ลองนึกย้อนดูการทำงานในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอะไรที่เข้ามาทำให้เราเครียดไปแล้วบ้าง สำหรับบางท่านอาจจะเป็นงานด่วนที่ต้องทำให้ทัน deadline อาจจะเป็นการงานชิ้นใหญ่ที่ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง หรือการมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจน และส่งผลให้เราเครียดได้ทั้งนั้น แต่เชื่อไหมว่ามันมักจะไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเครียดกับงาน
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาคนทำงานในกลุ่ม high performer ที่เครียดกับงานจนตัวเองรู้สึกว่าทั้งชีวิตงาน และชีวิตส่วนตัวกำลังพังเพื่อมองหาสาเหตุที่คนส่วนใหญ่มีร่วมกันที่ทำให้คนเราเครียดกับงานขึ้นมา จากการเก็บข้อมูลจากองค์กรทั่วโลกตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2021 สุดท้ายแล้วนักวิจัยก็ค้นพบว่า คนเหล่านี้แทบจะไม่มีสาเหตุร่วมกันเลย แต่สิ่งที่เขาค้นพบกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่านั้น
ในช่วงแรกของการสัมภาษณ์เขาพบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถระบุได้ว่าอะไรที่ทำให้เขาเครียดกับงานขนาดนี้ และยิ่งพยายามขุดคุ้ย ก็จะพบแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไร เช่น สายตาไม่เป็นมิตรของเพื่อนร่วมงาน หรือการประชุมเกินเวลาเป็นต้น และยิ่งสัมภาษณ์ ไปเรื่อย ๆ ก็เจอแบบนี้เรื่อย ๆ คนส่วนใหญ่นึกสาเหตุชัด ๆ ไม่ออก และยิ่งขุดคุ้ยก็จะเจอแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม้แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้คิดว่าสำคัญอะไร นั่นทำให้แทนที่จะค้นพบสาเหตุชัด ๆ ว่าอะไรที่ทำให้คนทำงานเครียด พวกเขากลับพบแบบแผนบางอย่าง
แบบแผนนั้นคือการที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่มีเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องใดที่ทำให้เครียดจนชีวิตพัง แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เจ้าตัวแทบจะไม่รับรู้ในตอนแรก แต่ค่อย ๆ สะสมและกัดกินชีวิตไปเรื่อย ๆ จนแม้แต่ชีวิตเรื่องพังแล้วก็ยังไม่สามารถระบุได้ เรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้เราเรียกว่า Micro-Stress
:::::::::::::::::::::::::
โดยความน่ากลัวของ Micro-Stress คือการที่แทนที่จะเป็นเรื่องชัด ๆ ใหญ่ ๆ ที่ทำให้เรารู้ตัวว่าเครียดได้อย่างไม่ต้องสงสัย และจัดการกับมันได้ตรงจุด แต่ Micro-Stress นั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราไม่รู้ตัวว่าเป็นภัย หรือเป็นเรื่องที่เรารับมือได้ง่าย ๆ จนไม่ได้อะไรกับมันมาก ถ้าเทียบความเครียดทั่วไปเหมือนเสื่อโคร่งที่เป็นภัยอย่างเห็นได้ชัดและกระตุ้นให้เราหนี หรือสู้กับมันอย่างตั้งใจ Micro-Stress จะเป็นเหมือนแบคทีเรียที่เราค่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่มันก่อโรคให้เรา
มันคือเรื่องที่เราไม่คิดว่าจะส่งผลกับชีวิตเรา รับมือได้ไม่ยาก มาเร็วไปเร็ว และหลายครั้งมักจะเกิดจากคนใกล้ตัวมากกว่าคนไกล ตัวอย่างเช่น ความรู้สึกว่าต้องดูแลลูกน้องในฐานะหัวหน้าทีมก็เป็น Micro-Stress อย่างหนึ่ง ที่เป็นความกดดันเล็ก ๆ ที่อยู่กับเราตลอด หรือการต้องทำงานเกินเวลานิดหน่อย 10 – 15 นาทีเพื่อให้ส่งทันเวลา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เรามักจะไม่คิดมากกับมันและทำ ๆ ไปก็จบแล้ว แต่ความเครียดเหล่านั้นมักไม่จบ
นั่นเป็นเพราะด้วยความเล็กน้อยของมันนี้สมองเราจึงไม่สามารถที่จะรับมือกับมันได้เหมือนเหตุการณ์ชัด ๆ เช่น การโดนหัวหน้าด่า เพราะนั่นเราโทษหัวหน้าได้ เราระบายความอึดอัดให้เพื่อนร่วมงานฟังได้ หรือเลือกที่จะปล่อยวางเรื่องนี้ก็ได้ แต่กับ Micro-Stress สมองไม่รับรู้เรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่าเป็นความเครียด และกลายเป็นเรื่องตกค้างที่เราไม่สามารถจัดการได้ง่าย ๆ
และที่แย่กว่านั้นคือเรารับมือกับไม่ใช่แค่วันละเรื่องสองเรื่อง แต่เป็นสิบ ๆ เรื่องต่อวัน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีทำให้เราติดต่อกันได้ง่ายมากขึ้น นั่นทำให้ notification เกี่ยวกับงาน 1 อันก็นับได้เป็น miccrostress ได้ทันที จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในยุคนี้หลาย ๆ คนรู้สึกเหมือนจะ burnout ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไม
