เรามักพูดถึงเทรนด์ของการทำงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต รวมถึงการเตรียมตัว เตรียมบุคลากรขององค์กรเพื่อให้ปรับเปลี่ยนให้สามารถรับกับงานในอนาคตได้ทันเวลา แค่เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา วิกฤต Covid 19 ทำให้องค์กรถูกบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนแบบฟ้าผ่า หลาย ๆ เทรนด์สำหรับ Future Work จึงกลายมาเป็น New Normal หรือ Next Normal สำหรับองค์กรทั่วโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือส่งผลให้ Future Work ปรับเปลี่ยนไป ดังนี้
.
.
1. การทำงานระยะไกล (Remote Work)
ก่อนหน้านี้เราได้ยินอยู่เสมอว่าต่อไปเทรนด์การทำงานระยะไกล หรือ Remote Work, Work from Home, Work from Everywhere จะเพิ่มขึ้น หลายองค์กรตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงหรือ? แต่เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์หลังวิกฤต การทำงานระยะไกลก็กลายเป็นหนึ่งใน New Normal ไปซะแล้ว
แม้ว่าตอนนี้หลาย ๆ องค์กรจะเปิดให้พนักงานกลับไปทำงานได้ตามปกติแล้ว แต่ก็ยังมีหลายองค์กรที่ยังคงให้พนักงานทำงานระยะไกล หรืออย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้กับพนักงาน และเรารู้ดีว่ารูปแบบการทำงานจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก
2. การปรับใช้ระบบดิจิตอล (Digital Transformations)
หลายองค์กรจะพยายามนำระบบดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ในองค์กรเนื่องจากมองเห็นแนวโน้มชัดเจนว่าระบบดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นในไม่ช้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้พนักงานยอมรับและเรียนรู้ในการใช้งาน เนื่องจากยังมองว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเป็นภาระที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
ด้วยสถานการณ์บังคับ กลายเป็นว่าระบบดิจิตอลกระโดดเข้ามาเป็นตัวช่วยที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการสื่อสารในองค์กรในช่วงที่ต้องทำงานระยะไกล ถึงตอนนี้ไม่ว่าพนักงานระดับไหน แผนกไหนก็สามารถใช้ Video Conference ได้แบบไม่มีอะไรกั้น เรียกได้ว่าปี 2020 กลายเป็นปีแห่ง Digital Transformations เลยทีเดียว
3. การสื่อสารภายในองค์กร (Internal Communication)
แนวโน้มการทำงานในอนาคตคือการที่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องจะวิ่งเข้ามาหาคนทำงาน เช่นเดียวกับเวลาที่เราเปิด Social Media แล้วมีข้อมูลเราสนใจรออยู่บนหน้า Feed แล้ว
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับองค์กร แต่ในที่สุดแนวโน้มนั้นก็เกิดขึ้นได้อย่างใกล้เคียงความคาดหวังในช่วงที่เริ่มทำงานระยะไกล ด้วยความพยายามอย่างที่สุดของหลาย ๆ องค์กรในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ในเวลาที่ถูกต้อง ช่องทางที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ทิศทางและเป้าหมายขององค์กรในช่วงปรับเปลี่ยน แนวทางการทำงาน รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจ และพนักงานสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
4. บทบาทของผู้นำ (Leadership Role)
ก่อนหน้านี้เมื่อพูดถึงเทรนด์การทำงานในอนาคต บทบาทผู้นำถูกพูดถึงน้อยลง ในขณะที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ มากขึ้น แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องราว และได้เห็นบทความมากมายเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำในช่วงเวลาที่ท้าทาย ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าบทบาทของผู้นำ ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการนำองค์กรในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤต
5. การเชื่อมต่อทางสังคม (Social Collaboration)
จากที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝันอยากตื่นสาย ไม่ต้องผจญรถติด และได้ทำงานจากที่บ้าน กลายเป็นว่าพอทำงานที่บ้านติดต่อกันนานแรมเดือน จากผลการสำรวจหลายสำนักพบว่าข้อเสียประเด็นหลัก ๆ ของการทำงานจากที่บ้านก็คือ ความเหงา ความเครียด และขาดแรงบันดาลใจ เนื่องจากขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อทางสังคมมากยิ่งขึ้น พนักงานมีความต้องการการปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารอย่างโปร่งใส ต้องการฟัง และได้รับการรับฟังเพื่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหน
6. การพัฒนาทักษะและแบ่งปันความรู้ (Re-skilling and Knowledge Sharing)
แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงาน แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานของมนุษย์ได้ได้ทั้งหมด A Cup of Culture ได้กล่าวถึง 7 ทักษะสำคัญสำหรับงานในอนาคตที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ จากผลการวิจัยจาก Gallup ที่ https://www.facebook.com/ACupOfCultureACOC/posts/255280779236276?__tn__=K-R
ดังนั้นนอกจากการทุ่มเทการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาทักษะของพนักงานจึงยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะทางสังคมและอารมณ์ การใช้เหตุผลเชิงตรรกะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะกลายเป็นทักษะที่ต้องการมากกว่าที่เคย ในการเตรียมสู่งานในอนาคต
7. ช่องทางการสื่อสาร (Communication Channels)
เทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความทางโทรศัพท์ การ Chat ผ่าน Application ต่าง ๆ Video Conference, Intranet หรือการแชร์เอกสารผ่าน Cloud ที่ช่วยให้การสื่อสารสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่ารูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัยเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ระบบการสื่อสารที่มีความซับซ้อนมากเกินไปอาจทำให้เกิดความสับสน หรือกลืนกินเวลาส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากพนักงาน ทำให้การบริหารจัดการช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมกลับกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรต้องพิจารณา
8. กำลังใจความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Morale and Wellbeing)
จากผลการสำรวจของ SHRM วิฤตและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้พนักงาน 1 ใน 4 เกิดความความรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง หรือไม่พอใจ ทำให้ประเด็นเรื่องกำลังใจและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานกลายเป็นสิ่งที่องค์กรความให้ความสำคัญแซงหน้าความผูกพันของพนักงาน (Engagement) และการเร่งสร้างผลผลิต (Productivity) นอกจากนี้ยังพบว่าพนักงานเกือบครึ่งเห็นว่าสถานที่ทำงานมีผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตโดยรวมเนื่องจากการระบาดของ Covid 19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ ตื่นตัวและสรรหาวิธีที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ทั้งในด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมถึงการสร้างกำลังใจ
9. การได้ทำงานที่มีความหมาย (Meaningful Work)
พนักงานขับเคลื่อนด้วยสำนึกในเป้าหมายร่วมเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ผลงานในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พนักงาน Gen Z ที่มองว่าการได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมายมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง น่าเสียดายที่พนักงานส่วนมากยังไม่รู้เป้าหมายขององค์กร และยังไม่เข้าใจว่างานของพวกเขามีส่วนต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างไร
สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นที่องค์กรควรให้ความสำคัญ และผู้นำควรทำการสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเป้าหมาย ขององค์กรและความสำคัญของการมีส่วนร่วมของพนักงาน
10. การทำงานแบบ Gig Economy
Gig Economy เป็นการทำงานในรูปแบบ part time, freelance, outsource หรืองานที่ไม่ใช่งานประจำ สำหรับผู้ที่ต้องการบริหารจัดการ work life balance ให้กับชีวิตได้มากขึ้น และไม่ต้องกังวลกับความรู้สึกปลอดภัยในการถูกจ้างหรือให้ออกจากงาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าการทำงานแบบ Gig Economy ในอเมริกามีแนวโน้มจะโตขึ้น 40% ในปี 2020 และจากวิกฤตที่ทั่วโลกกำลังเผชิญทำให้แนวโน้มนี้เกิดขึ้นเร็วและเติบโตแบบก้าวกระโดด
การทำงานแบบ Gig Economy ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
11. การปรับตัวสู่ Agility และ Innovation
เราได้ยินเทรนด์ของ Agility และ Innovation มาสักพักใหญ่ ๆ หลาย ๆ องค์กรให้ความสนใจและเริ่มปรับตัวให้เกิดการทำงานแบบคล่องตัว และสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อให้ทันกับงานในอนาคต แต่วิกฤต Covid 19 ทำให้องค์กรต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น และเร็วขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าถ้าไม่ปรับคือไม่รอด เพื่อผลักดันให้มีความคล่องตัวมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว องค์กรจึงต้องวางแผนการบริหารและจัดการการเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ กำจัดการทำงานแบบไซโล ข้อมูลที่ผิดพลาด และเน้นการสื่อสารภายใน
12. การมีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง (Organization Culture)
จากที่องค์กรคัดเลือกพนักงานเข้าทำงาน ปัจจุบันพนักงานเป็นฝ่ายเลือกองค์กรที่อยากจะทำงานด้วยมากขึ้น วัฒนธรรมองค์กรจึงมีผลกระทบอย่างมากต่อระดับความผูกพันของพนักงานและแนวโน้มนี้ดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้น วิกฤตที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรจริง ๆ ของเราเป็นอย่างไร และองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอดได้
สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ขององค์กร ก็คือการสร้างวัฒนธรรมอย่างตั้งใจ บนพื้นฐานของค่านิยมจากการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพื่อให้พนักงานรับรู้ถึงเป้าหมาย ภารกิจและการปฏิบัติในแนวทางที่สอดคล้อง รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รับรู้ความสำเร็จร่วมกัน และพร้อมที่จะสู้ไปด้วยกันในยามวิกฤต
A Cup of Culture
.
.
ที่มาของบทความ
https://blog.smarp.com/the-future-of-work