โปรแกรมการฝึกอบรม (Training Program) มักจะเป็นวิธีการหลักในการพัฒนาทักษะของพนักงานและส่งเสริมกลยุทธ์กับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร แต่ก่อนที่คุณจะระดมจัดอบรมให้กับพนักงานของคุณขอให้คุณลงทุนเวลาแค่ 5 นาทีในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ก่อน
งานวิจัยด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) เผยว่าการใช้ ‘การแทรกแซง’ ที่เหมาะสม (เช่น การให้รางวัล การติดตามผล) เข้าไปในกระบวนการฝึกอบรม สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืนได้ การทำความเข้าใจกลไกการทำงานของสมองจึงช่วยให้การฝึกอบรมมีประสิทธิผลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
1. เทคนิค WIFM จากความสามารถในการปรับตัวของสมอง (Neuroplasticity)
ความสามารถในการปรับตัวของสมอง หรือ Neuroplasticity เป็นความสามารถในการจัดระเบียบตัวเองใหม่โดยการสร้างการเชื่อมต่อใหม่ของโครงข่ายประสาทในสมอง (ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต) และเรื่องนี้จะเน้นย้ำความสำคัญของการทำให้การฝึกอบรมมีความเชื่อมโยงกับผู้เข้าอบรมและทำให้ดู…น่าสนใจ
เมื่อผู้เรียนเห็นประโยชน์โดยตรงของการฝึกอบรม (ใช้เทคนิค WIIFM / What’s in it for me? ฉันจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้) สมองของพวกเขามีแนวโน้มที่จะสร้างการเชื่อมต่อที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลใหม่นี้มากขึ้น การปรับเนื้อหาการฝึกอบรมให้ตอบโจทย์ความท้าทายในโลกการทำงานจริงไม่เพียงแต่เพิ่มการมีส่วนร่วม แต่ยังเป็นการใช้ประโยชน์จาก Neuroplasticity ทำให้พฤติกรรมหรือทักษะใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะฝังแน่นติดตรึงในสมองมากขึ้นได้ด้วย
2.การฝึกฝนทักษะด้วยตนเองและบทบาทของ Dopamine
การนำการฝึกปฏิบัติด้วยตนเองมาใช้ในการฝึกอบรมสอดคล้องกับระบบรางวัลของสมอง โดยเฉพาะการหลั่ง Dopamine ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสุขเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และแรงจูงใจอีกด้วย
เมื่อผู้เรียนประยุกต์ใช้ทักษะใหม่ได้สำเร็จ สมองจะหลั่ง Dopamine ซึ่งจะไปเสริมแรงพฤติกรรมนั้น ทำให้มีแนวโน้มที่คนคนนั้นจะอยากทำซ้ำมากยิ่งขึ้น ประสาทวิทยาได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า “การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและประสบการณ์ความสำเร็จ(ฉันก็ทำได้นี่นา)ในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้ารหัสข้อมูลใหม่ทำให้การฝึกอบรมมีประสิทธิผลมากขึ้นจริง”
3. กระบวนการเข้ารหัสของสมอง Neural encoding
การเปลี่ยนผ่านจากการเรียนรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ทักษะใหม่ในที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการเข้ารหัส มันคือกระบวนการที่สมองแปลงข้อมูลใหม่ไปเป็นความทรงจำที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อให้การเข้ารหัสมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนต้องเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้ที่มีอยู่เดิมของตัวเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เสริมด้วยการเรียนรู้ตามบริบท
การให้ขั้นตอนสำหรับฝึกปฏิบัติที่ชัดเจนและเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในโลกการทำงานช่วยให้ผู้เรียนผสานรวมทักษะใหม่ๆ เข้ากับฐานความรู้ที่มีอยู่เดิมของพวกเขาได้ ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากการฝึกอบรมไปสู่การประยุกต์ใช้จริงราบรื่นยิ่งขึ้น วิธีการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้การเรียนรู้มีความเชื่อมโยงกับการทำงานมากขึ้น แต่ยังใช้กระบวนการตามธรรมชาติของสมองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความทรงจำและการเรียกความทรงจำในการทำทักษะนั้นให้กลับมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
4.การติดตามผลหลังการฝึกอบรมและกราฟการลืม
ประสาทวิทยาอธิบายแนวโน้มในการลืมข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้ใหม่ด้วย ‘เส้นกราฟของการลืม (The Forgetting Curve คิดค้นโดย Hermann Ebbinghaus นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน) กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าการคงอยู่ของความทรงจำนั้นจะลดลงตามเวลาหากไม่มีการเสริมแรง หรือการใช้ระบบติดตามผลหลังการฝึกอบรมที่แข็งแกร่งมากพอ ระบบที่ว่า เช่น การโค้ชหรือการเป็นพี่เลี้ยงจะสามารถต่อสู้กับการเสื่อมถอยตามธรรมชาตินี้ได้
การเสริมแรงและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยเสริมสร้างโครงข่ายทางประสาทที่เกี่ยวข้องกับทักษะหรือพฤติกรรมใหม่ ทำให้มีความต้านทานต่อการลืมมากขึ้น วิธีนี้สอดคล้องกับเทคนิคการทบทวนซ้ำๆ ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยพัฒนาความทรงจำได้โดยการเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
บทสรุป —การผสานรวมหลักการทางประสาทวิทยาเข้ากับการฝึกอบรมและการพัฒนากลไกการแทรกแซงสมองของมนุษย์เป็นแนวทางที่สำคัญในการบรรลุการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ยั่งยืน ด้วยความเข้าใจว่าสมองของเราเรียนรู้ จดจำ และประยุกต์ใช้ข้อมูลใหม่ๆ อย่างไร ผู้นำองค์กรจะสามารถออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรมที่ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความรู้แต่ยังทำให้มั่นใจได้ถึงการนำไปใช้ การพัฒนาทักษะ และความคงทนของทักษะจนกลายเป็นอุปนิสัยได้อีกด้วย
การใช้ประโยชน์จาก Neuroplasticity ระบบรางวัล กระบวนการเข้ารหัส และการต่อสู้กับกราฟการลืม สามารถเปลี่ยนการฝึกอบรมจากประสบการณ์ชั่วคราวไปสู่รากฐานของการปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
=============
massivemomentum
workplacemastery
acupofculture
ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ในด้านประสาทวิทยา และพฤติกรรมมนุษย์ ทำให้ Team Learning Designer ของ Massive Momentum ออกแบบกระบวนการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการสร้าง Momentum ด้วยโมเดลการเรียนรู้เฉพาะตัวของเราที่ชื่อ IAM Model สนใจรับข้อมูลเพิ่มเติม
แอดไลน์ Line: @massivemomentum หรือโทร 064-9323546
.
.