ออกแบบคำถามและตัวชี้วัด เพื่อวัดผลวัฒนธรรมองค์กร!

ปี 2023 เป็นปีทองของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร หลายองค์กรที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้ ก็เริ่มกลับมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น การศึกษาพบว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรล้วนเริ่มจาก “ผู้นำองค์กร” ต้องเอาด้วยหรือเป็นตัวตั้งตัวตีในการริเริ่มทำเรื่องนี้


ถึงแม้การศึกษาหลายชิ้นจะระบุว่า “วัฒนธรรมองค์กร” มีส่วนสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ แต่แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรกลับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องยากในการวัดและประเมินผล


บทความจาก Diligent ซึ่งเป็นองค์กรที่เชี่ยวชาญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ได้กล่าวว่าวิธีการหนึ่งที่ดีที่สุดในการวัดและประเมินผลวัฒนธรรมองค์กร คือ การสำรวจ (Survey Method) ผ่านการ “ออกแบบคำถามที่ครอบคลุมวัตถุประสงค์หรือพฤติกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมองคกรที่เราต้องการวัด” ฉะนั้น การสร้างคำถามจึงเป็นงานที่สำคัญมากเพราะเราอาจไม่มีโอกาสได้พบปะกับผู้ตอบแบบสอบถามเพื่ออธิบายความหมายต่างๆ ของข้อคำถาม


ดังนั้น การสร้างข้อคำถามจึงควรคำนึงถึง ดังนี้
– ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เหมาะสมกับผู้ตอบ

– ใช้ข้อความที่สั้น กระทัดรัด ได้ใจความ

– แต่ละคำถามควรมีนัย เพียงประเด็นเดียว

– ไม่ชี้นำการตอบให้เป็นไปแนวทางใดแนวทางหนึ่ง

– หลีกเลี่ยงคำถามที่ทำให้ผู้ตอบเกิดความลำบากใจในการตอบ

– ไม่ควรเป็นแบบสอบถามที่มีจำนวนมากเกินไป ไม่ควรให้ผู้ตอบใช้เวลาในการตอบนานเกินไป


และต้องคำนึงถึงการตั้งค่าระบบการตอบ (Metric) ที่เป็นมิตรกับผู้ตอบ สุดท้าย ควรมีการวางแผนการสื่อสารก่อนทำการสำรวจ เพื่อให้พนักงานมั่นใจว่าข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ


:::::::::::::::

การวัดค่าเชิงจิตวิทยา (เช่น ความพึงพอใจ หรือมุมมองของคน) อาจยังไม่มีเครื่องมือวัดค่าได้ละเอียดเหมือนการวัดค่าเชิงปริมาณ ดังนั้น การวัดค่าเชิงจิตวิทยาจึงต้องใช้วิธีการประมาณค่าจากความรู้สึกของผู้ตอบเป็นรายบุคคลไป เรียกว่า มาตราประมาณค่า (Rating Scale) โดยที่นิยมใช้คือ มาตรา ลิเคิรท (Likert scale) โดยกำหนดหมายเลขและคำอธิบาย ดังนี้ 1 = น้อยที่สุด 2 = น้อย 3 = ปานกลาง 4 = มาก 5 = มากที่สุด


ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการวัดมุมมองของพนักงานเกี่ยวกับ “ความพยายามขององค์กรในการส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของพนักงาน” เราก็จะออกแบบส่วนของคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้และออกแบบการวัดค่าจากสิ่งที่พนักงานสังเกตเห็น  โดยเรียงจากน้อยที่สุดถึงมากที่สุด 1 – 5 เป็นต้น


ตัวอย่างคำถามวัดผลวัฒนธรรมองค์กร

– สภาพแวดล้อมการทำงานที่นี้กระตุ้นให้ฉันอยากมาทำงานทุกวัน ?

– ฉันรู้สึกพึงพอใจที่ได้ทำงานที่นี้เพราะฉันรู้สึกมีคุณค่า ?

– ฉันรู้สึกพึงพอใจที่ได้ทำงานที่นี้เพราะฉันมีโอกาสในความก้าวหน้า ?

– ฉันใช้ประโยชน์จากโอกาสที่บริษัทสนับสนุนให้ในการพัฒนาอาชีพของฉัน ?

– การตรวจสอบประจำปี สะท้อนถึงผลงานของฉันได้อย่างถูกต้อง ?

– แผนกของฉันมักเฉลิมฉลองความสำเร็จร่วมกัน ?

– ผู้บังคับบัญชาให้ฟีดแบคเกี่ยวกับผลการปฏิบัติงานของฉัน ?

– ผู้บังคับบัญชาเปิดรับข้อเสนอแนะของฉัน ?

– ฉันรู้สึกเครียดกับงาน ?

– ฉันมีความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ?

– ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นส่วนหนึ่งที่มีค่าของทีม ?

– องค์กรมีความยืดหยุ่นเมื่อฉันต้องการไปทำกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัว ?


:::::::::::::::::::

ขั้นตอนสุดท้ายนี้ องค์กรควรทำให้การวัดและประเมินผลมีความโปร่งใสให้มากที่สุด และควรแชร์ผลลัพธ์จากการสำรวจให้พนักงานได้รับรู้ด้วย ข้อดีในมุมของพนักงาน คือ เขาจะได้รู้ว่าความคิดเห็นของตัวเขาตรงกับเพื่อนร่วมงานและเป้าหมายของบริษัทหรือไม่ ในมุมขององค์กรก็จะได้ใช้จังหวะนี้ในการสื่อสารความตั้งใจในการปรับปรุงวัฒธรรมองค์กร และยังได้ใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารเป้าหมายองค์กรและสื่อสารให้พนักงานได้รับรู้ว่าองค์กรมีความตั้งใจจริงในการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม


A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
CorporateCulture
OrganizationalCulture
.
.

References:
https://www.diligent.com/insights/corporate-culture/how-measure-monitor-corporate-culture/
https://www.siamsurvey.com/th/web_page/questionnaire
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn