เมื่อ “Trust” เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งมวล

“ความไว้วางใจ” (Trust) เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่อยู่ชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการที่เรายอมจ่ายเงินที่ทำงานหามาได้อย่างยากลำบากเพื่อแลกกับสินค้าหรือบริการหนึ่ง ๆ การที่เราตัดสินใจผูกมัดชีวิตของเรากับใครซักคนผ่านการแต่งงาน หรือแม้แต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความไว้วางใจทั้งนั้น


ในระดับองค์กรก็เช่นกัน ความไว้วางใจถือเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญที่สุดของผู้นำองค์กร แต่การสร้างความไว้วางใจต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำ” (Leadership) การมองภาวะผู้นำแบบความหมายดั้งเดิมคือการมองว่าเป็นเรื่องของตัวคุณที่เป็นผู้นำ เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และความสามารถของคุณเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วภาวะผู้นำเป็นเรื่องของคนรอบข้างคุณมากกว่า ว่าคนเหล่านั้นสามารถดึงศักยภาพและความสามารถของตัวเองออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อทำงานกับคุณและอิทธิพลนั้นคงอยู่ได้มากน้อยแค่ไหนหากตัวคุณเองไม่ได้อยู่ด้วย


ความไว้วางใจมีตัวขับเคลื่อนหลักทั้งหมด 3 ข้อคือ

  1. ความแท้จริง (Authenticity) – เมื่อคนอื่นมองว่าคุณเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้เห็น
  2. ตรรกะ (Logic) – เมื่อคนอื่นเชื่อมั่นในความสามารถและวิจารณญาณของคุณ
  3. ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) – เมื่อคนอื่นรู้สึกว่าคุณให้ความสำคัญกับพวกเขา


โจทย์สำคัญของผู้นำที่ต้องการรักษาความไว้วางใจจากคนในองค์กรเอาไว้คือการต้องรักษาตัวขับเคลื่อนทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ให้สั่นคลอน เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่าคนอื่นเริ่มสูญเสียความไว้วางใจในตัวคุณ คุณควรสำรวจตัวเองและย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อหาว่าตัวขับเคลื่อนข้อไหนที่กำลังเป็นปัญหา ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณอาจเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งในการทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ นี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเรื่อง Empathy หรือถ้าคุณถูกคนอื่นในทีมตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถหรือความคิดของคุณ นี่ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเรื่อง Logic ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณกำลังสื่อสารความเป็นตัวคุณในบางแง่มุมออกไปได้ไม่ดีนัก นี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเรื่อง Authenticity


ถ้าคนอื่นมองว่าคุณสนใจแต่ตัวเองมากกว่าคนอื่น แล้วใครจะไว้วางใจให้คุณนำพวกเขาล่ะ? – ปัญหาเรื่อง Empathy เป็นปัญหาที่เหล่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จพบเจอกันมากที่สุดและเป็นปัญหาที่พบได้มากกับคนที่เป็นนักคิดวิเคราะห์และชอบการเรียนรู้ เพราะบุคคลกลุ่มนี้มักจะไม่สามารถอดทนกับคนที่มีแรงผลักดันในการเรียนรู้น้อยกว่าตัวเองหรือใช้เวลานานกว่าในการทำความเข้าใจเรื่องบางเรื่อง นอกจากนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีทีก้าวหน้าในยุคนี้ก็เป็นอีกส่วนที่ดึงความสนใจของหลาย ๆ คนออกไปจากสิ่งตรงหน้า ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้ในบางครั้งกลายเป็นเหมือนว่าคุณไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับคนอื่น วิธีการแก้ไขปัญหานี้คือการใส่ใจกับคนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ลองเปลี่ยนมุมมองแทนที่จะโฟกัสว่าคุณต้องการอะไรจากการประชุมครั้งนี้ เปลี่ยนเป็นโฟกัสว่าจะทำยังไงให้ทุกคนได้สิ่งที่แต่ละคนต้องการจากการประชุมครั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่คุณทำได้คือการเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ให้ไกลตัวในระหว่างการประชุม พักการพิมพ์แชทหรือเช็คอีเมลไว้ก่อน สนใจคนอื่นตรงหน้าให้มากที่สุดเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณให้ความสำคัญกับพวกเขา


ถ้าคนอื่นยังตั้งคำถามกับความสามารถและวิจารณญาณของคุณ แล้วใครจะไว้วางใจให้คุณนำพวกเขาล่ะ? – ปัญหาเรื่อง Logic ต้องกลับไปแก้ไขตัวข้อมูลที่คุณสื่อสารออกไป คุณต้องแน่ใจเสมอว่าสิ่งที่คุณพูดออกไปเป็นเรื่องที่คุณรู้จริงและจะไม่ทำให้คนอื่นตั้งคำถามกับตัวคุณ นอกจานี้ คุณควรพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเรียนรู้จากคนอื่น


ถ้าคนอื่นรู้สึกว่าไม่สามารถเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของคุณได้ แล้วใครจะไว้วางใจให้คุณนำพวกเขาล่ะ? – จริงอยู่ที่ในบางครั้งการไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงออกไปก็ช่วยแก้ไขปัญหาในระยะสั้นได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็บั่นทอนความไว้วางใจและความสามารถในการนำคนอื่นในระยะยาว ดังนั้น หาก Authenticity คือปัญหาของคุณ ลองเปลี่ยนจากการคิดว่าคนอื่นต้องการจะได้ยินอะไรจากคุณมาเป็นการคิดว่าคุณจะสามารถให้อะไรกับพวกเขาได้ ลองนำสิ่งที่คุณมีแตกต่างจากคนอื่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทีมและคุณจะพบว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายและยอมรับซึ่งกันและกันจะนำพามาซึ่งผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีขึ้น


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.

Resources:
Begin with Trust The first step to becoming a genuinely empowering leader by Frances X. Frei and Anne Morriss Harvard Business Review
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn