เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวด้วย Employee Recognition

งานวิจัยเรื่อง Employee Recognition หรือการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ชี้ชัดว่าเมื่อทำอย่างถูกต้องจะสร้างประโยชน์ต่อทั้งตัวพนักงาน หัวหน้างาน ตลอดจนองค์กรเองอย่างมหาศาล ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ถูกรองรับด้วยฐานข้อมูลมจำนวนมากที่ได้จากการเข้าไปสำรวจผู้นำในองค์กรครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ว่าขวัญกำลังใจที่ดีอันส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานสู่ปลายทางคือความพึงพอใจของลูกค้า จะสูงขึ้นอย่างพร้อมเพรียงและสัมพันธ์กัน เมื่อหัวหน้างานเริ่มคอยกล่าวชื่นชมพนักงานอยู่เป็นระยะ ๆ


บทวิเคราะห์หนึ่งที่นำชุดข้อมูลเป็นหมื่น ๆ ชิ้นจากแบบประเมิน 360-degree assessments โดยหยิบมิติด้านการให้พนักงานประเมินหัวหน้ามาวิเคราะห์พบว่า การกล่าวชื่นชมพนักงานยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับความรู้สึกยึดโยงของพนักงานต่อองค์กร หรือที่เรียกว่า employee engagement โดยตัวเลขชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ดังนี้


“บรรดาผู้นำที่จัดอยู่ในกลุ่ม below 10 หรือได้รับคะแนนในหัวข้อการกล่าวชื่นชมพนักงานน้อยที่สุด 10% ล่าง พนักงานจะมีความรู้สึกยึดโยงต่อทั้งหัวหน้าและองค์กรที่เฉลี่ย 27.4%”


“บรรดาผู้นำที่จัดอยู่ในกลุ่ม top 10 หรือได้รับคะแนนในหัวข้อการกล่าวชื่นชมพนักงานมากที่สุด พนักงานจะมีความรู้สึกยึดโยงต่อทั้งหัวหน้าและองค์กรที่เฉลี่ยสูงถึง 69.8%” และอย่าลืมว่านี่เป็นการวัดความยึดโยงของพนักงานโดยอิงจาก employee recognition เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น …


ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้นำ top 10 เหล่านี้ยังได้รับคะแนนประเมินสูงมากอย่างโดดเด่นในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกันในสายตาของพนักงาน เช่น


– ทักษะการทำงานเป็นทีม (collaboration and teamwork)
– รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้อื่น (being open to feedback from others)
– เก่งเรื่องพัฒนาความสัมพันธ์ (building relationships)
– นักสร้างแรงบันดาลใจ (inspiring and motivating)


และแน่นอนว่าการที่หัวหน้ามีความโดดเด่นในมิติสำคัญ ๆ เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกทีมของตนเอง โดยบทวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นอีกว่าเมื่อพนักงานประเมินหัวหน้าในหัวข้อ employee recognition ด้วยคะแนนที่สูง ตนเองก็มีแนวโน้มที่จะ


– มั่นใจเป็นอย่างมากว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
– พร้อมที่จะทุ่มเทมากขึ้น
– ไม่คิดลาออก


ด้วยตัวเลขสถิติต่าง ๆ ที่หยิบยกมานี้ก็คงจะพอเห็นแล้วว่าการกล่าวชื่นชมพนักงานถือเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายแต่สร้างแรงกระเพื่อมได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่เรียกว่า butterfly effect หรือวลีของไทยเราว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”


แล้วในฐานะหัวหน้าเราจะกล่าวชื่นชมลูกน้องอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?


1) คำกล่าวชื่นชมที่เฉพาะเจาะจงจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าการกล่าวชมแบบกว้าง ๆ และกำกวม เช่น เราเก่งนะ เราทำได้เยี่ยมไปเลย ซึ่งเราคงได้ยินกันบ่อย ๆ แล้วก็ไม่ได้ผิดอะไร อันที่จริงพนักงานก็ย่อมดีใจแล้วเมื่อได้ยินคำกล่าวชื่นชมเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้จากหัวหน้า แต่จะดียิ่งกว่าหากเรากล่าวชื่นชมแบบเฉพาะเจาะจงไปที่สถานการณ์หรือการกระทำนั้น ๆ ว่าทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยสิ่งที่ทำลงไปนั้นส่งผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อเราในฐานะหัวหน้า เพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ องค์กร ตลอดจนลูกค้าอย่างไร แบบนี้จึงจะช่วยให้ผู้รับฟังตระหนักถึงความสำคัญของตนเองชนิดเข้าถึงแก่น


2) จงพึงระลึกเอาไว้ว่า คำกล่าวชมที่พนักงานคนหนึ่งได้รับจากเพื่อนร่วมงานที่ว่าดีแล้ว เทียบไม่ได้เลยกับคำยินดีที่ออกมาจากปากของหัวหน้า


3) การกล่าวชื่นชมมีทั้งแบบทำอย่างส่วนตัวระหว่างหัวหน้าและลูกน้องสองคน กับทำอย่างสาธารณะต่อหน้าคนจำนวนมาก เช่น ในที่ประชุมหรืออีเว้นท์ของบริษัท เชื่อหรือไม่ว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอึดอัดหรือเขินอายหากการได้รับคำชมนั้นทำต่อหน้าคนจำนวนมาก ดังนั้นหากเราในฐานะหัวหน้าแพลนที่จะเล่นใหญ่อลังการงานสร้างเซอร์ไพรส์ลูกทีม แม้จะด้วยเจตนาดีและความรักความเอ็นดู แต่คงจะดีกว่าหากเราถามความสมัครใจของเค้าก่อน


4) การเขียนโน้ตชื่นชมแทนการกล่าวด้วยคำพูดบ้างเป็นครั้งคราวถือเป็นวิธีที่ดีไม่แพ้กัน ในต่างประเทศ มีหลายกรณีให้เห็นกันมาแล้วที่พนักงานเก็บโน้ตคำชมที่หัวหน้าเขียนให้เอาไว้เป็นสิบ ๆ ปี คือเป็นสมบัติอันล้ำค่าเลยทีเดียว ใครจะไปรู้ว่าในวันนี้ที่เราอาจรู้สึกว่าตำแหน่งของตัวเองไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย วันหนึ่งเราอาจกลายเป็นคนดังระดับประเทศก็ได้ โน้ตของเราในวันนี้จะล้ำค่าขนาดไหนในวันข้างหน้า


5) จังหวะเวลาถือเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งกล่าวชื่นชมทันทีที่พฤติกรรมนั้นเป็นที่ประจักษ์เท่าไหร่ สิ่งที่พูดย่อมฟังดูมีค่าเพิ่มขึ้นเท่านั้น


และทั้งหมดในวันนี้ก็คือเรื่องราวของ employee recognition ซึ่งว่าด้วยการกระทำเพียงเล็กน้อยอย่างการกล่าวชื่นชมใครสักคนที่ทำดี ก็อาจส่งผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมหาศาลโดยเฉพาะต่อ employee engagement ในองค์กร โดยเราอาจเริ่มนับหนึ่งอย่าง่าย ๆ ด้วยการถามตัวเองเมื่อจบวันว่า ใครบ้างในวันนี้ที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจในความทุ่มเท ความเก่งกาจสามารถ ตลอดจนทัศนคติอันเป็นประโยชน์ต่อทีมและองค์กร และเมื่อชื่อเหล่านั้นปรากฎขึ้นในใจแล้ว ก็แค่หาวิธีส่งต่อมันออกไปด้วยเคล็ดลับข้างต้นเท่านี้เอง


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

References:
https://hbr.org/2022/09/do-you-tell-your-employees-you-appreciate-them
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search