ยิ่งอยากพักยิ่งหนักกว่าเดิม: รู้จักกับ Recovery Paradox

เคยไหมกับการทำงานหนักมาทั้งวันทั้งคืน แต่พอถึงเวลาพักร่างกายเราดันดื้อไม่ยอมพักทั้ง ๆ ที่เหนื่อยมาก ๆ นี่คือปรากฏการณ์ที่เราเรียกกันว่า Recovery Paradox …⁣⁣
⁣⁣
Recovery Paradox คือ ปรากฏการณ์ของร่างกายและจิตใจที่ต้องการการพักมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่เราควบคุมตัวเองให้พักได้ยากที่สุดด้วยเช่นกัน และวันนี้เราจะมาทำความรู้จักปรากฏการณ์นี้ให้มากขึ้น ถ้าจะมีคำไหนมานิยามตลาดแรงงานเราตอนนี้ได้ก็น่าจะเป็นคำว่า “เหนื่อย” โดยเฉพาะในตลาดแรงงานบ้านเราที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สังเกตุได้ชัดง่าย ๆ คือ ตาม Facebook เราจะเห็นโพสต์ หรือคอนเทนท์ในลักษณะเบื่องาน เหนื่อยหน่ายกับงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความเหนื่อยล้านี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศเราเท่านั้น เพราะที่สหรัฐอเมริกาเองก็พบว่าพนักงานจำนวนมาก (61%) กำลังอยู่ในจุดที่ใกล้จะ Burnout เต็มที ซึ่งก็เป็นหนึ่งในที่มาของเหตุการณ์ The Great Resignation ที่กำลังร้อนแรง⁣⁣
⁣⁣
และเพื่อตอบสนองกับแนวโน้มนี้นายจ้างหลาย ๆ ที่ก็มองหาตัวช่วยทางใจ ทำให้เครื่องมือด้านสุขภาพจิตในองค์กรกำลังเติบโต และเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเป็นเครื่องดึงดูดให้เหล่า Talent เข้ามาทำงานด้วย รวมถึงนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับการช่วยให้พนักงานได้พักผ่อนที่ออกมากันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็แน่นอนว่านโยบาย และเครื่องมือทั้งหลายจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลยถ้าสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถช่วยให้พนักงานพักฟื้นได้สำเร็จ โดยเฉพาะเมื่อเราเจอกับ Recovery Paradox⁣⁣
⁣⁣
การฟื้นตัวจากความเครียด การทำงาน หรือการต้องจดจ่อเป็นระยะเวลานานเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาคุณภาพอารมณ์ พลังงาน การเรียนรู้ และพัฒนาการทางอาชีพ และส่วนอื่น ๆ ของชีวิตตั้งแต่สภาพจิตใจ สุขภาพกาย และความสัมพันธ์อื่น ๆ อีกด้วย แต่กระบวนการฟื้นฟูความเครียดเองนั้นเป็นสิ่งที่มีความย้อนแย้งอยู่ ⁣⁣
⁣⁣
มีงานวิจัยพบว่าเวลาที่ร่างกาย และจิตใจของเราต้องการการฟื้นตัวมากที่สุด เรามักจะไม่สามารถจัดการมันได้ ตัวอย่างเช่น เวลาที่งานต้องการความสนใจจากเรามาก ๆ หรือกำลังรู้สึก Overwhelmed เรามักจะพาให้ตัวเองเข้าสู่วัฏจักรแห่งความเหนื่อยล้า ในช่วงเวลาเครียด ๆ เรามักจะทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพแม้ว่าโภชนาการจะมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัว และเวลาที่เครียดเราก็ไม่มีแรงจะออกไปข้างนอกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเข้าสังคม เราไม่มีอารมณ์และพลังงานที่จะออกไปออกกำลังกายทั้ง ๆ ที่ทุกคนรู้ดีว่ามันเป็นตัวช่วยจัดการความเครียดที่มีประสิทธิภาพที่สุด และสุดท้ายแล้วเรามักจะเครียด และเหนื่อยล้ากว่าเดิมด้วยพฤติกรรมเหล่านี้เป็นวงจรไปเรื่อย ๆ⁣⁣
⁣⁣
