เปลี่ยนคน แปลงองค์กร อย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล ADKAR

“ความเปลี่ยนแปลง” เป็นคำที่แฝงไปด้วยความรู้สึกท้าทาย ซับซ้อน หรือแม้แต่น่ากลัว เมื่อใดก็ตามที่คำว่าความเปลี่ยนแปลงเดินผ่านเข้ามาในชีวิต มันมักเป็นช่วงที่เราต้องตัดสินใจก้าวออกจากความเคยชินเดิมๆ ที่อาจเป็น Comfort Zone ของตัวเราไปแล้ว.แต่ในโลกที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา การแข่งขันมีอยู่ทุกภาคส่วน แน่นอนว่าภารกิจใหญ่ของทุกๆ องค์กร ก็หนีไม่พ้นการปรับตัวอย่างไรให้ทันหรือแซงโลกไปให้ได้ แต่เราจะบริหารอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้สำเร็จและยั่งยืนอย่างแท้จริง ?.


ผู้นำด้าน Change Management อย่าง Prosci ได้ระบุว่า “Organizations don’t change. People within organizations change” หรือ องค์กรนั้นไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลง แต่คือเหล่าผู้คนในองค์กรต่างหากที่จะเปลี่ยน Prosci จึงได้พัฒนาโมเดลเพื่อช่วยสนับสนุนให้บุคลากรทุกๆ คน เปิดกว้างและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน ที่มีชื่อว่า “ADKAR” ADKAR คือ Framework ของการตั้งเป้าหมายย่อยระหว่างกระบวนการปรับตัวรายบุคคล เพื่อที่จะได้รับความร่วมมือในองค์รวม ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอน 5 ลำดับ ดังนี้:

==================


✅ 1. A – Awareness หรือ ตระหนักรู้ในความจำเป็นของความเปลี่ยนแปลง


การสร้างความตระหนักรู้ในความเปลี่ยนแปลงนี้ คือการสื่อสารให้ทุกคนรับรู้ว่าจะเปลี่ยนอะไร และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสร้างความเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องมีเปลี่ยนเช่นนี้ Awareness สามารถสร้างได้ผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน และการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ซึ่งสารหากสารเหล่านี้ มีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน มาจากผู้ที่ได้รับความไว้วางใจในองค์กร และมาควบคู่กับพื้นที่ให้ทุกคนคลี่คลายความกังวลใจ จะช่วยให้ผู้คนเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีขึ้น


เราจะรู้ว่าขั้นตอน Awareness นั้นสำเร็จ ต่อเมื่อผู้ที่ต้องเปลี่ยนบอกได้ว่า “ฉันเข้าใจว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนคืออะไร และทำไมความเปลี่ยนแปลงนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น”.


✅ 2. D – Desire หรือ ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง


ในขณะที่ Awareness คือการสร้างความตระหนักรู้ Desire คือการสร้างความต้องการภายในที่จะลงมือทำตามความตระหนักรู้นั้น Prosci ได้ระบุว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ท้าทายที่สุด เพราะเป็นขั้นที่ผูกกับการตัดสินใจส่วนบุคคลองค์กรสามารถสร้าง Desire ได้ผ่านการเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประโยชน์ที่จะได้รับในส่วนบุคคล ระบบรางวัลหรือลงโทษที่ตรงกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ และ การสร้าง Sense of Belonging (ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง) ต่อ Community ขององค์กรเราจะรู้ว่าขั้น Desire นั้นสำเร็จ ต่อเมื่อผู้ที่ต้องเปลี่ยนพร้อมพูดว่า “ฉันจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้”.


✅ 3. K – Knowledge หรือ มีความรู้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร


ความรู้ในที่นี้ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ รู้ว่าต้องเปลี่ยนอย่างไร และ รู้ว่าเมื่อเปลี่ยนแล้วต้องปฏิบัติตัวต่ออย่างไร (Know How to Change และ Know How to Perform in the Future)ในขั้น Knowledge นี้ การอบรม ให้ข้อมูล โค้ชชิ่ง และ Troubleshoot เพื่อให้คำแนะนำตามปัญหาที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นเครื่องมือที่จะสามารถช่วยให้บุคลากรเกิด Knowledge ที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงนี้.


✅ 4. A – Ability หรือ มีความสามารถในการลงมือที่จะเปลี่ยนแปลง


แม้จะดูคล้ายๆ กัน ขั้น Ability จะต่างจากขั้น Knowledge เพราะในขณะที่ Knowledge คือความรู้ Ability จะเป็นความสามารถที่จะนำความรู้นี้มาลงมือเพื่อเกิดผลลัพธ์ได้จริงขั้น Ability นี้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและการฝึกฝน ดังนั้น การสังเกตการณ์ และการวัด Performance เพื่อให้ Feedback ตรงจุด จึงเป็นกระบวนการที่สำคัญ และสามารถนำเครื่องมือหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ มาสนับสนุนการสร้าง Ability ได้.


✅ 5. R – Reinforcement หรือ ได้รับการเสริมแรงเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ยั่งยืน


การเปลี่ยนแปลงที่จะ “เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย” นั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้บ่อย เพราะด้วยธรรมชาติของมนุษย์ แม้เราจะมองว่าเรา Move On ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งอื่นๆ ต่อได้แล้ว คนเราจะมีแนวโน้มที่จะกลับมาสู่สิ่งเดิมๆ ที่เป็น Comfort Zone เก่าอยู่ดี การฉลองความสำเร็จทั้งเล็กและใหญ่ การวัดผลที่ชัดเจนและจับต้องได้ และระบบรางวัลที่ดี จะช่วยสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่องให้บุคลากรสามารถลงมือตามความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างยั่งยืน

==================


การบริหารองค์กรให้เปิดรับและลงมือเปลี่ยน จะสำเร็จได้เมื่อเราสามารถผลักดันให้ทุกคนในองค์กรบรรลุครบทั้ง 5 ขั้นตอน ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนจะมีความเร็วในการตามและยอมรับกระบวนการของแต่ละขั้นตอนไม่เท่ากัน ดังนั้นการประเมินและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดว่าใครติดอยู่ที่จุดไหน และต้องการแรงสนับสนุนมากขึ้นอย่างไร จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จำเป็นในการผลักดันให้องค์กรเปลี่ยนแปลงได้อย่างสมบูรณ์และแท้จริง.


A Cup of Culture
———–
#วัฒนธรรมองค์กร
#corporateculture
#culture

.
.
.>>>

.
.

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search