สัปดาห์ที่ผ่านมีแฟนเพจชวนเราพูดคุยหลังไมค์เกี่ยวกับ “Sense of Ownership” หรือ “ความรู้สึกเป็นเจ้าของ” ของพนักงานต่อการทำงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ท้าทายจากช่วงวิกฤต ทำไมบางองค์กรถึงรอดได้แม้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ทำไมบางองค์กรต้องแยกย้ายและปิดตัวลง ทำให้ได้ไอเดียน่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อแฟนเพจท่านอื่น ๆ ในช่วงที่ “Sense of Ownership” น่าจะมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนและพลิกฟื้นสถานการณ์ทางธุรกิจในช่วงนี้
.
.
“Sense of Ownership” เป็นมากกว่าความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่เป็นความคิดหรือความรู้สึกของพนักงานที่ต้องการเห็นองค์กรของพวกเขาประสบผลสำเร็จในเป้าหมาย ก้าวผ่านอุปสรรค สร้างผลกำไรและเติบโต ลองจินตนาการดูว่าถ้าพนักงานทุกคนในองค์กรมีความคิดประหนึ่งว่าตัวเองเป็น “เจ้าของกิจการ” จะส่งผลถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพนักงาน และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผลลัพธ์ขององค์กรอย่างไรบ้าง?
ในช่วง 3- 4 เดือนที่ผ่านมาอาจจะเป็นบททดสอบให้เห็นถึงระดับของ Sense of Ownership ของพนักงานในองค์กรที่ดีเลยทีเดียว
Sense of Ownership สามารถสังเกตง่าย ๆ จากพฤติกรรมต่อไปนี้
□ สนใจหรือ “อิน” เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาขององค์กร
□ สนใจในงานด้านต่าง ๆ ขององค์กรนอกเหนือจากงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบ
□ สนใจเกี่ยวกับเป้าหมายองค์กร และตัวชี้วัดในงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย
□ สามารถการจัดการตนเองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในหน้าที่รับผิดชอบ
□ มีความต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้เทคนิคเพื่อทำงานให้ง่ายขึ้นและดีขึ้น
□ เปิดรับคำติเตียน หรือความคิดใหม่ ๆ และใช้ในการพัฒนากระบวนการ และปรับปรุงผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
□ นำเสนอความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงและพัฒนา
□ ไม่ลังเลที่จะช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหานอกเหนือความรับผิดชอบ
□ ไม่ย่อท้อเมื่อเกิดความผิดพลาดหรืออุปสรรค
□ กระตือรือร้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากทัศนคติที่แตกต่างกันของพนักงานเท่านั้น แต่องค์กรก็สามารถส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่แสดงถึง Sense of Ownership ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และ ค่านิยมหลัก (Core Values)
หลายองค์กรอาจเติบโตมาด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมที่ถูกกำหนดมาจากผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารระดับสูง และพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามที่กำหนด แต่ถ้าพนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการสร้าง Sense of Ownership ที่เพิ่มขึ้น หลัง lockdown นี้อาจเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะมาทบทวนกันใหม่ว่า หลังจากวิกฤต Covid-19 ที่เกิดขึ้นทิศทางและเป้าหมายขององค์กรมีอะไรที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ให้โอกาสทุกคนในการระบุวิสัยทัศน์และค่านิยมที่พวกเขาคิดว่าจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ผู้อ่านสามารถศึกษาเกี่ยวกับการทบทวนวัฒนธรรมองค์กรหลังวิกฤตได้ที่ https://www.facebook.com/ACupOfCultureACOC/posts/262277921869895?__tn__=K-R\