สำหรับใครที่อ่านแล้วนึกถึงตัวเองก็รู้สึกท้อใจ เราก็ต้องบอกว่าวงจรนี้มันมีทางออก โดยการออกจากวังวนนี้ได้นั้นเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองให้มากขึ้นว่าการพักแบบไหนเหมาะกับเรา และวางแผนการพักฟื้นตัวเองกันให้ดี สาเหตุที่เราต้องทำขนาดนี้เพราะอย่างที่ได้เห็นในข้างต้นว่าการพักฟื้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมาอย่างที่เรามักจะนึกกัน และหลังจากนี้จะเป็น 4 แนวทางที่จะช่วยให้เราหลุดจากวังวนแห่งความเหนื่อยล้านี้ได้⁣⁣
⁣⁣
::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
🔰 1. Detach psychologically from work⁣⁣
⁣⁣
การฟื้นตัวจากความเครียดนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสมองของเราออกจากโหมดเครียด และเราต้องกระตุ้นให้กระบวนการนั้นเกิดขึ้นผ่านการหาทางพาสมองตัวออกออกมาจากงาน หรือคือการหาทางให้สมองเราได้พัก⁣⁣
ทำได้โดยการกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจนในแต่ละวันที่เราตั้งใจจะทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน กิจกรรมในลักษณะของการฝึกสติ หรือสมาธิจะเหมาะกับวิธีการนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นการฝึกให้สมองเรียนรู้ที่จะปล่อยวางไปด้วยในตัว นอกจากนั้นอีกสิ่งที่ทำได้คือการสังเกตตัวเองว่าอะไรบ้างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เรากลับไปคิดเรื่องงาน เช่น หากเห็นคอมพิวเตอร์แล้วนึกถึงงานขึ้นมา ในช่วงเวลาแบบนี้เราก็ควรที่จะเก็บให้พ้นสายตา หรือไปอยู่อีกห้องแทน หรือที่ง่ายที่สุดคือการปิดการแจ้งเตือนของโทรศัพท์สักพักก็ช่วยได้⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 2. Harness the power of micro-breaks during the workday.⁣⁣
⁣⁣
นี่ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งว่าการพักนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยตรงไปตรงมาเท่าไหร่ เพราะมันขัดกับแนวคิดของการเราที่มักคิดว่า “ทำให้เสร็จแล้วค่อยพักรวดเดียว” นั่นเป็นเพราะเรามักจะคิดว่าการพักนั้นจะเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อเสร็จงาน หรือช่วงวันหยุดยาวเท่านั้น แต่กลับมีงานวิจัยที่ช่วยยืนยันว่าการพักเล็ก ๆ สั้น ๆ ระยะเวลาประมาณ 10 นาทีในเวลางานนั้นเป็นตัวช่วยลดความเครียดที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยเลยทีเดียว⁣⁣
⁣⁣
ตัวอย่างเช่น เมื่อทำงานไปได้สักพักก็หาเวลาสัก 10 นาทีเพื่อมาทำสมาธิ ทานอาหารว่างที่ดีต่อร่างกาย พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็ได้ โดยหลักการคือควรเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดความสนใจจากเราระดับหนึ่ง เช่น การอ่านหนังสือ หรือการเล่นเกมส์สั้น ๆ กิจกรรมเล็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเพิ่มสมาธิในการทำงาน ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และคอยรักษาพลังงานได้เราได้ตลอดวัน ⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 3. Consider your preference for recovery activity.⁣⁣
⁣⁣
อีกเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมาของการพักคือ การที่เราต้องย้ำว่าเราควรเลือกกิจกรรมพักที่เราชอบ และเข้ากับเรา ซึ่งเหมือนจะเป็น common sense แต่ที่เราต้องย้ำมันเพราะว่าในความเป็นจริงแล้วเรามีกิจกรรม”พัก” หลาย ๆ อย่างที่เราอาจจะรู้สึกกดดันว่าต้องเข้าร่วม และมันคือการพักผ่อน เช่น การออกกำลังกายกลุ่มขององค์กร ทริปบริษัท หรือคาราโอเกะบริษัท แน่นอนว่ามีหลายคนที่ชอบกิจกรรมบางอย่างไม่มากก็น้อย แต่หลายคนแทนที่จะรู้สึกว่าได้พักผ่อนกลับรู้สึกเหนื่อยกว่าเดิม แต่พักอีกไม่ได้แล้วเพราะถือว่าได้พักแล้ว⁣⁣
