มนุษย์เงินเดือน 101 ทำอย่างไร… เมื่อสงสัยว่านี่เงินเดือนหรือเงินทอน?

คนเราเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นได้ทุกเรื่องตั้งแต่สถานะทางสังคม ของใช้ส่วนตัว หน้าที่การงาน เรื่อยมาจนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อย่างเงินเดือนที่พอรู้เมื่อไหร่ว่าคนนี้ได้เท่านั้น คนนั้นได้เท่านี้ ก็ยิ่งอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่ารายรับปัจจุบันของเราสมเหตุสมผลหรือไม่?


ดังนั้น ในช่วงปลายปีแบบนี้ ไม่ว่าเรากำลังคิดจะเปลี่ยนงานหรือวางแผนนัดคุยกับหัวหน้าเพื่อบรรลุผลลัพธ์ข้างต้น นี่คือแปดข้อควรพิจารณาที่จะช่วยให้เราทำการบ้านและเตรียมตัวก่อนการคุยเรื่องเงินเดือนครั้งถัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


1. ถึงเวลาปรับเพิ่มเงินเดือนแล้วหรือยังดูได้จาก Job Description


เคล็ดลับขั้นต้นที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้เราพิจารณาได้ว่าเงินเดือนที่ได้รับสมเหตุสมผลแล้วหรือไม่คือกลับไปอ่าน job description อีกครั้ง เมื่อเราเริ่มทำงานและเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ร้อยละ 99% ของคนทำงานจะประสบพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “งานงอก” จนถึงจุดหนึ่งที่เราไม่เพียงแต่จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมายตามตัวหนังสือได้ดีเยี่ยม แต่ยังทำงานอื่น ๆ นอกเหนือที่ตกลงกันไว้แต่แรกได้ดีไม่แพ้กัน เมื่อนั้นก็คือมาตรวัดที่ดีในระดับนึงที่บอกเราว่าสามารถต่อรองเงินเดือนเพิ่มได้แล้ว


ในสหรัฐอเมริกาจะมีคำศัพท์หนึ่งที่คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นนัก คือ “Pay equity audits” ซึ่งหมายถึงการตรวจสอบว่าแรงงานได้รับค่าตอบแทนอย่างยุติธรรมหรือไม่ โดยแก่นสำคัญที่หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบก็คือ job description นั่นเอง โดย pay equity audits นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในแวดวง HR บ้านเค้าเป็นอย่างมากในขณะนี้


2. รายรับรวมน่าพอใจหรือไม่อย่าลืมดูสวัสดิการและผลประโยชน์อื่น ๆ ด้วย


ด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดเดาไม่ได้ กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรส่วนใหญ่พร้อมใจกันรัดเข็มขัดและอาจไม่สามารถปรับเพิ่มฐานเงินเดือนให้สูงขึ้นได้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราในฐานะพนักงานสามารถนำมาพิจารณาหาความสมเหตุสมผลของ total package ได้คือสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ประกันชีวิตและสุขภาพ อัตราสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้าง มื้ออาหาร ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ส่วนลดด้านไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ทั้งฟิตเนส ดูหนัง และอื่น ๆ โดยเราสามารถลองตีออกมาเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ได้แล้วลองคำนวณดูว่าสิทธิประโยชน์เหล่านี้ช่วยเราประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้เท่าไหร่


เช่น จากเดิมเราจ่ายค่าประกันชีวิตและสุขภาพรวมปีละสามหมื่นบาท แต่บริษัทเองก็มีประกันกลุ่มคุ้มครองทำให้เราสามารถปรับลดแผนความคุ้มครองเพื่อจ่ายค่าเบี้ยที่ถูกลงเหลือเพียงสองหมื่นบาทได้ หรือบางบริษัทจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน และค่าเดินทางจำนวนหนึ่งซึ่งรวม ๆ แล้วทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มากกว่าสามถึงห้าพันบาท


อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือสายงานโรงแรมที่มีฐานเงินเดือนอย่างเดียวพอ ๆ กับค่าแรงขั้นต่ำคือ 12,000-15,000 บาทเท่านั้นสำหรับตำแหน่งเรี่มต้น แต่หากพูดถึงโรงแรมหรือรีสอร์ทโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและต่างประเทศก็จะมีสวัสดิการฟรีอาหารสามมื้อเจ็ดวันต่อสัปดาห์พร้อมที่พัก ซึ่งหากเราอาศัยอยู่ในเมืองหลวงแล้วต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เหล่านี้เอง สวัสดิการข้างต้นก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้เดือนละกว่าสองถึงสามหมื่นบาทเลยทีเดียว ยังไม่นับ service charge ที่ได้เพิ่มเติมต่างหากทุกเดือนอีก ทำให้เมื่อพอลองคำนวณดี ๆ เราอาจมีรายได้เทียบเท่ากับคนเมืองหลวงเงินเดือนสี่ถึงหกหมื่นบาทเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการพิจารณาสวัสดิการและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่องค์กรมีให้ประกอบกันด้วยจึงเป็นสิ่งที่เราควรทำเป็นอย่างยิ่ง


