ย้อนกลับไปวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นวิกฤตของโลกล่าสุดที่กระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งโลก โดยการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ในสมัยนั้นอย่าง Booz & Company (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ PWC) ได้ทำการสำรวจผู้จัดการอาวุโสมากกว่า 800 คนในปี 2008 ปีที่เหตุการณ์ได้เกิดสดๆร้อนๆและเริ่มส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ผลจากการศึกษาพบว่ามีผู้จัดการเกือบ 50% ที่ไม่แน่ใจในความสามารถของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรของตัวเองว่าจะพาองค์กรฝ่าวิกฤตและสามารถฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม
.
.
และนี่เป็นเหตุให้เกิดภาพที่เหล่าผู้จัดการต้องออกมาทำงานเกินขอบเขตของตัวเองเพื่อจะไปทำงานบางส่วนแทนผู้บริหารของตนเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้แม้หลายๆ คนยังไม่มีความพร้อม การบริหารงานจึงไม่ใช่เพียงการบริหารทีมงานของเราเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการบริหารจากล่างขึ้นบน (Managing Up) ซึ่งหากทำได้ดี ผู้จัดการท่านนั้นก็น่าจะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่จะขยับขึ้นป็นผู้บริหาร โดยหนังม้วนเดียวกันนี้อาจจะเกิดซ้ำอีกหลังกระแสน้ำ Covid-19 เริ่มลดระดับลงและตอของปัญหาเริ่มผุดขึ้นมา และหากเหล่าพนักงานหรือผู้จัดการได้ทำงานแบบบริหารจากล่างขึ้นบนได้อย่างดี ก็น่าจะเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตที่มองเห็นได้ หลัก 6 ประการนี้ถูกสรุปมาจากหนังสือและหลายบทความหลายชิ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อให้ท่านนำไปลองปรับใช้ดู
.
.
เสริมจุดแข็งปิดจุดอ่อน
ถ้าเราทราบว่าจุดแข็งของเจ้านายคืออะไร ก็ต้องมีส่วนให้ได้ใช้จุดแข็งในงานบ่อยๆ เช่น เข้าไปปรึกษางานและเชื่อมโยงเข้าหาจุดแข็งนั้นมากๆ โดยไม่ลืมที่จะใหเครดิตเจ้านายเสมอ แต่ในทางกลับกัน หากเราเห็นจุดอ่อนบางด้าน ก็ไม่ควรไปฉวยโอกาสหรือทำให้รู้สึกเสียหน้า แต่ควรเสนอตัวเข้าไปปิดจุดอ่อนนั้นเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดี
.
.
เข้าใจสไตล์การทำงาน
เจ้านายมีหลายแบบ บางคนชอบลงรายละเอียดบางคนชอบแบบภาพรวม บางคนชอบเจอกัน บางคนก็ชอบแนวสรุปเป็นเรื่องราว บางคนชอบความเป็นส่วนตัว หลายคนก็เป็นแนวให้อยู่ใกล้ติดตัว หาสไตล์การทำงานของเจ้านายให้เจอและเสนอที่จะปรับตัวให้เข้ากับสไตล์นั้น แม้มันจะฝืนความเป็นตัวเราไปสักหน่อยก็ตาม
.
.
รู้ว่าอะไรคือเรื่องสำคัญ
สิ่งที่เราให้ความสำคัญกับของเจ้านายอาจมีหลายอย่างที่ต่างกัน หากหาไม่เจอให้ลองสืบดูว่าตัวชี้วัดของนายหรือสิ่งที่นายของเจ้านายประเมินคืออะไรบ้าง แล้วอย่าทำตัวเป็นอุปสรรคต่อสิ่งนั้น เช่น นายบางคนถูกวัดด้วยการลดค่าใช้จ่าย เราก็ควรทำให้นายเห็นเราพยายามประหยัดและลดความสิ้นเปลื้องทุกอย่าง นายถูกวัดด้วยยอดขายโดยรวม ก็อย่ามัวแต่สนใจแต่ยอดขายส่วนตัวของเรา แต่ควรมีส่วนทำให้ภาพรวมดีขึ้นด้วย
.
.
ผูกสัมพันธ์แบบจริงใจ
อย่ามองข้ามมิติของความสัมพันธ์เป็นอันขาด หากเราจะมีสักคนที่ราควรมีความสัมพันธ์อย่างดีในแผนก คนๆนั้นควรเป็นเจ้านายของเรา หมั่นสอบถามสารทุกข์ดิบ สังเกตุเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ชอบหรือไม่ชอบ หรือไปทานอาหารกลางวันด้วยบ้าง อย่ากลัวการถูกมองว่าประจบประแจงมากเกินไปจนต้องพลาดสัมพันธ์ที่ดี
.
.
อย่าปฏิเสธไว้ก่อน
ไม่มีเจ้านายคนไหนชอบความผิดหวัง ควรเก็บคำปฏิเสธไว้ในลิ้นชักและใส่กุญแจ แม้บางครั้งนายของเราอาจไม่รู้ว่าเรามีอะไรต้องทำอยู่แล้วมากมายและกำลังจะมอบหมายงานเพิ่ม ก็ให้มองเป็นข้อดีว่าเราเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจ แต่เราสามารถให้นายเห็นว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่บ้าง และหากมีงานล้นมือ ก็ขอความเห็นเรื่องการขยับลำดับความสำคัญของงานแต่ละงานแทนโดยให้นายเป็นคนตัดสินใจ
.
.
และท้ายที่สุดคือ พนักงานต้องเข้าใจและบริหารความคาดหวัง เพราะการที่เราจะทำงานให้เข้าตา สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ เจ้านายมีความคาดหวังต่อเราหรือสิ่งที่เราทำอย่างไร หากเจ้านายไม่เคยเอ่ยออกมาชัดๆ เราควรหาทางสรุปเป็นลายลักษณ์อักษรและไปทบทวนกับนายว่าเราเข้าใจถูกหรือไม่ อย่าปล่อยให้การทำงานร่วมกันเดินไปข้างหน้าโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำเข้าตาหรือไม่ และเมื่อรู้ความคาดหวังนั้นแล้วก็ต้องพยายามสุดความสามารถที่จะไปให้ถึงหรือเกินไปกว่านั้น
.
.
A Cup Of Culture
.
.
แหล่งที่มาของบทความ
- หนังสือ Lead Your Boss ของ John Baldoni
- 20 Minute Manager จาก Harvard Business Review
- https://www.wsj.com/articles/the-right-and-wrong-way-to-manage-up-at-the-office-1523366792
- https://blog.penelopetrunk.com/2006/11/03/7-ways-to-manage-up/