ต้นกำเนิดวัฒนธรรมองค์กร
A Cup of Culture ขอพาย้อนกลับไปสู่ช่วงก่อนที่ทุกคนจะรู้จัก บริษัท Apple Inc. บริษัท Google Inc. หรือ Tech Company ชั้นนำต่าง ๆ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรเจ๋ง ๆ สวัสดิการดี ๆ หรือบรรยากาศการทำงานสุดคูลอย่างในปัจจุบัน
.
มี Tech Company ที่หนึ่ง ที่ถือว่าอยู่แนวหน้าของโลกมาอย่างยาวนาน และเป็นคนเริ่มต้นเรื่องราวเหล่านี้ก่อนใครเลย นั้นคือ บริษัท IBM หรือชื่อเล่นว่า Big Blue (ยักษ์สีฟ้า)
.
ปัจจุบันนี้ บริษัท IBM มีอายุรวมได้ 108 ปีแล้ว หนังสือ The Maverick and His Machine: Thomas Watson, Sr. and the Making of IBM ได้พูดถึงประวัติการก่อตั้งบริษัท IBM ไว้อย่างน่าสนใจและชวนให้น่าติดตามหลายประเด็น เราขอเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า….
ทำไมบริษัท IBM ถึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า Corporate Culture?
การจะพูดคุยประเด็นนี้ได้อย่างเข้มข้น ก็ต้องเริ่มต้นที่ผู้ก่อตั้งบริษัท IBM กันก่อน นั้นคือ โธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์
.
จุดเริ่มต้นเรื่องราวเหล่านี้ เกิดในวันประชุมกลุ่มพนักงานขายของบริษัท โธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์ ได้นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ และเขาสังเกตว่า ตัวเขาเองได้พูดคำว่า Think ในที่ประชุมอยู่บ่อยครั้ง และเขาก็รู้สึกว่าคำว่า Think นั้นให้ความรู้สึกที่ดีต่อเขาเป็นอย่างมาก และมันจะดีแค่ไหนหากเขาติดป้ายคำว่า Think ไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่พนักงานมองเห็น เพื่อกระตุ้นให้พนักงานคิด โดยเฉพาะการคิดรอบด้านอันจะลดปัญหาที่อาจตามมาจากความประมาทได้
.
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้เขาตกผลึกความเชื่อบางอย่าง เขาใช้เวลาไม่นานนัก IBM basic beliefs ทั้ง 3 ข้อ ก็ถูกปล่อยออกมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานใช้เป็นแนวทางประกอบการทำงาน การตัดสินใจ และใช้เป็นหลักคิดพื้นฐานของ IBM ด้วย นั่นคือ
- Respect for the individual
- Best customer service in the world
- Excellence
เขาได้ประทับความเชื่อ เจตคติ และค่านิยม ทั้งสามนี้เข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ขององค์กร ซึ่งทั้งสามข้อนี้ล้วนสะท้อนถึงตัวตนของ โธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์ ได้อย่างชัดเจน
.
.
…..
“Respect for the individual” ประโยคนี้สะท้อนความเป็นตัวตนของโธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์ ในเรื่องของการที่เขาเป็นคนที่เคารพในตัวบุคคล เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ให้เกียรติผู้อื่น ซึ่งประโยคนี้นำพาไปสู่การออกนโยบายของบริษัทต่าง ๆ เช่น
- นโยบาย The Open-door policy คือ นโยบายที่ให้พนักงานมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการขอเข้าพบผู้จัดการและขอคำปรึกษาในปัญหาต่าง ๆ ได้ทุกช่วงเวลาและหากพนักงานไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างดี พนักงานสามารถที่จะขอขึ้นพบผู้บริหารในระดับที่สูงกว่าได้ และผู้บริหารก็มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการปัญหาในทางใดทางหนึ่ง
- นโยบาย Speak Up คือ นโยบายที่ให้พนักงานมีสิทธิ์เขียนข้อความแสดงความรู้สึก หรือเขียนแสดงความคิดเห็นถึงการทำงานของผู้บริหาร
- หรืออีกนโยบายหนึ่งที่ทำให้ IBM เป็นที่รู้จักคือ นโยบาย No Layoffs คือ ไม่มีนโยบายปลดพนักงาน เพราะทุกคนคือ Lifetime Employment
.
.
…..
“Customer service” โธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์ ได้ฝังประโยคนี้ลงไปในใจของพนักงานทุกคน “To give the best customer service of any company in the world” ทำให้พนักงานทุกคนของ IBM กระตือรืนร้นที่จะบริการลูกค้าให้ดีที่สุด
.
.
…..
“Excellence” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ดีเลิศเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง “การตั้งเป้าอย่างดีเลิศ” ส่วนการไปถึงหรือไม่ถึงนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ดีกว่าไปตั้งเป้าง่ายๆ แล้วไปถึงอย่างง่ายดาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะวิธีคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ของโธมัส เจ. วัตสัน ซีเนียร์เป็นอย่างมาก
.
.
…..
เราจะเห็นได้ว่าจุดกำเนิดวัฒนธรรมองค์กรของ IBM มาจากการถอดตัวต้นและความเชื่อของผู้ก่อตั้งออกมา แล้วส่งต่อไปยังทุกคนในองค์กร ซึ่ง Basic Beliefs ทั้งสามข้อนำพา IBM มาถึงความยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมาอีกหลายสิบปี ทำให้อีกหลายบริษัททั้งในและนอกวงการไอที ทำการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรของตนเองขึ้นมาบาง
แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะประสบความสำเร็จเหมือน IBM เพราะหลายๆแห่งไม่ได้เอาจริงเอาจังกับมัน
.
แต่ในท้ายที่สุด เมื่อเราปีนถึงจุดสูงสุดของยอดเขาแล้ว ก็ถึงเวลาต้องลง บริษัท IBM ก็ไม่ต่างกัน เมื่อวันที่วัฒนธรรมองค์กรเดินทางมาถึงวันหมดอายุ IBM จะทำอย่างไรต่อไป? ท้ายสุดนี้… “ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขึ้นอยู่ดี ทำไมเราไม่มาสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่เราอย่างเห็นกันละ”
.
…….A Cup of Culture