างไปเรื่อย ๆ ด้วยงานวิจัยใหม่ ๆ ในแต่ละปี ที่นำเสนอบทสรุปตรงกันว่าแท้จริงแล้ว เวลาพักผ่อนที่มากขึ้นต่างหากที่ทำให้เรา sprint งานต่าง ๆ ในกรอบเวลาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังไม่รวมถึงทฤษฎีและหลักปฎิบัติใหม่ ๆ ในการพัฒนาตนเองที่สอนให้เราทำงานให้ฉลาดขึ้น
🔰 3) โจทย์ชีวิตที่ท้าทายกว่าเดิม
แม้เทคโนโลยีรอบตัวจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สภาพเศรษฐกิจและสังคมอาจไม่ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน เรียกว่าเรามีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไปมากกว่า แต่โดยรวมเราอาจมีโจทย์ชีวิตที่ยากขึ้น ซึ่งอาจมีผลมาจากผลกระทบของโรคระบาดก็ดี การบริหารงานของรัฐบาลก็ดี ความเหลื่อมล้ำก็ดี หรือสงครามการค้าก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนผลักดันให้คนทำงานในปัจจุบันต้องกระจายความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงด้วยการหารายได้มากกว่าหนึ่งทาง การมีวันหยุดมากถึง 3 วันต่อสัปดาห์เป็น game changer สำหรับหลาย ๆ คนให้ได้มีเวลาไปทำในสิ่งที่รักหรือหารายได้พิเศษอื่น ๆ
===============
โดยสรุป เราจะเห็นว่ามีปัจจัยหนุนที่มีน้ำหนักอยู่เหมือนกันในการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชั่วโมงการทำงานแบบปัจจุบันที่ดำเนินมากว่าหนึ่งศตวรรษ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ดูจะมีผลประโยชน์เอียงไปทางฝั่งแรงงานอยู่ฝ่ายเดียว ใครบ้างจะไม่ชอบชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ได้วันพักผ่อนที่เพิ่มขึ้น แถมได้เงินเดือนเท่าเดิม ไม่มีต้นทุนและความเสี่ยงใด ๆ
ในทางกลับกัน เป็นฝั่งองค์กรเสียมากกว่าที่ต้องทำการสำรวจและประเมินความเสี่ยง ข้อดี/ข้อเสียอย่างถี่ถ้วน การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตาม หากไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อทุกฝ่ายได้ ก็ยากมากในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
ในครั้งต่อไป เราจะมาศึกษา case study จากบริษัท Bolt ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของอเมริกาที่ผลักดันให้เกิดนโยบายการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ให้เกิดขึ้นจริงแล้ว รวมไปถึงบทบาทของภาครัฐที่อาจมีส่วนสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจผลักดันวิถีการทำงานใหม่นี้ให้เกิดขึ้นจริงเป็นวงกว้าง โดยอาจไม่ต้องรอไปอีก 100 ปีเหมือนในอดีตที่ผ่านมาครับ
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
>>>
https://www.cnbc.com/2017/05/03/how-the-8-hour-workday-changed-how-americans-work.html
.
.
>>>