องค์กรสามารถให้พนักงานมีส่วนร่วมโดยการใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจความคิดเห็นจากพนักงานอย่างทั่วถึง รวมถึงการคัดเลือกตัวแทนบุคคลจากแผนกต่าง ๆ เพื่อทบทวนข้อมูลเชิงลึก การมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้และรับรู้ว่าได้ถูกนำไปใช้จริง และยิ่งถ้าพนักงานได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้า และผลสำเร็จแม้ว่าจะเล็กน้อยที่มาจากพวกเขาก็จะยิ่งสร้าง Sense of Ownership ที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
2. สื่อสารแบบสองทาง
ไม่มีเจ้าของกิจการคนไหนที่อยากจะทำอะไรตามใบสั่ง คนเรามักจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อรู้เหตุผลว่าเปลี่ยนไปทำไม และฉันจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ สิ่งที่จะช่วยให้พนักงานเกิด Sense of Ownership คือได้รับรู้จากการสื่อสารที่ชัดเจนถึงเหตุผลและและความสำคัญ รวมถึงการได้แสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการคิดวิธีการแก้ปัญหา และความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการพาองค์กรผ่านพ้นปัญหาร่วมกัน
3. ให้อิสระในการทำงาน
อีกแนวทางในการสร้าง Sense of Ownership คือ การให้อิสระในการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงอิสระในหน้าที่รับผิดชอบและสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง ยิ่งในช่วงนี้ที่ในลักษณะการทำงานแบบ New Normal ที่อาจมีรูปแบบการทำงานแบบ Remote Work มากขึ้น ยิ่งเป็นโอกาสดีที่เอื้อในการสนับสนุนให้พนักงานมีอิสระในการทำงาน อาจเริ่มด้วยการมอบหมายงานที่มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ Micromanage หรือจ้ำจี้จ้ำไชทุกขั้นตอน แต่ให้อิสระในการออกแบบวิธีการ การตัดสินใจในงานที่รับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างทักษะ และความมั่นใจในการตัดสินใจในงาน ข้อควรระวังคือ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดจากการมีอิสระในงาน หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษ แต่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน
3. เชื่อมโยงผลงานกับความสำเร็จขององค์กร
พนักงานจะรู้สึกถึง Sense of Ownership มากขึ้นก็ต่อเมื่อพวกเขาเข้าใจว่าผลงานของพวกเขามีผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
>
ผลงาน | ผลกระทบต่อองค์กร |
ขายได้ตามยอดที่กำหนด | บริษัทมีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น |
ให้บริการลูกค้าจนครบกระบวนการ | ลูกค้าพึงพอใจและบอกต่อ |
ซ่อมรถให้ลูกค้าเสร็จทันเวลา | ลูกค้าชมเชยและกลับมาใช้บริการอีก |
ดังนั้น นอกเหนือจากการวัดผลงานที่กำหนดแล้ว ควรมีช่องทางที่พนักงานจะได้รับรู้ผลกระทบต่อองค์กรที่มาจากผลงานของพวกเขา นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนโครงการที่เปิดโอกาสในการนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนางาน หรือพัฒนาธุรกิจที่เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน เช่นการคิดผลิตภัณฑ์และนำไปขายได้จริงเป็นต้น
5. โอกาสเกี่ยวกับการปันผลกำไร
วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาในการสร้าง Sense of Ownership สำหรับองค์กรที่มีความเป็นไปได้การปันผลกำไรจะช่วยให้พนักงานมีส่วนได้เสียในงานที่ทำ ยิ่งทำมากก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้นตอบแทนอย่างชัดเจนโดยใช้รูปแบบที่แตกต่างกันเช่น Incentive Bonus ประจำปี หรือหุ้นบริษัท เป็นต้น
………………………
Sense of Ownership ไม่ได้เป็นเพียงแค่วิธีที่จะสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานอีกด้วย
ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเรื่องไหนเป็นพิเศษสามารถ inbox มาคุยกับพวกเราได้ หรือศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brightsidepeople.com/our-services/
A Cup of Culture
ที่มาของบทความ
https://soapboxhq.com/blog/employee-motivation/help-employees-take-ownership-work