ในโลกธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่จริงแท้แน่นอนเฉกเช่นเดียวกับความตายและภาษี คือ ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเปรียบดั่งคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรที่มาเป็นระลอกอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง คลื่นพายุที่โดยเฉพาะในเวลานี้ มีอัตราเร่งสูงสุดกว่าที่เคยมีมา ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำที่แท้จริงย่อมยอมรับความเป็นไปของธรรมชาติและพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ
พวกเขาทำได้อย่างไร? ปัจจัยอะไรที่ประกอบกันเป็นฐานรากสำคัญให้ผู้นำเหล่านี้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ผ่านการทดสอบและพิสูจน์ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าจนขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเหนือกาลเวลาได้? วันนี้ผมขอพาพวกเรามารู้จักกับบันได 9 ขั้น สู่การเป็นผู้นำประสิทธิภาพสูง ที่ไม่ว่าคุณจะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมไหน บริษัทอะไร กระทั่งอายุเท่าไหร่ ก็สามารถฝึกฝนและพัฒนาความเป็นผู้นำของคุณผ่านคุณลักษณะอันเหนือกาลเวลานี้ได้อยู่เสมอ
1.รู้รอบด้าน (Be well-rounded)
แม้การเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับใครก็ตามที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในแขนงนั้น ๆ แต่ผู้นำเก่ง ๆ ยังเป็นคนที่ครบเครื่องในเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งความครบเครื่องในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นที่สุดในทุกด้าน แต่หากลองสังเกต พวกเขาเหล่านี้มักจะเก่งพอ ๆ หรือเหนือกว่าคนทั่วไปหากพูดถึงคุณสมบัติของผู้นำที่ดี เช่น การบริหารจัดการคน, การเงิน, ทักษะการขาย, มนุษย์สัมพันธ์, และอีกมากมาย จึงขอย้ำอีกครั้งว่าคุณไม่ต้องเป็นที่สุดในทุกด้านก็ได้ แต่เพื่อจะก้าวสู่การเป็นผู้นำที่ดี คุณควรเก่งใช้ได้ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากองค์ความรู้และทักษะเฉพาะทาง จนสามารถพูดได้ว่าคุณคือผู้รอบรู้สิบทิศ
2. นักสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวก (Be a positive influence)
หนึ่งในบทเรียนสำคัญของชีวิตที่มีคุณค่ายิ่งต่อโลกธุรกิจ คือ การพยายามคิดบวกอยู่เสมอ แน่นอนเราออกไปทำงานทุกวันและถูกโอบล้อมด้วยพลังงานลบรอบตัว แต่ผู้นำที่ดีมักเชื่อเสมอว่าเขาคิดและตอบสนองอย่างแตกต่างออกไปได้ คือแทนที่จะถูกพลังงานลบเหล่านั้นกลืนกิน กลับเลือกที่จะปล่อยพลังบวกเข้าสู้ อะไรที่ดูจะเป็นปัญหา บ่อยครั้งจึงถูกแทนที่ด้วยคำว่า “โอกาส” หรือ “ความท้าทาย” พลังงานเหล่านี้เปรียบเสมือนไวรัสที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับคุณร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะแพร่กระจายพลังงานบั่นทอนทั้งจิตใจตนเองและคนรอบตัว หรือแบบที่ทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเต็มไปด้วยความสนุกสนานและน่าอยู่
3. เก่งสื่อสาร (Improve your public speaking)
หากปราศจากซึ่งความมั่นใจที่จะพูดต่อหน้าคนหมู่มาก ก็ยากที่ผู้นำจะสามารถชักนำผู้คนให้คล้อยตามได้ อย่างไรก็ตาม ทักษะการพูดเป็นสิ่งที่ฝึกฝนให้เก่งกันได้ ไม่ว่าวันนี้คุณจะอยู่ในฐานะผู้นำคนแล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ขอให้นำพาตนเองออกไปหาโอกาสที่จะฝึกฝนและสร้างประสบการณ์การพูดในที่ชุมชนอยู่เสมอ ๆ บ่อยจนกระทั่งคุณไม่เหลือความประหม่าหรือตื่นเต้นอยู่อีกเลย
4. อ่อนน้อมถ่อมตน (Be humble)
เมื่อฟังสองข้อแรกจบแล้ว คุณอาจรู้สึกฮึกเหิมแล้วคล้อยตามเอาว่าการเป็นผู้นำที่ดีจะต้องพูดให้มาก พูดให้เก่ง ซึ่งแม้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร แต่ก็ไม่สามารถขาดสิ่งสำคัญในข้อสี่นี้ได้เลย นั่นคือ ความถ่อมตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำเก่ง ๆ ล้วนตระหนักเป็นอย่างดี พวกเขาเหล่านั้นอาจเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในห้องประชุมผู้ซึ่งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์โชกโชน แต่บ่อยครั้ง ด้วยความตระหนักถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาลนี้เอง ก็มักจะให้โอกาส รับฟัง และปล่อยให้ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็นอยู่เสมอ ๆ ซึ่งแม้จะขัดใจบ้าง ณ ชั่วขณะนั้นก็ตาม แต่ก็พร้อมจะเหยียบอีโก้ของตนให้มิดและปล่อยให้ผลลัพธ์ของการทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์
5. เป็นนักบริหารความสัมพันธ์ (Prioritize interpersonal skills)
ความสัมพันธ์ คือ กุญแจสู่ทุกความสำเร็จในธุรกิจ พูดอีกนัยหนึ่ง ข้อที่ห้านี้ก็คือเรื่องของคนนั่นเองซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับกิจการ ๆ งานใด ๆ ก็ตาม จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้นำที่จะต้องลงทุนในเวลาที่จะเข้าไปพัฒนาความสัมพันธ์กับทีม รับฟังและเคารพทุกความคิดเห็น และระมัดระวังการใช้คำพูดและการกระทำกับคนอื่นอยู่เสมอ จนพูดได้เต็มปากว่าลูกน้องเกรงใจเราไม่ใช่ตรงที่ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่เป็นวิธีการปฏิบัติที่เค้าได้รับจนทำให้เกิดความศรัทธาและเคารพอย่างแท้จริงนั่นเอง
6. พูดคำไหนคำนั้น (Commit to deadlines)
ในสมัยนี้ ไม่ว่าเราจะอยากมี work-life balance แค่ไหนก็ตาม แต่ในฐานะผู้นำ ก็มีบางครั้งที่ deadline ของงานถูกจัดให้สำคัญกว่าความยึดมั่นถือมั่นในสมดุลชีวิตที่เราอยากจะรักษามันไว้ หมายความว่าบางครั้งเราก็ต้อง go extra mile บ้างเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามที่ได้รับปากกับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าเอาไว้ อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือที่ผู้อื่นสามารถฝากความหวังและไว้ใจได้
7. ดูแลเอาใจใส่ตนเอง (Take care of you)
และแม้ว่ามันอาจจะมีบางครั้งที่คุณจะต้องเสียสละมากกว่าผู้อื่น แต่นั่นก็ไม่สำคัญมากไปกว่าการดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดีอยู่เสมอ หากต้องการที่จะยืนระยะการเป็นผู้นำให้ได้ยาว ๆ การหาวิธีการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณมีความคิดที่เฉียบคม ตลอดจนสามารถเผื่อแผ่พลังบวกให้แก่ผู้อื่นได้อยู่เสมอ ๆ
8. ไม่หยุดเรียนรู้ (Keep reskilling)
ผู้นำมักเชื่อเสมอว่าองค์ความรู้มีวันหมดอายุ ดังนั้น เส้นทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจึงเปรียบดั่งการวิ่งมาราธอนที่ต้องทำอย่างไม่หยุดไปตลอดชีวิตการทำงาน และอันที่จริงนี่เป็นเพียงทางเลือกเดียวที่จะทำให้คุณสามารถยืนระยะอยู่ในโลกธุรกิจได้
9. พึ่งพาตนเองได้ (Be self-sufficient)
เมื่อครั้งยังละอ่อนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ การมีหัวหน้าคอยควบคุมสอดส่องดูแลว่างานเรียบร้อยดีหรือไม่ถือเป็นเรื่องปกติที่และเข้าใจได้ ต่อเมื่อถึงจุดหนึ่งที่บทบาทเปลี่ยนจากพนักงานธรรมดา ๆ สู่การเป็นผู้นำ สิ่งหนึ่งที่ผู้นำจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ คือ ทักษะการพึ่งพาตัวเอง อันหมายถึงการทำงานสำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่ต้องมีใครมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชอีกต่อไป
***นักสร้างวัฒนธรรม
และข้อสุดท้ายถือเป็นข้อพิเศษสำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำเหนือกาลเวลาคือ “เป็นนักสร้างวัฒนธรรม”ผู้นำรู้ดีว่าหากเราไม่กำหนดวัฒนธรรมที่อยากเห็น ในท้ายที่สุดวัฒนธรรมในจุดนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้นอยู่ดี ฉะนั้น ผู้นำที่เก่งจะรู้เป้าหมายของตัวเองชัดเจนว่า “วัฒนธรรมแบบไหนที่เขาอยากให้เกิดขึ้นในจุดนั้นๆ พฤติกรรมแบบไหนที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
และทั้งหมดนี้ก็คือบันไดเก้าขั้น (+ขั้นพิเศษอีก 1 ขั้น) ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำเหนือกาลเวลา ว่าด้วยคุณสมบัติที่หากคุณมีครบทุกข้อแล้วล่ะก็ ไม่ว่าคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงจะรุนแรงสักแค่ไหน คุณก็จะยังสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสลมอย่างแน่นอน
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
Corporate culture
Organizational culture
.
.