ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า… โปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม ล้วนมีทีมงานคุณภาพอยู่เบื้องหลังด้วยกันทั้งสิ้น คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วทีมที่ดีต้องมีคุณลักษณะแบบไหน? หากลองนึกย้อนกลับไปสมัยเรียนที่เราเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เมื่อต้องถูกมอบหมายให้ทำงานกลุ่ม เรามักชอบอิสระในการได้เลือกสมาชิกเข้าทีมด้วยตนเอง มากกว่าที่จะให้อาจารย์จัดกลุ่มให้ และแทบทุกครั้งกลุ่มของเราก็มักจะประกอบไปด้วยสมาชิกหน้าเดิม ๆ อยู่เรื่อยไป
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? หากเราพิจารณาดูดี ๆ ก็จะพบว่าการได้อยู่กับคนที่เราไว้เนื้อเชื่อใจจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ และไม่อายที่จะแสดงความคิดเห็น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือสิ่งที่เรียกว่า psychological safety นั่นเอง ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดของทีมที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยานั้น Dr. Ron Freidman นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในองค์กร ได้สรุปออกมา 5 ข้อ ได้แก่
===============
🔶 1.สื่อสารกันด้วยการพูดมากกว่าพิมพ์
เฉพาะอย่างยิ่งตลอดช่วงระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา ที่เราทุกคนต้องทำงานแบบ work from home ทำให้เราพบปะกันแบบซึ่งหน้าน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่จากการศึกษาพบว่าทีมที่ประสบความสำเร็จ เลือกที่จะโทรหรือวิดีโอคอลมากกว่าการพิมพ์หากัน โดยมีค่าเฉลี่ยการโทรอยู่ที่ 10.1 ครั้งต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทีมทั่ว ๆ ไปที่ 6.1 ครั้งต่อวัน สาเหตุเพราะการพูดคุยด้วยน้ำเสียงไม่เพียงแต่เป็นการกระชับความสัมพันธ์ได้ดีกว่าในระยะยาว แต่ยังช่วยหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาดอีกด้วย ซึ่งสวนทางกับแนวคิดอีกแบบ ที่มองว่าการโทรคุยกันสร้างความกระอักกระอ่วมหรือไม่สะดวกใจ
🔶 2.ทำการบ้านก่อนทุกการประชุม
ทีมที่ประสบความสำเร็จ จะมีการนัดแนะเพื่อแจกแจงหน้าที่หรือสิ่งที่จะพูดให้สมาชิกเตรียมตัวมาล่วงหน้า (prework) กำหนดหัวข้อสิ่งที่จะพูดให้ชัดเจน และอาจให้สมาชิกแต่ละคนทำการเช็คอินโดยแจ้งความคืบหน้าของสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่ให้เพื่อนร่วมทีมทราบ ในทางกลับกัน การประชุมที่ไม่มีแบบแผนใด ๆ มักจะก่อให้เกิดประสบการณ์เชิงลบในที่ทำงาน สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ และนำมาซึ่งค่าเสียโอกาสเป็นเม็ดเงินนับล้านแก่องค์กร
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมไม่จำเป็นต้องประกอบไปด้วยเรื่องงานเพียงอย่างเดียวเสมอไป แต่ยังสามารถใช้เป็นเวทีเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย
🔶 3.ใช้เวลากับเพื่อนร่วมทีมนอกเหนือจากเรื่องงาน
งานวิจัยที่มีชื่อเสียงอย่าง “From coworkers to friends: The development of peer friendships in the workplace” บ่งชี้ให้เห็นว่าการพูดคุยสัพเพเหระกับเพื่อนร่วมงานสร้างผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด เพราะเปิดโอกาสให้เราและคนในทีมได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้น บ่อยครั้งทำให้เราพบความชอบที่คล้ายกัน พัฒนาสู่การพูดคุยที่เป็นธรรมชาติ และต่อยอดไปสู่กิจกรรมร่วมกันในบริบทอื่น ๆ เช่น การวิ่งออกกำลังกาย ทำกับข้าว ทานอาหาร หรือแฮ๊งเอ้าท์ จะเห็นได้ว่าทีมที่เก่ง ไม่ได้เก่งเพราะทำงานกันตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม พวกเขาลงทุนไปกับเวลาที่มีร่วมกันนอกเหนือจากที่ทำงาน ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น และนำไปสู่ทีมเวิร์คที่ดีขึ้นตามลำดับ
🔶 4.ชื่นชมซึ่งกันและกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มสูงขึ้น คือการรู้สึกว่าตัวเราเองมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง จึงเป็นสาเหตุว่า บ่อยครั้ง คำชื่นชมหรือคำพูดที่ทำให้เรารู้สึกมีพลังกลับผลักดันเราไปข้างหน้าได้ดีกว่ารางวัลที่นับเป็นเม็ดเงิน และในทีมที่ประสบความสำเร็จ คำชื่นชมเหล่านี้ไม่ได้ลงมาแบบ top down จากผู้บริหารเสมอไป หากแต่เป็นสิ่งที่คนภายในทีมแสดงออกต่อกันและกันเป็นปกติจนเกิดเป็นวัฒนธรรมขนาดย่อมขึ้นมา
🔶 5.ทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้
เมื่อทีมของคุณมีเช็คลิสต์ตามข้อหนึ่งถึงข้อสี่แล้ว การเป็นตัวของตัวเองแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามอีกเลย และในข้อนี้ คือ การย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรกของบทความนี้อีกครั้งนั่นเอง ทีมที่ดี คือ ทีมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน สร้าง psychological safety ร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ คือความกล้าคิดกล้าแสดงออกโดยไม่กลัวถูกตัดสิน ก่อให้เกิดนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และแม้จะมีบ้างที่เกิดการโต้แย้งถกเถียงกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็น constructive feedback มากกว่า
============
โดยสรุป การสร้างทีมขึ้นมาเพื่อบรรลุเป้าหมายใด ๆ ขององค์กร อาจไม่ใช่การ put the right man to the right job เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่หมายรวมถึงการเปิดใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน โดยผลลัพธ์ที่ได้กลับมาสู่ตัวเรา นอกเหนือจากความสำเร็จของงานที่ทำแล้ว อาจรวมถึงการได้ต้อนรับกัลยาณมิตรใหม่ ๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเราก็เป็นได้ แล้วคุณล่ะครับ รู้สึกเป็นตัวของตัวเองกับทีมปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.
>>>