3. ศึกษาค่าเฉลี่ยของตลาดก่อนต่อรองเงินเดือน


การไม่รู้ค่าเฉลี่ยเงินเดือนของตลาดในตำแหน่งเดียวกันก็เปรียบดั่งการออกไปรบโดยปราศจากอาวุธและเกราะป้องกัน คือ โอกาสเจ็บตัวสูงเพราะไปคุยต่อรองแบบไม่มีข้อมูล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องมีตัวเลขในใจที่คาดหวังและรับได้ไว้ก่อนเสมอ ซึ่งก็สามารถหาได้จากการสอบถามเพื่อนหรือคนรู้จักในแวดวงเดียวกัน ตำแหน่งเดียวกันในบริษัทอื่นยิ่งดี หรือหากไม่มีเลยก็ยังสามารถหาข้อมูลตัวเลขได้จากรายงานประจำปีของบริษัทจัดหางานใหญ่ ๆ อย่าง Adecco หรือ JobsDB


4. สอบถามโครงสร้างเงินเดือนกับ HR


อีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ แทนที่เราจะเป็นฝ่ายเผยตัวเลขที่ต้องการ ก็ให้ถามโครงสร้างหรือกระบอกเงินเดือนกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลก่อนเลยแล้วนำข้อมูลที่ได้มาเทียบกับตัวเลขที่เราทำการบ้านมา โดยความลับอย่างหนึ่งของเทคนิคนี้คือหาก HR ไม่สามารถให้ข้อมูลกระบอกเงินเดือนได้ เราสามารถตั้งสมมติฐานต่อได้ว่าเหตุผลหนี่งอาจเป็นเพราะองค์กรมี pay gap ภายในที่กว้าง ซึ่งจะกลายเป็นข้อพิจารณาเพิ่มเติมให้เราทันทีว่ารับได้หรือไม่ได้กับข้อเท็จจริงนี้หากตบปากรับคำเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม หาก HR สามารถแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวให้เราได้โดยไม่ติดอะไรแต่กระบอกเงินเดือนดันต่ำกว่าที่คิดไว้ ก็เริ่มต่อรองด้วยชุดตัวเลขจากการบ้านที่เราทำมาในข้อก่อนหน้าดูได้เลย


5. อย่าเก็บเรื่องเงินเดือนไว้คุยตอนสุดท้าย


ส่วนใหญ่แล้วเราทุกคนมักคุ้นชิ้นกับกระบวนการสัมภาษณ์ที่นำเรื่องการต่อรองเงินเดือนไปไว้ขั้นท้ายสุด หลังจากผ่านกระบวนการสัมภาษณ์แล้วนับครั้งไม่ถ้วน ในบางกรณีกระทั่งกับซีอีโอบริษัท ซึ่งคงจะน่าเสียดายและเป็นการเสียเวลาด้วยกันทั้งสองฝ่ายอยู่ไม่น้อย หากทุก ๆ กระบวนการนั้นราบรื่นและมีแนวโน้มไปในทิศทางบวกแต่สุดท้ายลงเอยที่ต้องโบกมือลากันไปเมื่อตกลงเงินเดือนไม่ได้ ซึ่งประเด็นนี้กลับเป็นฝ่ายองค์กรเสียอีกที่เสียหายมากกว่า โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่มีความสำคัญมากที่ต้องใช้งบประมาณคัดเลือกสรรหาไปไม่น้อย บ้างออกค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักให้เดินทางมาสัมภาษณ์เพียงเพื่อได้เห็นตัวผู้สมัครเป็น ๆ บ้างจัด assessment day ตลอดทั้งวันเพื่อเอาให้แน่ว่าเป็นคนที่มีเคมีใช่จริง ๆ และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นคือกว่าจะขอคิวของซีอีโอและผู้บริหารมาได้ก็ไม่ง่าย จริง ๆ แล้วจึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องตระหนักในข้อเท็จจริงนี้และแจ้งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเงินเดือนตั้งแต่ตอนต้นหรือกลาง ๆ ทันทีที่มั่นใจในตัวผู้สมัครแล้วระดับนึง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคือเราในฐานะผู้สัมภาษณ์ก็ยังต้องอยู่กับขนบที่ยกเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไปไว้ท้ายสุดอยู่ดี เราจึงสามารถรวบรวมความกล้าเป็นฝ่ายลองถาม HR เพื่อขอคุยก่อนได้ โดยมีหลักการคล้ายกันคือถามได้เมื่อเรามั่นใจแล้วประมาณนึงว่าไม่น่าพลาด อาจจะรอบสองหรือสามของการสัมภาษณ์ก่อนที่จะพบกับเบอร์ใหญ่จริง ๆ


6. ถือไพ่ไว้หลาย ๆ ใบ


การมีไพ่หลายใบแปลตรงตัวก็หมายถึงการกุมอำนาจต่อรองไว้ที่ตัวเอง แต่นั่นก็แปลว่าเราต้องมีศักยภาพมากพอที่จะพาตัวเองไปสู่ขั้นตอนท้าย ๆ ของการสัมภาษณ์ได้มากกว่าหนึ่งบริษัทก่อน จึงจะสามารถหยิบยกตัวเลขของบริษัทที่เสนอเงินเดือนมากกว่ามาต่อรองดูได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีไพ่หลายใบก็เปรียบดั่งดาบสองคมที่เราต้องระวังไม่ยกเงินเป็นที่ตั้งอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ความสอดคล้องกับภาพชีวิตที่อยากให้เป็น โอกาสในการเติบโต วัฒนธรรมองค์กร หรือเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น โดยหากปัจจัยเหล่านี้สูสีกินกันไม่ลงเราจึงหยิบไพ่เงินเดือนออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์


7. สนทนากับผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างเป็นพวกเดียวกัน


วัฒนธรรมหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในบ้านเรา บทสนทนาเรื่องเงินดูเหมือนจะเป็นเรื่องต้องห้ามหรือทำให้เราดูไม่ดีเอาได้ง่าย ๆ แม้ว่าเจตนาของเราจะเพื่อเพียงหวังรายได้ที่สมกับความรู้ความสามารถและชีวิตที่ดีโผล่หัวพ้นน้ำในสังคมที่ตั้งตัวได้ยากเหลือเกินก็ตามที นั่นทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่เปิดประเด็นต่อรองเงินเดือน หัวข้อนี้ดูเหมือนจะแบ่งคู่สนทนาออกเป็นสองฝ่ายอยู่ร่ำไป คือต่างก็ตั้งการ์ดขึ้นมาในสังเวียนที่ต้องมีฝ่ายแพ้ชนะ แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปหากเรากำหนดรูปแบบการพูดคุยที่สามารถชี้ให้ว่าที่นายจ้างเห็นถึงข้อดีที่จะทำให้เราเป็นผู้ชนะในระยะยาวไปด้วยกันได้ หมายความว่าเคล็ดลับที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการศึกษาค่าเฉลี่ยของตลาดก็ดี หรือรู้จักการถือไพ่ไว้หลาย ๆ ใบก็ดี ไม่ใช่เพื่อการมาสู่ปลายทางที่เราจะไปพูดต่อรองในเชิงว่าที่โน่นเค้าได้กันเท่านั้น เราจึงอยากได้เท่านี้ หากแต่เป็นการเรียบเรียงเรื่องราวชี้นำให้เห็นประโยชน์ที่องค์กรและเราจะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ โดยมีตัวเลขที่สมเหตุสมผลเป็นหลักการอ้างอิงเช่น เราอาจพูดว่าที่ผ่านมาเราพิสูจน์ผ่านการทำงานมานับไม่ถ้วนว่าสามารถช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างไรโดยมีหลักฐานเชิงสถิติเป็นที่ประจักษ์ และเราก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะไม่เพียงแต่รักษามาตรฐานระดับสูงนี้ไว้แต่ยังตั้งเป้าที่จะทำให้ดีขึ้นเพื่อเติบโตไปกับองค์กรด้วย หากเป็นไปได้เราเชื่อว่าตัวเลขนี้สะท้อนคุณค่าและความตั้งใจของเราได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ เป็นต้น


8. ไม่หยุดพัฒนาและเรียนรู้


การตอบคำถามที่ว่าเราควรได้เงินเดือนเพิ่มหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงปัจจัยด้านระยะเวลาความแก่งาน หรือความถี่ในการเปลี่ยนงานบ่อย ๆ อย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปเท่านั้น หากแต่สำคัญที่ตัวเราเองต้องเดินไปข้างหน้าไม่หยุดอยู่กับที่ หมั่นแสวงหาองค์ความรู้แขนงใหม่และพัฒนาทักษะที่ตลาดมองหาเพื่อให้ตัวเองเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่เสมอ ดังคำกล่าวหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ของคุณหนุ่ย พงศ์สุขที่ว่า หากเราพูดกับตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าฉันคือท็อปเท็นของวงการ เมื่อพูดถึงแวดวงนี้จะมีชื่อฉันปรากฎอยู่ในอันดับแรก ๆ ที่คนนึกถึงอยู่เสมอ เมื่อนั้นเราจะไม่อับจนหนทางอย่างแน่นอน และผมเองก็คิดด้วยว่าทุกท่านอาจไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคเจ็ดข้อข้างต้นเลยด้วยซ้ำไป


สุดท้ายนี้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ไม่ใช่ประเด็นน่าเสียหายแต่อย่างใดที่จะต้องทำให้เรารู้สึกอาย ไม่กล้าพูดไม่กล้าต่อรอง ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่กล้ายืนหยัดในคุณค่าของตนเองโดยสามารถแจกแจงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลต่างหากคือว่าที่ทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่องค์กรใดมีโอกาสได้ประสบพบเจอก็ควรรีบคว้าตัวไว้โดยพลัน


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

Reference:
https://www.fastcompany.com/90800196/expert-advice-on-landing-the-salary-you-want

Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn
Search

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

The Value Compass full report is ready for download. Thank for interesting in our free tools.

Search