เคยไหมที่ประสบความสำเร็จในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่แทนที่ตัวเราจะรู้สึกภูมิใจ กลับมีเสียงเล็ก ๆ ในหัวกระซิบว่า “ครั้งนี้โชคช่วยไว้” หรือ “ให้ใครทำ เขาก็ทำได้” ถ้าคุณเคยรู้สึกแบบนี้ คุณไม่ได้เผชิญมันเพียงลำพังครับ ความรู้สึกกังวลใจราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่จากฝีมือของตัวคุณ เหมือนว่าความสำเร็จนั้นคุณไปขโมยใครมา (แล้วกลัวว่าเขาจะจับได้) นี้เรียกว่าอาการ Imposter syndrome ซึ่งพบได้บ่อยมาก ประมาณ 70% ของผู้คนเคยเผชิญความรู้สึกแบบนี้ในบางช่วงของชีวิต
🔴 Impostor Syndrome ล่ะคืออะไร?
ย้อนหลังกลับไปในปี 1978 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว Impostor Syndrome หรืออีกคำเรียกหนึ่งว่า impostor phenomenon ถูกบัญญัติขึ้นโดยสองนักจิตวิทยาในสมัยนั้นนามว่า Pauline และ Suzanne ซึ่งให้คำจัดกัดความว่าเป็นความรู้สึกภายในว่าเราไม่ใช่คนรู้จริง เก่งจริง (An internal experience of intellectual phoniness) แต่ที่สำเร็จได้กลับเป็นเพราะโชคช่วยมากกว่า
ในหมู่คนที่มีอาการดังกล่าวเชื่อว่าพวกเขากำลังหลอกเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้างให้คิดเข้าใจไปเองว่าพวกเขาฉลาดรอบรู้ เก่งและมีความสามารถ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาเชื่อว่าตนเองกลับไม่ได้เก่งขนาดนั้น ซ้ำยังกลัวว่าวันหนึ่งคนจะรู้ความจริงเข้า หรือภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า “ทองลอก” ในที่สุด
อาการ Impostor Syndrome นี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนตั้งแต่ CEO ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ในงานวิจัยหนึ่งเปิดเผยว่ากว่า 82% ของคนทำงานรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับคำสรรเสริญเยินยอที่ได้รับจากผู้อื่น
🔴 กลุ่มคน 5 ประเภทของ Imposter syndrome
คนที่มีอาการเหล่านี้เพราะพวกเขาไม่เก่งจริง ๆ หรือแค่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง? ก็ต้องบอกว่ามีทั้งสองแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่าคือ “มีความรู้และความสามารถ” แต่กลับไม่เชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน และเพื่อให้เข้าใจอาการเหล่านี้ให้มากขึ้น คุณ Valerie Young ผู้ประพันธ์หนังสือ The Secret Thoughts of Successful Women จึงได้ทำการศึกษาและค้นพบแพทเทิร์นบางอย่างที่คนเป็น Impostor syndrome มีเหมือน ๆ กัน และแบ่งประเภทของ imposter syndrome ออกเป็น 5 ประเภทดังนี้
กลุ่ม 1 : The Perfectionists (คนรักความสมบูรณ์แบบ)
ลักษณะ: ที่สร้างมาตรฐานและความคาดหวังต่อตนเองไว้สูงลิ่ว ชนิดที่ว่าแม้จะสำเร็จไปแล้วกว่า 99% ก็ยังจะถือว่า 1% ที่เหลือเป็นความล้มเหลวที่รับไม่ได้และนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความสามารถของตัวเอง
ความคิด: “มันควรจะดีกว่านี้”, “ถ้าฉันทำไม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แสดงว่ามันไม่ดีพอ”, “ฉันไม่ควรทำผิดพลาด”
ตัวอย่าง: นักเรียนที่ได้คะแนน A เกือบทุกวิชา รู้สึกเสียใจมากเมื่อได้คะแนนต่ำลงในวิชาหนึ่ง และเริ่มสงสัยในความสามารถทางการเรียนของตัวเอง
กลุ่ม 2 : The Superwoman/Superman (ซุปเปอร์วูแมน/ซุปเปอร์แมน)
ลักษณะ: รู้สึกว่าต้องสำเร็จในทุกด้านของชีวิตทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว บทบาทพ่อแม่และคู่ครองที่ดี จนทำให้เกิดความกดดันและเครียดเมื่อองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