⁣⁣
นั่นเป็นเพราะเวลาที่เราไม่สามารถเลือกวิธีการฟื้นตัวของตัวเองได้นั้นจริง ๆ แล้วอาจเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เช่น งานวิจัยพบว่าการคุยกับเพื่อนระหว่างพักเที่ยงช่วยเติมพลังให้เขาได้ แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าอีกกลุ่มที่ไม่ได้ชอบคุยเล่นระหว่างพักเที่ยง แต่รู้สึกถูกกดดันว่าต้องทำกลับรู้สึกว่าสูญเสียพลังงานมากกว่าการทำงานเฉย ๆ⁣⁣
⁣⁣
ดังนั้นรู้จักตัวเองให้ดีว่าการพักแบบไหนเหมาะกับเราโดยเฉพาะการพักในเวลางานเช่นพักเที่ยง หลาย ๆ ครั้งการพยายามเข้ากิจกรรมพักผ่อนที่บริษัทจัดมาให้อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์วิธีการพักที่ใช่สำหรับเรา และความกดดันว่าต้องเข้าร่วมนั้นอาจจะกลับมาทำร้ายเราได้มากกว่าเดิม และนี่ก็รวมถึงในมุมองค์กรเช่นกัน ถ้าเราอยากให้พนักงานได้พักจริง ๆ แล้วนั้นมาตรการต่าง ๆ แม้จะด้วยเจตนาดีแค่ไหน แต่ก็ต้องระวังว่ามาตรการบางอย่างจะเป็นการฝืนให้พนักงานพักในแบบที่ไม่เข้ากับเขาหรือไม่ และหาทางให้อิสระกับพนักงานในการเลือกวิธีการของตัวเองมากขึ้น⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
🔰 4. Prioritize high-effort recovery activities.⁣⁣
⁣⁣

หนึ่งในเรื่องตลกเกี่ยวกับการออกกำลังกายคือ เรามักจะไม่กระตือรือร้นที่จะเริ่มทำ แต่เรามักจะไม่เสียดายที่ได้ทำมัน เช่น เราไม่ค่อยจะได้ยินคนบอกว่า “เมื่อวานไม่น่าไปวิ่งเลย” หรือ “รู้งี้ไม่ไปเข้ายิมดีกว่า” แต่ตรงกันข้ามเรากระตือรือร้นที่จะเลิกงานมาเปิด Netflix หาอะไรดู และก็มารู้สึกว่าวันนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยทีหลัง⁣⁣
⁣⁣
เพราะนี่เองก็ขัดกับธรรมชาติ โดยเรามักจะรู้สึกว่ากิจกรรมที่ Passive ไม่ต้องใช้พลังงานเยอะ เช่น การดูทีวี เป็นการพักที่ดี แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้ามเพราะงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่ากิจกรรมที่ Active หรือต้องใช้พลังงานจากเราเยอะส่วนใหญ่เป็นการพักที่ดีที่สุด เช่น การออกกำลังกาย หรืออาจจะเป็นงานอดิเรกที่จริงจัง ๆ หน่อยก็ได้ เช่น การเรียนภาษา เล่นดนตรี หรือการทำงานอาสาต่าง ๆ⁣⁣
⁣⁣
:::::::::::::::::::::⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
ดังนั้น การพักเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง เราพักยากเวลาที่เราควรจะพักที่สุด กิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราพักเรามักจะเหนื่อยเกินกว่าจะเริ่มมัน จนทำให้เกิดวังวนที่เราเรียกว่า Recovery Paradox และ 4 แนวทางของวันนี้คือจุดเริ่มต้นสำหรับใครที่พยายามจะพาตัวเองออกจากวังวันนี้กันโดยเฉพาะสำหรับท่านที่เป็นแฟนเพจ A Cup of Culture เรา เพราะเราทราบดีว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นกินพลังงานมหาศาล⁣⁣
⁣⁣
⁣⁣
A Cup of Culture⁣⁣
———–⁣⁣
วัฒนธรรมองค์กร⁣⁣
Corporate culture⁣⁣
Organizational culture⁣⁣
⁣⁣.
.

Resources:
https://hbr.org/2022/07/how-to-recover-from-work-stress-according-to-science
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/job.2109
https://psycnet.apa.org/record/2014-16835-005
Share to
Facebook
Twitter
LinkedIn