ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบันประสิทธิภาพในการทำงาน หรือ productivity ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจให้ความสำคัญมาโดยตลอด และเหมือนยุค 5 ปีหลังมานี้ก็มีกระแส productivity เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มี productivity tools จำนวนมากผุดขึ้นมา รวมถึง video ใน Youtube เกี่ยวกับ productivity แต่ถึงอย่างนั้นตัวรายงานล่าสุดกลับพบว่าในช่วง 15 ปีมานี้ productivity เริ่มมาถึงทางตันแล้ว
OECD รายงานว่าตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมาโดยเฉลี่ยในแต่ละปีอัตราความ productive ของการทำงานเติบโตขึ้นปีละ 2.2 % ในขณะที่ของ 15 ปีล่าสุดอยู่ที่ 1.4% แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกการทำงานโดยรวมทั้งหมดจะทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยลง
เพราะนักวิจัยของ OECD ยังพบว่าระดับประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละองค์กรนั้นแตกต่างกันอย่างมาก ตัวอย่างเช่นในอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) องค์กรที่เป็นผู้นำนั้นทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าองค์กรที่รั้งท้ายถึง 5.4 เท่า นั่นหมายถึงพนักงานขององค์กรชั้นนำแค่ 20 คนจะทำงานแทนองค์กรรั้งได้เกิน 100 คน
ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นแบบนี้ แต่นักวิจัยก็พบความแตกต่างในลักษณะเดียวกันนี้ในทุก ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ หรือเราอาจจะพูดได้ว่าความแตกต่างด้านประสิทธิภาพระหว่างองค์กรตอนนี้กว้างมาก ๆ และสำคัญกว่านั้นคือมันยังคงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
ที่น่าสนใจคือความแตกต่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการชะลอตัวของธุรกิจที่รั้งท้าย แต่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขององค์กรชั้นนำ นั่นหมายถึงว่าถ้าองค์กรอื่น ๆ สามารถที่จะเรียนรู้จากองค์กรชั้นนำได้ พวกเขาจะสามารถที่จะประสบความสำเร็จกว่าเดิมได้อีกมหาศาล และสามารถที่จะส่งผลไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของโลกได้เลย
:::::::::::::::::::::::::
ดังนั้นสิ่งสำคัญของการพัฒนานี้คือการทำความเข้าใจถึงสิ่งที่องค์กชั้นนำในงานวิจัยทำได้ดีที่พวกเขามีร่วมกัน โดยนักวิจัยของ McKinsey ก็ได้ศึกษาข้อมูลจาก OCED เพิ่มเติมและได้สรุปออกมาเป็น 4 องค์ประกอบสำคัญได้แก่
1. ปรับแผนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี
ทีมวิจัยพบว่าองค์กรที่เติบโตในด้านประสิทธิภาพนั้นมักจะมีความเป็นดิจิตัลสูง หรือเป็นองค์กรที่ลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกองค์กรที่ลงทุนในเทคโนโลยีจะประสบความสำเร็จได้
McKinsey พบว่าองค์กรส่วนใหญ่มักจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยีเพียง 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของที่คาดหวังไว้ สาเหตุมักเกิดจากการที่องค์กรเหล่านั้นลงทุนซื้อเทคโนโลยีเพื่อมาใช้กับแผนงานเดิมโดยไม่มีการปรับแผนซึ่งต่างจากที่องค์กรชั้นนำทำ
ความแตกต่างเกิดจากการที่เวลามีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา แทนที่จะแค่เอามาปรับใช้กับการทำงานในปัจจุบัน เหล่าองค์กรชั้นนำจะถือโอกาสปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ใหม่ และโมเดลธุรกิจเข้าไปด้วยเพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีพาองค์กรไปให้ไกลกว่าเดิม และวางเป้าหมายให้ไกลมากขึ้น
2. ลงทุนในสิ่งที่จับต้องไม่ได้
อีกเรื่องที่องค์กรชั้นนำมีแตกต่างจากกลุ่มอื่นคือ การที่พวกเขาพร้อมที่จะลงทุนกับสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น R&D และทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉลี่ยแล้วองค์กรแนวหน้าจะลงทุนกับเรื่องเหล่านี้มากกว่าองค์กรอื่น ๆ ถึง 2.6 เท่า
สาเหตุของความแตกต่างนี้คือองค์กรชั้นนำมักจะมองการณ์ไกล และเห็นความคุ้มค่าจากการลงทุนกับการพัฒนาสิ่งที่จับต้องไม่ต้อง และไม่ได้ผลลัพท์ทันที เพราะการลงทุนในสิ่งเหล่านี้มักจะได้ผลออกมาเป็นรูปตัว J คือช่วงแรก ๆ นั้นจะแทบไม่เห็นผล แต่จะทบต้นทบดอกขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งเวลาผ่านไปจะเติบโตอย่างทวีคูณในระยะยาว
3. เน้นศักยภาพแรงงาน
องค์กรแนวหน้าคือกลุ่มที่ดึงดูดคนเก่ง ๆ ไปมากที่สุด รวมถึงมีการลงทุนกับการพัฒนาทักษะพนักงานปัจจุบันมากกว่าองค์กรอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด และพัฒนา emplyee experience ให้ดีตลอดเวลา และหาวิธีให้พนักงานเก่ง ๆ ได้ทำงาน เช่น การอำนวยความสะดวกให้พนักงานอายุมาก หรือพนักงานที่ต้องดูแลลูก
4. สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ
องค์กรแนวหน้าส่วนใหญ่คิดวางแผนเป็นระบบ คอยมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาด และมองหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ นั่นทำให้พวกเขามีเครือข่ายที่แข็งแรงอยู่ทั่วโลก และสามารถเข้าถึงทุกตลาด และกลุ่ม talent ได้จากทุกที่ พวกเขามักจะสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับลูกค้าและ supplier มากกว่าแค่การซื้อขาย และเข้าหาโอกาสในการทำงานกับภาครัฐ รวมถึงแก้ปัญหาของภาพใหญ่ที่ส่งผลกับธุรกิจ เช่น พัฒนาการศึกษาตั้งแต่ระดับ highschool คือกลุ่มเหล่านี้จะมาเป็นพนักงาน ไม่ก็ลูกค้าเขาในอนาคต นั่นทำให้สุดท้ายแล้วเขามี ecosystem หรือระบบนิเวศน์ของตัวเอง
::::::::::::::::::::
ทั้งหมดนั้นคือ 4 องค์ประกอบขององค์กรที่ถูกจัดว่าเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพที่สุดมีร่วมกันในรายงานของ McKinsey และ OECD ระหว่างอ่านหลายคนอาจจะนึกถึงองค์กร Tech ใน silicon valley อย่าง Apple Google หรือ Amazon แต่เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างนี้คือนอกเหนือจากเหล่ายักษ์ใหญ่แล้ว ส่วนใหญ่คือองค์กร tech ขนาดเล็กที่กำลังโตอย่างรวดเร็ว โดยมักอยู่ตามเมืองเล็ก ๆ มากกว่า นั่นหมายถึงว่าแนวคิดเหล่านี้เราไม่ต้องเป็นองค์กรใหญ่ก็สามารถที่เรียนรู้ และปรับใช้ให้เข้ากับองค์กรของเราเองได้นั่นเอง
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.