ความคิด: “ฉันต้องพิสูจน์คุณค่าของตัวเองด้วยการทำงานหนัก”
ตัวอย่าง: พนักงานที่ทำงานล่วงเวลาทุกวัน รับงานเสริม และรู้สึกไม่ดีพอเมื่อไม่สามารถตามความต้องการทุกอย่างได้
กลุ่ม 3 : The Natural Genius (หัวกะทิที่มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง)
ลักษณะ: คนกลุ่มนี้คุ้นชินกับการใช้สติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของตนเองในการทำให้ทุกอย่างสำเร็จ (และเคยชินกับความสำเร็จที่มาโดยง่าย) แต่เมื่อใดที่ต้องเผชิญความท้าทายหรือต้องใช้ความพยายามหนักขึ้นเพื่อบรรลุผล สมองจะสั่งการบอกพวกเขาทันทีว่า “ที่ต้องพยายามขนาดนี้เพราะตัวเธอยังไม่เก่งไง”
ความคิด: “ฉันต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก ไม่เช่นนั้นฉันไม่ฉลาด”, “ทำไมใช้เวลานานจัง ฉันคงไม่เข้าใจมัน”, “ถ้าฉันต้องพยายาม แสดงว่าฉันเป็นตัวปลอม”
ตัวอย่าง: บุคคลที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรี รู้สึกท้อแท้เมื่อพยายามเรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ที่ไม่ถนัด
กลุ่ม 4 : The Soloist (นักฉายเดี่ยว)
ลักษณะ: คนกลุ่มนี้คุ้นชินกับการทำงานได้สำเร็จด้วยตัวเองอยู่เสมอ ๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั่นหมายถึงฉันไม่ดีพอ เป็นการเปิดเผยความด้อยความสามารถ (แม้จะหมายถึงการต้องเผชิญปัญหาอยู่คนเดียวก็ตาม)
ความคิด: “การขอความช่วยเหลือหมายความว่าฉันล้มเหลว”, “ฉันต้องทำมันด้วยตัวเองเพื่อพิสูจน์ว่าฉันทำได้”, “ฉันไม่ควรต้องพึ่งพาใคร”
ตัวอย่าง: สมาชิกใหม่ในทีมปฏิเสธข้อเสนอการช่วยเหลือระหว่างการปรับตัว ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและใช้เวลานานกว่าที่ควร
กลุ่ม 5 : The Expert (ผู้เชี่ยวชาญ)
ลักษณะ: เป็นความเชื่อที่ว่า ฉันควรจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งก่อนที่จะรู้สึกพร้อม ต้องมีข้อมูลครบถ้วน ผ่านการฝึกอบรม หรือข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอถึงจะมั่นใจในการลงมือทำ
ความคิด: “จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคนถามอะไรที่ฉันไม่รู้”, “มีใครสักคนต้องจับได้ว่าฉันไม่รู้”
ตัวอย่าง: พนักงานคนหนึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านกราฟฟิค แต่เขาลังเลที่จะสมัครงานตำแหน่งใหม่ เพราะรู้สึกว่าตนเองยังต้องเรียนจบอีกหนึ่งหลักสูตรก่อนจึงจะพร้อม
🔴 ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจาก Imposter Syndrome?
อาการ Imposter Syndrome สามารถส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานของเรา โดยเฉพาะในมิติของ
1) การพลาดโอกาส: ความกลัวว่าจะถูก “จับได้” ว่าไม่เก่งจริง อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงการเลื่อนตำแหน่ง โครงการใหม่ๆ และโอกาสในการพูดในที่สาธารณะ
2) การบ่อนทำลายตนเอง: การผัดวันประกันพรุ่งและความสมบูรณ์แบบสามารถขัดขวางไม่ให้เราทำงานให้สำเร็จหรือแม้แต่เริ่มทำงานที่เราสามารถทำได้
3) อาการ Burnout: เพราะต้องคอยทำงานหนักอยู่เสมอ (ซึ่งเกิดจากความกลัวว่าคนอื่นจะหาว่าไม่เก่ง) อาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าและประสิทธิภาพการทำงานลดลง รวมถึงกระทบในด้านอื่นๆ ของชีวิต
4) ผลกระทบต่อสุขภาพจิต (Mental Health): กลุ่มอาการ Imposter Syndrome แอบอ้างมักเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ความเครียด และแม้แต่ภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น
🔴 จะก้าวข้าม Impostor Syndrome ได้อย่างไร?