และในทางร่างกายนั้น Micro-Stress ก็ส่งผลกับเราในทางกายภาพโดยตรงในแบบเดียวกับความเครียดอื่น ๆ แต่เบากว่า ตั้งแต่เพิ่มความดัน อัตราการเต้นหัวใจ และฮอร์โมนความเครียด Micro-Stress จึงส่งผลเสียต่อร่างกายเราโดยตรงในขณะที่สมองเราไม่สามารถจัดการกับมันได้ด้วยวิธีเดียวกับความเครียดที่เป็นเรื่องเป็นราวชัด ๆ
::::::::::::::::::::::::::::::
แม้จะน่ากลัวด้วยความที่เป็นภัยเงียบ แต่เราก็สามารถที่จะรับมือกับมันได้หากเรารู้จักมันมากขึ้น โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับประเภทของมัน 3 ประเภท คือ
1.Micro-Stress ที่รบกวนการทำงาน
– ความเข้าใจไม่ตรงกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับบทบาท หรือเป้าหมาย
– ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของเพื่อนร่วมงาน
– ความคาดเดาไม่ได้ของหัวหน้าการทำงานร่วมกันกับคนที่มีสไตล์แตกต่างกันมาก หรือหลาย ๆ คน
– ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นกระทันหัน
2. Micro-Stress ที่รบกวนความรู้สึก
– การต้องรับผิดชอบทีม หรือลูกน้อง
– การสนทนาที่มีการเผชิญหน้า
– ความไม่ไว้ใจคนรอบตัวการอยู่ใกล้คนที่แผ่รังสีความเครียด
– การเมืองในที่ทำงาน/ครอบครัว
3. Micro-Stress ที่รบกวนความเป็นตัวเรา
– การต้องทำสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ
– การที่ความมั่นใจถูกคุกคาม
– ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเพื่อน หรือครอบครัว
– ความเปลี่ยนแปลงกับคนรอบตัว
::::::::::::::::::::::::::::::
ใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าถ้านับแบบนี้แล้วก็การเลี่ยง Micro-Stress ก็เหมือนการพยายามเดินหลบกับระเบิดเลยไม่ใช่เหรอ ก็ต้องบอกว่าใช่ครับ ทุก ๆ วันคือการที่เราต้องรับมือกับ Micro-Stress เหล่านี้จากทุกแห่งหนตั้งแต่คนในครอบครัว จนถึงที่ทำงาน และหลังเลิกงาน แต่นอกเหนือจากการระวังสิ่งเหล่านี้แล้วก็ยังมีวิธีอื่นที่เราสามารถใช้เพื่อรับมือกับมันได้มากขึ้น
1.จัดการกับแหล่งของ Micro-Stress โดยเริ่มจากการพยายามเอาแหล่งของ Micro-Stress ออกจากชีวิตเท่าที่ได้ก่อน
– การเลี่ยงคนที่เป็นพิษกับเรา จะลดจำนวน Micro-Stress ต่อวันลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
– ปฏิเสธงานเล็ก ๆ น้อย ๆปิด notification นอกเวลางาน หรือแม้แต่ในเวลางานโดยเฉพาะอันที่ไม่จำเป็น
– ใส่ใจ และเลี่ยงการสร้าง Micro-Stress ให้คนอื่น เพราะ Micro-Stress ที่มาจากการปฏิสัมพันธ์นั้นมักจะสะท้อนกันไปมา ถ้าเลี่ยงการสร้างให้คนอื่นได้ เราก็เลี่ยงการที่คนอื่นสร้างให้เราได้เช่นกัน
2. ทำอย่างอื่นนอกจากงานให้มากขึ้น
จากการวิจัยชิ้นเดียวกันนี้พวกเขายังพบว่าคนที่สามารถรับมือกับ Micro-Stress ได้ดีคือคนที่มีกิจกรรมอื่นที่พวกเขาให้ความสำคัญนอกจากการทำงาน เพราะมันช่วยให้ชีวิตพวกเขามีมิติมากขึ้น และทำให้งานส่งผลกับชีวิตได้น้อยลง
3. คบเพื่อนนอกวงการ
การมีคนที่เต็มใจจะรับฟังเราช่วยให้สมองเราเรียบเรียงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น และประมวลผลความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นถ้าเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานด้วยกันแล้วจะช่วยให้เราได้มุมมองกว้างกว่าเดิม ทำให้งานเป็นเรื่องเล็กได้มากขึ้น ดังนั้นยิ่งเรามีสังคมที่หลากหลาย เรายิ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อ Micro-Stress มากขึ้น
ทั้งหมดคือเรื่องราวของ Micro-Stress ภัยเงียบที่ทุกคนต้องเจอในทุก ๆ วัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเครียดส่วนใหญ่ในการทำงาน ซึ่งใครที่เครียดแบบระบุสาเหตุไม่ได้ บางทีท่านอาจจะกำลังรับมือกับ Micro-Stress จำนวนมากอยู่ก็ได้ และวิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับมันคือการเลี่ยงแหล่งเกิดที่เราสามารถเลี่ยงได้ เช่น เลี่ยงคน toxic หรือ ปิด notification ไว้ นอกจากนั้นการมีกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากงาน และสังคมนอกเหนือจากการทำงานก็จะช่วยให้เรารับมือกับ Micro-Stress ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย สุดท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุก ๆ ท่านไม่มากก็น้อย
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.