หลายประเทศเริ่มที่จะกลับคืนสู่ชีวิตการทำงานปกติแล้ว และหวังว่าจะทิ้งชีวิตแบบ New Normal ไว้ข้างหลัง แต่คำว่า New Normal มันขลังกว่าที่คิด เพราะตอนนี้หลาย ๆ องค์กรก็ต้องเจอกับปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในโค้งสุดท้ายของวิกฤติที่ชื่อว่า “The Great Resignation” หรือการลาออกยกใหญ่นั่นเอง
แม้เราจะมีข่าวดีจากต่างประเทศในด้านสถานการณ์โดยภาพรวม แต่ในบริบทของการทำงานผลกระทบของมันเรียกได้ว่ายังเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในมิติของคนทำงานที่ Burnout กันมาอย่างเรื้อรัง ทั้งด้วยวิถีการทำงานแบบใหม่ และอีกหลายสิ่งที่ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบสองปี
นั่นทำให้เมื่อตอนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Texas A&M ที่ชื่อว่า Anthony Klots ได้ออกมาเตือนผ่าน Bloomberg ว่าบริษัทต้องเตรียมตัวรับมือกับการลาออกยกใหญ่ได้เลย เพราะนี่ใกล้ถึงจุดลิมิตที่พนักงานจะสามารถทนกับการทำงานแบบใหม่ได้แล้ว และตัดปัญหาด้วยการลาออก โดย Klots เขาได้ให้สาเหตุที่หลาย ๆ ประการ เช่น การที่ต้องทำงานติดกันมากขึ้นในแต่ละวัน ความเครียดจากการที่ต้องทำงานที่บ้าน ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตในการกลับมาทำงาน รวมไปถึงความเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนรวม ๆ กันแล้วก็กลายเป็นความ Burnout ที่สะสมมานานเกือบสองปี
และในเดือนมิถุนายน รายงานจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาก็ยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ด้วยตัวเลขของเดือนมิถุนายนว่ามีคนลาออกจากงานถึง 4 ล้านคน สอดคล้องกับอีกแหล่งคือ Microsoft Worktrend ที่ก็ยืนยันการคาดการณ์นี้ด้วยผลสำรวจที่พบว่า 41% กำลังเตรียมเปลี่ยนงานในตอนนี้เลย ซึ่งก่อนหน้านี้คุณบอล สุรัตน์ได้เคยพูดถึงสาเหตุอย่างละเอียด รวมไปถึงข้อค้นพบอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก Microsoft กันไปแล้ว ท่านใดสนใจสามารถไปฟังกันได้ใน Podcast A Cup of Culture แก้วที่ 224 ที่ผ่านมา แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่ทำให้บางองค์กรได้รับผลกระทบนี้น้อยกว่าที่อื่น และนั่นก็คือวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง
========================
โดยด้านล่างคือตัวอย่างของงานด้านวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยลดผลกระทบจาก The Great Resignation ได้
📌 วัฒนธรรมที่เอื้อ Collaboration
องค์กรที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของพนักงานโดยเฉพาะในระหว่างช่วง Hybrid Work ได้ดีส่งผลให้อัตราการลาออกลดลง โดยการอาศัยเครื่องมือการสื่อสารเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญจริง ๆ คือการสร้างการมีส่วนร่วมให้พวกเขาได้ใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อสื่อสาร เพื่อถามไถ่กันและกันมากกว่าแค่การเปิดห้อง Slack
• ส่งเสริมเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน
• การเข้าใจความหลากหลายของคนในทีม
• การรู้จักประนีประนอมเพื่อบรรลุเป้าหมายของทีม
• การมีส่วนร่วม การเรียนรู้จากความผิดพลาด
📌 วัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นกับการประชุม
แม้ในช่วงก่อนหน้าเราจะประชุมกันได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ในช่วงนี้วัฒนธรรมการประชุมแบบเดิมไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะงานวิจัยพบว่า Video Call นั้นสร้างความเหนื่อยล้าได้มากกว่าการประชุมปกติมาก ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นกับการประชุม เช่น เลี่ยงการประชุมที่ไม่จำเป็น ลดเวลาการประชุม และยืดหยุ่นกับความพร้อมในการเปิดกล้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
📌 วัฒนธรรมที่รักษา Work-life Balance
สมดุลย์เป็นคำที่เรียกได้ว่าโดนโยนทิ้งลงแม่น้ำไปแล้วในช่วง Remote-work แต่องค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานได้เริ่มต้นทำงานไปพร้อม ๆ กัน และโฟกัสกับงานเต็มที่และเลิกทำงานในเวลาเดียวกันได้อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นองค์กรที่สมควรได้รับความชื่นชมอย่างมาก เพราะนี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พนักงานในองค์กรเหล่านี้ได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น และผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น
📌 วัฒนธรรมองค์กรที่ไว้ใจกัน
ที่ผ่านมาเราเห็นเครื่องมือหลาย ๆ ชิ้นที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ติดตามการทำงานของพนักงานในช่วง Remote-work และเครื่องมือเหล่านี้เป็นตัวช่วยที่ดีมาก ๆ ในการทำให้พนักงานเรา Burnout เพราะความไว้วางใจสำคัญอย่างมากต่อกำลังใจการทำงานในช่วงนี้ วัฒนธรรมที่ให้อิสระกับพนักงานในการจัดการงานของตัวเองได้ และวัดผลผ่านความสำเร็จ จะช่วยให้องค์กรได้ผลลัพท์ที่ดีกว่าการสอดส่องดูวิธีการ และเวลาที่พนักงานใช้
=======================
ปรากฏการณ์ The Great Resignation นี้กำลังเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในโค้งสุดท้ายของวิกฤติ แต่ข่าวดี และข่าวร้ายคือเรายังไม่ใกล้จะพ้นวิกฤติ นั่นแปลว่าองค์กรในไทยยังมีเวลาสำหรับการป้องกันปรากฏการณ์นี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับองค์กรเรา ผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่ช่วยให้พนักงานดูแลตัวเองได้ดีขึ้น
A Cup of Culture
———–
วัฒนธรรมองค์กร
corporate culture
organizational culture
.
.
>>>
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://www.microsoft.com/en-us/worklab/work-trend-index/hybrid-work
https://www.bls.gov/news.release/pdf/jolts.pdf
.
.
>>>