1. แยกความรู้สึกกับความข้อเท็จจริงออกจากกัน (Separate feelings from facts)
Imposter syndrome ทำให้คุณรู้สึกเหมือนตนเองทำงานไม่เก่ง แต่บ่อยครั้ง…ความรู้สึกเหล่านี้เกิดมาจาก ความรู้สึกกลัว—ไม่ใช่ความจริง วิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับกลุ่มอาการนี้คือ “การแยกความรู้สึกออกจากข้อเท็จจริง” (ข้อเท็จจริง คือ ความจริงที่สังเกตได้ มีหลักฐานประจักษ์)
2. พลิกวิธีคิด (Reframe the label)
การใช้คำว่า syndrome พ่วงท้ายอาจทำให้รู้สึกว่าเป็นอาการหรือโรคที่จะกลายมาเป็นตราประทับประจำตัวที่ต้องอยู่กับเราไปตลอด แต่ความเป็นจริงอาการนี้มักอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเราต้องออกจาก comfort zone ไปลองทำอะไรใหม่ ๆ ดังนั้นแทนที่จะตีตราตัวเองว่าเป็น Impostor Syndrome อาจลองเปลี่ยนมุมมองดูใหม่ว่าเป็นความรู้สึกหวาดกลัวปกติแค่เฉพาะเวลาเราต้องลงมือทำสิ่งที่ต่างไปจากเดิมเท่านั้น และอย่าลืมชื่นชมตัวเองที่มีความกล้าเช่นนี้
3. จดบันทึกความสำเร็จของตนเอง (Keep track of your success metrics)
บ่อยครั้งที่ความรู้สึกไม่เก่งจริงของเราเป็นเพียงเพราะเรามองไม่เห็นความสำเร็จของตนเองอย่างประจักษ์ เราอาจง่วนอยู่กับการเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งจนลืมย้อนกลับมามองว่าเราได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์อะไรเอาไว้บ้าง การจดบันทึกเป็นครั้งคราวพร้อมย้อนกลับมาทบทวนสิ่งดี ๆ ที่เราได้เคยทำไว้จึงเป็นวิธีที่ช่วยได้มาก เรามีสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเป็นเจ้าของความสำเร็จที่เราสร้างขึ้นมา
4. พูดดีๆ กับตัวเอง (Speak kindly to yourself)
ให้คิดเสมือนว่า “ความรู้สึกแบบ Impostor Syndrome คือ เพื่อนของคุณ —ที่พยายาม (ในแบบของตัวเขา) —ที่จะปกป้องคุณให้ได้มากที่สุด” ดังนั้น ในครั้งต่อไปที่คุณได้ยินคำวิจารณ์ในตัวคุณ ให้พูดเตือนเพื่อนของคุณด้วยความมั่นใจว่า “เฮ้—ดีใจที่คุณอยู่ที่นี่ ฉันจัดการเรื่องต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ขอบคุณที่ติดตามฉัน”
5. มีเมนเทอร์ (Look for a mentor)
การที่คุณมีใครสักคน อาจเป็นหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานที่สนิท ที่สามารถให้คำแนะนำและการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์แก่คุณได้ ก็จะสามารถช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกของตัวคุณและพยายามชี้ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งได้
และนี่ก็คือ 5 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เราก้าวข้ามผ่านอาการ Impostor Syndrome ได้ในที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสังเกตดูแพทเทิร์นของกลุ่มผู้มีแนวโน้มสูงก็จะเห็นว่าล้วนเป็นผู้ที่มักพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ทั้งยังกดดันตนเองมากเกินไปอีกด้วย ดังนั้นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยเสริมแรงสองเทคนิคขั้นต้นได้ดีไม่แพ้กันก็คือการรู้จักเป็นคนง่าย ๆ กับชีวิตตลอดจนไม่เคอะเขินที่จะยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้างเป็นครั้งคราวนั่นเอง
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับฟัง Podcast เนื้อหาเกี่ยวกับ Impostor Syndrome ผ่าน : A Cup of Culture EP403 มารู้จัก Impostor Syndrome กับอาการที่คนทำงานกว่า 82% ล้วนเคยเป็น
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.